สุภาษิตหรือวรรณกรรมคำสอน
วรรณกรรมคำสอนนี้จุดประสงค์สอนประชนชนในด้าน จริยธรรม ความประพฤติตลอดถึงการดำเนินชีวิตในสังคม ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการสอนศีลธรรมนั่นเอง ต่างแต่ว่าในภาคอีสานนั้น กวีมีกุศโลบายที่ดี ได้นำคำสอนเหล่านั้นมาร้อยกรอง เพื่อให้กะทัดรัด สะดวกต่อการจดจำหรือผูกเป็นเรื่องๆไป วรรณกรรมคำสอนเหล่านี้บ้างครั้งพระสงฆ์ก็นำมาเทศน์บ้างเพราะมีผญาภาษิตหรือบ้างคราวก็นำไปอ่านในงานชุมนุมเป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของวรรณกรรมคำสอน มีลักษณะเหมือนกับโคลงโลกนิติ สุภาษิตสอนหญิงของภาคกลาง จำนวนภาษิตของวรรณกรรมคำสอนเหล่านี้จะอยู่ในความทรงจำของชาวอีสานอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุเกือบทุกคนจะทราบว่าวรรณกรรมคำสอนมีเรื่องอะไรบ้าง นอกจากนี้แล้วหมอลำมักจะหยิบยกเอามาลำสลับกันไปกับลำอื่นๆ เช่น เมื่อลำเรื่องพื้นนานๆเข้าผู้ฟังไม่ค่อยสนใจ หมอลำก็จะเปลี่ยนเป็นลำผญาบ้าง ลำโจทย์บ้าง (หมอลำกลอนลำถามกัน) ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้ชาวอีสานมีความใกล้ชิดกับวรรณกรรมประเภทคำสอนมากยิ่งขึ้นไป วรรณกรรมคำสอนเหล่านี้นั้นมีอิทธิพลต่อแนวความเชื่อของคนอีสานตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน ก็ยังนิยมนำมาสอนลูกหลานอยู่เสมอมา ดังนั้นวรรณกรรมส่วนนี้จะเป็นดังแสงประทีปที่ส่องแสงสว่างให้ชาวอีสานตลอดมา เป็นคำสอนในเชิงศิลธรรมที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์มากที่สุดอย่างเช่นอย่าทำชั่ว ให้พากันทำดี อย่าเบียนเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน และยังมีลักษณะเป็นแนวทางในเชิงห้ามปรามเอาไว้ ชาวอีสานทราบดีในคำว่า “ขะลำ”หมายถึงสิ่งอันเป็นอัปมงคล ทำมาหากินไม่เจริญรุ่งเรืองหรือเป็นไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสมกับเพศหรือวัยของคนนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะสั่งห้ามเข้าไว้ว่ามันขะลำนะอย่าทำนะลูกหลานมันขวง(คือเป็นเสนียด จัญไร ฉิบหาย) ดังนั้นจึงทำให้วรรณกรรมในฝ่ายคำสอนยังได้รับความนิยมตลอดมา
วรรณกรรมคำสอนในภาคอีสานนี้มีอิทธิพลอย่างมากและไม่น้อยไปกว่าวรรณกรรมทางพุทธศาสนาและชาวบ้านจะเชื่อฟังคำสอนในวรรณกรรมเหล่านี้เป็นประดุจดังกฏหมายของบ้านเมือง จึงปรากฏว่าสภาพสังคมในชนบทของอีสานนั้นอยู่กันอย่างสันติสุขแบบพึงพากันเองช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีงานสิ่งใดที่จะต้องช่วยกันก็จะขอแรงกันมาช่วยเหล่านี้เป็นกิจนิสัยของชาวชนบทอีสานอย่างแท้จริง เพราะอิทธิพลในด้านคำสอนจึงไม่ค่อยเห็นผู้ใดทำผิดจารีตประเพณีเลยเพราะเกรงจะผิดผีบ้างมันขะลำบ้างมันจะขวงบ้าง ซึ่งปรากฏการอันนี้เกิดจาอิทธิพลของวรรณกรรมคำสอนด้วยส่วนหนึ่งและจารีตประเพณีก็มีส่วนสนับสนุนส่งเสริมด้วยเป็นสองแรงช่วยผลักดันให้คนอีสานมีน้ำอดน้ำทนมีน้ำจิตน้ำใจต่อเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมประเทศเสมอมาไม่เคยทำให้คนอื่นเดือนร้อยก่อนเลย
วรรณคำสอนกับธรรมชาติของมนุษย์
ธรรมชาติของคนมีทั้งดีและเลวปะปนกันอยู่ วรรณกรรมคำสอนของอีสานเน้นให้เห็นชัดว่า เนื้อแท้โดยธรรมชาติของมนุษย์เรานั้นดีบริสุทธิ์มาแต่กำเนิดแต่สิ่งแวดล้อมทำให้มนุษย์ต้องเลวได้เพราะการหลงผิด ดังนั้นวรรณกรรมคำสอนจึงเป็นเหมือนเชือกที่คอยชักจูงไม่ให้คนอีสานหลงเดินทางชั่วเพราะวรรณกรรมส่วนนี้นั้นจะสอนในทางจริยธรรมข้อควรประพฤติของคนเราและสังคมด้วย จึงเน้นหนักไปทางจารีต(ฮีต) และคองเพื่อคอยเตือนพี่น้องชาวอีสานไม่ให้หลงผิดเป็นชอบ ด้วยอำนาจของเจ้าอวิชชา ตัณหา และกิเลสเข้าครอบงำซึ่งจะสอนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้นวรรณของสังคมไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ซึ่งคำสอนจะบ่งชี้ในด้านจริยธรรมของนักปกครองที่ดีเอาไว้ ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์จะสอนในเรื่องฮีตพระครองสงฆ์ไว้เหมือนกับวินัยแต่จะเน้นในด้านหน้าที่ควรทำของนักบวช ไม่ค่อยมีสอนมากนักเพราะท่านมีวินัยทางพระอยู่แล้ว แต่สำหรับฆราวาสแล้วมีมากมายดังจะนำมากล่าวไว้ในที่นี้ ๕ ลักษณะ คือ
วรรณกรรมคำสอนระหว่างสามี+ภรรยา ลูก+หลาน+เครือญาติ
โดยเน้นไปในทางความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างคนในครอบครัวและกำหนดหน้าที่ของคนเหล่านี้เอาไว้ด้วย คือทุกฝ่ายต่างมีหน้าที่ของใครของมันอย่างเด่นชัด ดังจะเห็นได้จากวรรณกรรมเรื่อง ธรรมดาสอนโลก, ท้าวคำสอน , สันทนยอดคำสอน พระยาคำกองสอนไพร่ วรรณกรรมเหล่านี้จะเน้นความสัมพันธ์ของคนในสังคมได้ดี และสอนหน้าที่ของสามและภรรยาไว้อย่างมากมาย เพราะสังคมที่จะดีมาได้นั้นต้องมาจากครอบครัวที่ดีและสมบูรณ์เพราะเป็นสังคมระดับเล็กที่สุด เช่นหน้าของภรรยาที่พึงปฏิบัติต่อสามีมีอย่างไร สามีพึงมีข้อปฏิบัติอย่างไรกับภรรยาตนเอง ลูกมีหน้าที่อย่างไรกับพ่อแม่ หลานๆมีหน้าที่อย่างไรกับคุณปู่คุณย่า จึงมีวรรณกรรมประเภทหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า “ปู่สอนหลาน ย่าสอนหลานเป็นต้อน เพราะหน้าที่อันนี้เป็นของปู่ยาตายายอยู่แล้วที่จะปลูกฝังศีลธรรมให้แก่ลูกหลาน ให้รู้จักบาป บุญ และอื่นๆอีกมากมายที่ย่าจะพึ่งสั่งสอน
วรรณกรรมคำสอนกับผู้ปกครอง-และผู้อยู่ใต้ปกครอง
วรรณกรรมส่วนนี้ได้เสนอแนวการสอนให้มีเมตตากรุณาต่อผู้น้อย(บ่าวไพร่)ไว้อย่างชัดเจนเพราะจะไม่ทำให้เกิดความเดือนร้อนทั้งสองฝ่ายคือไม่ให้มีอคติสี่ประการในการเป็นผู้นำและผู้ใต้ปกครองก็จะเป็นคนมีคุณธรรม คือผู้ปกครองจะเป็นใหญ่ได้ก็เพราะมีผู้ใต้ปกครองดี ดังจะเห็นได้จาก “ครองสิบสี่” ของชาวอีสานที่ยึดถือกันมาแต่บรรพบุรุษ นอกจากนั้นยังได้กล่าวสอนในเรื่องการบรรเทาทุกข์ของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเช่นมีการสงเคราะห์กัน อนุเคราะห์กันและกันเมื่อคนอื่นมีความเดือนร้อน เรียกว่าการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน พร้อมทั้งมีความฉลาดในการเลือกผู้ที่จะมาเป็นขุนนางด้วย หรือเลือกท้าวพระยามหาอำมาตย์ ตลอดจนทูตานุทูต และเน้นในเรื่องจริยธรรมของปวงประชาราษฎรเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง จะมีปรากฏในวรรณกรรมเรื่องพระยาคำกองสอนไพร่เป็นต้น
วรรณกรรมคำสอนกับสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ
วรรณกรรมประเภทคำสอนนี้มุ่งที่จะสอนสตรีมากกว่าบุรุษ และกำหนดหน้าที่ของสตรีเข้าไว้มากกว่าของบุรุษ อาจจะเป็นเพราะในอดีตนั้นสตรีอยู่กับเย้าเฝ้ากับเรื่อนจึงมักจะสอนให้รู้จักหน้าที่ของหญิง เพราะผู้หญิงเป็นมารดาของโลกก็ว่าได้ เมื่อมารดาดีลูกก็ดี ดังนั้นวรรณกรรมคำสอนจึงเห็นว่าสอนสตรีไว้หลายแง่มากมายเริ่มจากรู้จักทอผ้า เป็นต้น และวรรณกรรมที่ม่งสอนก็มีเรื่อง ท้าวคำสอน จะเน้นไปในลักษณะสตรีแบบไหนควรเลือกมาเป็นภรรยา มีทั้งหมด ๔๐ กว่าลักษณะคล้ายกับเป็นการดูนรลักษณ์ผู้หญิงอันแฝงไปด้วยภูมิปัญญาของผู้แต่งได้เป็นอย่างมากที่รู้ลักษณะผู้หญิงที่ละเอียดคล้ายกับเรื่องมายาของหญิงที่ปรากฏในพุทธศาสนา ๔๐ประการ และมีเรื่องอินทิญาณสอนลูก(สอนหญิง) ธรรมดาสอนโลก สิริจันโทยอดคำสอน ย่าสอนหลานเป็นต้น
วรรณกรรมกับผู้ใหญ่+ผู้น้อย
วรรณกรรมประเภทคำสอนนี้มุ่งที่จะสั่งสอนเด็กให้เห็นความสำคัญของความกตัญญูรู้คุณผู้มีบุพการีของตนเอง อาทิเช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา และยาย เมื่อท่านดำรงชีวิตอยู่ให้ตระหนักถึงพระคุณของท่านเหล่านี้ และดูแลท่านเมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย และเมื่อเวลาท่านละจากโลกไปแล้วทำบุญอุทิศส่งไปให้ท่าน นอกจากนั้นยังสองให้รู้จักความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้หลักผู้ใหญ่ให้มีสัมมาคารวะเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน วิธีที่ทำคือจะพรรณนาถึงคุณที่ท่านได้อุตสาห์เลี้ยงดูลูกหลานมาเรียกว่าพระคุณของพ่อแม่ วรรณกรรมในเรืองนี้คือ ปู่สอนหลาน ย่าสอนหลาน อินทิญาณสอนลูก และวรรณกรรมคำสอนในเรื่องอื่นๆที่ปรากฏในวรรณกรรมนิทานบ้าง เป็นต้น
วรรณกรรมคำสอนในด้านธรรมชาติ
เป็นการสอนถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเน้นหนักในเรื่องที่มนุษย์เราจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และมีความเหมาะสมพอดีกันระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ โดยสั่งสอนให้มนุษย์เคารพยำเกรงธรรมชาติ อันได้แก่วิญญาณต่างๆที่สิ่งสถิตอยู่ในธรรมชาติที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ อาจจะบันดาลให้คุณหรือโทษวรรณกรรมคำสอนจึงสอนให้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้อย่างละเอียด ดังมีกล่าวไว้ในเรื่อง ธรรมดาสอนโลก เน้นการนำไม้อย่างไรมาปลูกบ้านจึงจะเหมาะสมหรือเป็นมงคล บอกถึงการแสวงหาต้นไม้มาทำเป็นเสาเอกเสาโทของบ้าน และบอกว่าไม้อย่างไรไม่ควรนำมาใช้สร้างบ้านโดยอ้างว่า มันขะลำหรือเข็ดขวงเป็นการห้ามเอาไว้ของคนโบราณเพราะอาจมองเห็นว่าไม้บ้างอย่างนำมาทำแล้วอาจจะทำให้บ้านไม่มั่นคงถาวร หรือเกิดการบิดงอได้ง่ายเพราะไม้มีความอ่อนนั้นเองจะทำให้ไม่ทนแดดทนฝน โบราณจึงนำเอาคำว่าขะลำมาห้ามเอาไว้คนเราจึงจะเชื้อ เพราะสอนให้เห็นว่าอาจจะมีเทวดาสิงสถิตย์อยู่บ้างหรือในบริเวณดอนปู่ตาเป็นต้น เพราะชาวอีสานเคารพยำเกรงในเรื่องเหล่านี้มากทีเดียว
วรรณกรรมคำสอนกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
โดยสอนเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกันในลักษณะเป็นการสามัคคีกันช่วยเหลือกันและกันในด้านต่างๆของสังคมเช่น การขอแรงกันสร้างบ้าน, เกี้ยวข้าว ,และอื่นๆอาทิในด้านพิธีกรรมในสังคมที่คนเราจะต้องร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกัน โดยมีวรรณกรรมคำสอนเป็นแก่นกลางในการผสานความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ ให้มีแนวความคิดไปในทางเดียวกันง่ายทั้งการปกครองและการสั่งสอนด้วย เช่น งานแต่ง งานเลี้ยงผีปู่ตา ผีตาแฮก และพิธีของฝนด้วยการแห่นางแมว แห่บั้งไฟ และการไหว้ผีมเหสักข์หลักเมืองสิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่คนจะต้องร่วมแรงกันทำไม่ว่าผู้ปกครองหรือพระสงฆ์และชาวบ้านได้ร่วมกันทำขึ้น วรรณกรรมคำสอนในด้านนี้มักจะเป็นฮีตสิบสองคลองสิบสี่เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดีวรรณกรรมคำสอนของชาวอีสานยังเน้นในความผูกพันธ์ระหว่างพี่น้องลุง ป้า นา อา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมุ่งที่จะสอนให้มนุษย์รู้จักแบ่งปันความสุขกัน และรู้จักให้ทานแก่คนยากจนอนาถาตามแนวพุทธปรัชญาและคตินิยมในทางพระพุทธศาสนาด้วย69
สรุปลักษณะของการเกิดสุภาษิตอีสาน
สุภาษิตอีสานนั้นมีสายธารของการเกิดขึ้นจากหลายกระแสด้วยกัน ทั้งที่เกิดจากพระพุทธศาสนาโดยตรงก็มีอยู่มากมาย โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากพระศาสนาเป็นหลักจะมีทั้งทางพิธีกรรม ทางคำสอนชาดกต่างๆนำมาแต่งเป็นนิทานชาดก เพื่อปลูกฝังศรัทธาต่อชาวอีสานให้ยึดถือปฏิบัติกัน และสายธารที่สองนั้นเกิดจากชาวบ้านเองเป็นผู้คิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองในด้านความบันเทิงบ้าง ในงานพิธีต่างๆบ้างเช่นงานบุญ งานเกี้ยวข้าว ฯลฯ สุภาษิตอีสานโดยภาพรวมจึงเกิดมาจากวรรณคดีทั้งทางศาสนาและประเพณีวัฒธรรมของชาวอีสานเป็นส่วนใหญ่ เพราะวรรณกรรมต่างๆมีเอกลักษณ์เฉพาะตน คือใช้วรรณกรรมคำสอนทั้งสองสายเป็นสื่อในการสั่งสอนจริยธรรมตลอดถึงวิถีดำเนินชีวิต ตามความเชื่อและมีการตัดสินความดีความชั่วในสังคมด้วย ดังนั้นสุภาษิตอันเกิดจากวรรณกรรมคำสอนทั้งสองสายจึงเป็นภาพสะท้อนถึงชีวิตคนและสังคมชาวอีสานได้เป็นอย่างดี
สมปอง จันทคง ให้เหตุผลว่าสุภาษิตนั้นเกิดจากเหตุการณ์เหล่านี้คือ เกิดจากวัดและบ้านคือเป็นสถาบันที่ให้การสร้างสรรค์วรรณกรรมท้องถิ่น ในสังคมชาวบ้านนั้น วัดจะมีบทบาทอย่างมากในการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ความเชื่อในอานิสงส์ของการเขียนหนังสือถวายวัด การทำหอพระไตรปิฏกหรือตู้พระธรรมอันเป็นแหล่งเก็บรวบรวมวรรณกรรมลายลักษณ์ในรูปของหนังสือข่อยหรือในใบลานเป็นต้น พิธีกรรมในพุทธศาสนาก็มีอิทธิพลต่อการถ่ายทอดวรรณกรรม การจดจำบอกเล่ากล่าวสอนกันต่อๆมา โดยเฉพาะผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วก็จะเป็นผู้นำของกลุ่มชนในหมู่บ้าน ในการทำพิธีต่างๆ ในการอ่านหนังสื่อผูก หรือสอนวิธีการแต่งบทร้อยกรอง เป็นต้น137 ผู้อ่านหนังสือผูกได้ ส่วนมากจะเป็นผู้ที่เคยบวชเรียนมานาน มักเป็นบุคคลที่ชาวอีสานเรียกชื่อมีคำนำหน้าว่า “จารย์หรือจารย์ครู” หมายถึงบุคคลที่เมื่อครั้งครองสมณเพศได้ถูกชาวบ้านถวายน้ำสรงยกย่องให้เป็น “ญาซา” หรือ “ญาครู” ชาวอีสานเรียกพิธีสถาปนาพระสงฆ์ลักษณะนี้ว่า “พิธีหด” ญาซาเมื่อลาสิกขาจะถูกเรียกว่า “จารย์” ญาครู(พระครู) เมื่อลาสิกขาจะถูกเรียกว่า “จารย์ครู” สมัยนั้นตำราในทางพระพุทธศาสนา นิยมจารึกไว้ด้วยอักษรธรรม อักษรไทยน้อย และอักษรขอม ผู้บวชเรียนในสมัยนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาอักษรดังกล่าวด้วย ผู้ใดอ่านได้คล่อง สอดใส่อารมณ์ในการอ่านได้ดี มีปฏิภาณอธิบายท้องนิทานได้อย่างเร้าใจ ให้ความหมายถ้อยคำที่เป็นภาษาโบราณได้ถูกต้อง จะได้รับความนิยมให้เป็นผู้อ่านเสมอ จนผู้อ่านบางท่านจำได้ทั้งเรื่อง หนังสือผูกนอกจากจะนิยมอ่านในโอกาสดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้นำเอาไปท่องเป็นทำนองแล้วนำไปลำ เรียกว่า “ลำพื้น” หรือ ลำกลอน”138สุภาษิตอีสานเกิดจากวรรณกรรมท้องถิ่น เพราะว่าท้องถิ่นย่อมมีวัฒนธรรมย่อยที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นที่มาของวรรณกรรมท้องถิ่นนั้นๆ วรรณกรรมอีสานก่อเกิดมาจากนักปราญ์อีสานเองด้วยเหตุนี้เองวรรณกรรมอีสานจะมีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นนั้น วรรณกรรมอีสานจึงมีรูปแบบดังนี้คือ
๑) ใช้ภาษาถิ่นอีสานในการจารึก
๒) จารึกด้วยอักษรท้องถิ่น อันได้แก่อักษรตัวธรรมอักษรไทยน้อย อักษรตัวธรรมใช้บันทึกวรรณกรรมศาสนา และตำราวิชาการต่างๆ ส่วนอักษรไทยน้อยใช้บันทึกวรรณประเภทนิทานชาดก
๓) ฉันทลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน มีลักษณะเป็นโคลงสาร(กลอนอ่าน,กลอนลำ) กาพย์(กาพย์เซิ้ง) และร่าย(ฮ่าย) บทผญาสุภาษิต ดังกล่าวนั้นนอกจากจะเกี่ยวข้องกับหลักธรรมแล้ว บางบทยังสุขุมลุ่มลึกก็มีทั้งที่เป็นปริศนาธรรม สุภาษิต คติธรรม หลักคำสอนในด้านจริยธรรม ทั้งที่เป็นบทร้อยกรอง คำกลอน กวี โคลง กาพย์ ฮ่าย ดังนั้นผญาภาษิตนั้นมีลักษณะเป็นหมู่คำซึ่งมีลักษณะดังนี้คือ
๓.๑) มีลักษณะคล้องจองกันในเชิงสัมผัสฟังแล้วรื่นหู ซึ่งอาจจะเป็นร้อยกรองหรือเป็นกาพย์และกลอนก็ได้
๓.๒) มีความหมายลึกซึ่งผู้ฟังหรือผู้อ่านต้องใช้ปัญญาหยั่งรู้จึงจะเข้าใจในความหมายทั้งความหมายตามตัวอักษร และความหมายแฝงเร้นในข้อความหรือถ้อยคำนั้นๆ
๓.๓) เป็นหมู่คำที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและปรัชญาในการดำเนินชีวิต
๓.๔) เป็นหมู่คำที่แสดงออกในเชิงการมีไหวพริบปฏิภาณของผู้พูด139
ดังนั้นบทผญาอีสานขึ้นจากแรงดลใจหลายกระแส เช่น
๑) เกิดจากการทำมาหากินเลี้ยงชีพในวิถีที่ต้องเผชิญอยู่เป็นประจำวัน
๒) เกิดจากประเพณีวัฒนธรรมที่ชาวอีสานถือปฏิบัติสืบทอดกันมา เช่นประเพณีการลงข่วงเข็นฝ้าย การตำข้าว การลงแขก การชุมนุมกันในงานบุญ และในเทศกาลต่างๆเป็นต้น
๓) เกิดจากศาสนา ศาสนาคือวัด และพระตลอดถึงหลักคำสอน เป็นแหล่งสำคัญไม่น้อยที่ทำให้เกิดบทผญาภาษิต เช่นการฟังเทศน์ ฟังหนังสือผูก เช่น เรื่องไชยเชษฐ์ สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น หูดสามเปา ท้าวนกกระจอก ขูลูนางอั้ว ท้าวผาแดงนางไอ่ นางผมหอม การละเกด และเสียวสวาสดิ์ เป็นต้น ซึ่งมักจะนำไปอ่านในงานต่างๆ เช่นงานศพและงานบุญต่างๆ อันเกี่ยวกับงานมงคลอื่นๆ
๔) เกิดจากความเป็นไปในสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิด ผญา การจ่ายบทผญา และการสืบทอดผญาทั้งสิ้น140 สรุปรวมได้ว่าสุภาษิตอีสานมีบ่อเกิดมาจากวรรณกรรมคำสอนทางพุทธศาสนา และวรรณกรรมท้องถิ่นหรือวรรณทางศาสนาและวรรณกรรมของชาวบ้านนั้นเอง
ลักษณะวรรณกรรมอีสาน
ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากนิทานชาดกในพุทธศาสนา ดังนั้นจึงมีการวางโครงเรื่องต่างๆที่มีลักษณะคล้ายกับชาดกนั้นๆ โดยมีพระราชา มเหสี มีพระราชโอรส และพระราชธิดา มีการศึกษาและมีการพลัดพรากจากพระนครไป ตอนสุดท้ายก็ได้กลับเข้ามาครองราชสมบัติเหมือนเดิม วรรณกรรมอีสานมักจะเน้นให้เห็นว่าเป็นผู้มีบุญบารมีการมาเกิด โดยเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อบำเพ็ญบารมีให้เต็ม และมีการชดใช้กรรมเก่าในชาติปางก่อน ตัวเอกของเรื่องมักจะถูกรังแกจากฝ่ายอธรรม แต่ด้วยบุญบารมีจึงทำให้รอดพ้นจากภัยพิบัติได้ในที่สุด ในท้ายเรื่องกวีมักจะประพันธ์ให้ตัวเอกของเรื่องเป็นฝ่ายชนะฝ่ายมาร แล้วประมูลนิทานชาดกนั้นๆว่าเป็นการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า และในชาติสุดท้ายก็ได้มาเกิดร่วมกันอีก ดูแล้วก็ไม่แตกต่างอะไรกับชาดกในพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้ามักจะประมูลชาดกนำมาสั่งสอนภิกษุในครั้งพุทธกาลนั้นเลย กล่าวโดยสรุปแล้วโครงสร้างวรรณกรรมอีสานนั้น กวีมักจะเน้นให้เห็นบทบาทของตัวละครที่เป็นฝ่ายปกครองบ้านเมืองในลักษณะของอุดมคติของสังคมชาวอีสานในอดีต คือ มีความกล้าหาญ มีอิทธิฤทธิ์ มีบุญญาบารมี และเพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรม
จุดหมายของวรรณกรรมอีสาน
วรรณอีสานมีเนื้อเรื่องที่อิงอาศัยอยู่กับหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ทั้งนิทานคติธรรมและวรรณกรรมชาดก ฉะนั้นแก่นแท้ของเรื่องจึงมุ่งที่จะสั่งสอนหลักธรรมตลอดถึงศีลธรรมอันดีงามให้
แก่ระบบสังคมโดยส่วนรวมแล้ว ลักษณะของวรรณกรรมที่กล่าวมานั้นจะเป็นการสอนในด้านจริยธรรมผสมผสานกับหลักพุทธศาสนา โดยเน้นให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษที่ไม่ยอมปฏิบัติตามหลักคำสอนตลอดถึงความเชื่อในเรื่องชาติหน้า โดยจะเห็นได้จากเรื่องพระเวสสันดรชาดกที่กล่าวว่าใครฟังให้ครบทั้งพันพระคาถาในหนึ่งวันจะได้เกิดทันศาสนาของพระศรีอาริย์เป็นลักษณะการที่หวังผลเกินคาด คือทำน้อยแต่ได้ผลมากเกินกว่าที่มนุษย์เราต้องลงมือทำ น่าจะเป็นในส่วนของพระอรรถกถาจารย์ต้องการให้คนนำเอาแบบอย่างของตัวละครที่แสดงมากกว่าอย่างอื่น คือสอนให้รู้จักการเสียสละเพื่อบำเพ็ญทาน ให้รู้จักการรักษาศีลและภาวนาเฉกเช่นเดียวกับที่พระเวสสันดรได้ทรงทำเป็นแบบอย่างมากกว่าที่ต้องนั่งฟังโดยไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นวรรณกรรมอีสานมีหลายๆอย่างที่ปรากฏอยู่อย่างมากหมาย อาทิเช่น
๑) จารีตวรรณกรรม วรรณกรรมทั้งที่เป็นเชิงประวัติศาสตร์ เชิงนิทานธรรม และเชิงปรัชญาธรรมที่อยู่ในกลุ่มคำสอน ก็ย่อมเป็นวรรณกรรมเพื่อสั่งสอนให้ชาวอีสานได้รู้จักธรรมเนียมต่างๆที่ตัวละครแสดงออก อย่างเช่น บทรักที่ปรากฏในวรรณเรื่องขูลู่นางอั้ว ซึ่งมีทั้งที่เป็นบทผญารัก(ผญาเครือ)อยู่มากหมายและแสดงให้เห็นความรักจริงของนางอั้ว ที่มีคำมั่นสัญญาเอาไว้กับขูลูแล้วแม้ว่าคุณแม่จะไม่เห็นด้วยกับความรักของนางก็ตาม นางอั้วก่อนจะผูกคอตายก็ได้แสดงความรักที่แม่มีให้โดยกล่าวอำลาไว้อย่างน่าสนใจ อันเป็นบทโศกที่สะเทือนอารมณ์ได้เป็นอย่างดี และวรรณกรรมนิทานธรรมอีกหลายเรื่องกวีก็ได้พรรณนาฉากเหล่านี้ไว้อย่างมากมายเช่นนี้เรียกว่า เป็นจารีตทางวรรณกรรมของชาวอีสาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือ เมื่อตัวเอกของเรื่องเกี้ยวพาราสีกันกวีมักจะนำเอาบทผญาเกี้ยวสาวเอามาใส่ไว้ตามประเพณีอีสาน ไม่นิยมบทอัศจรรย์แต่ใช้วิธีบรรยายตรงไปตรงมา และนิยมบทสั่งสอน เช่นเรื่องท้าวคำสอนเป็นต้น
๒) ใช้วรรณกรรมเป็นสื่อในการสั่งสอนให้รู้จักหลักทางจริยธรรมต่างๆ เช่น จริยทางด้านการเมืองการปกครอง ใช้วรรณกรรมที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นแบบอย่างของการถ่ายทอดขนบธรรมเนียมและประเพณีของสังคมตลอดถึงใช้เป็นสื่อในการให้ความรู้ชนิดอื่นเช่น ตำรายาแผนโบราณ ตำราหมอดู ตำราวิทยาคมต่างเป็นต้น ในวรรณกรรมอีสานมีเนื้อหาที่เป็นคำสอนหลายอย่างที่ไม่ใช้คำสอนทางพระศาสนา แต่เป็นคำสอนที่เกี่ยวกับฮีตคลองและขนบธรรมเนียม ประเพณีความเชื่อของคนอีสาน คำสอนที่มีอยู่ในวรรณกรรมเหล่านี้เป็นประหนึ่งว่า เคื่องมือที่จะกำหนดวิถีชีวิตของชาวอีสานโดยจะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
จะพบเห็นจากวรรณกรรมประเภทนิทานธรรมที่เข้ามีบทบาทในคติความเชื่อของคนไทยอีสานเป็นอย่างยิ่ง และฮีตสิบสองคลองสิบสี่อันเป็นจารีตนิยมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างไรก็พากันทำต่อไปอย่างนั้น เพราะชาวอีสานเคารพเชื่อฟังคนในสมัยโบราณหรือบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมต่างๆเช่น พิธีกรรมสู่ขวัญต่างๆเป็นต้น ดังนั้นวรรณกรรมต่างๆในภาคอีสานจึงมีจุดเด่นที่สำคัญคือ สั่งสอนให้ชาวบ้านตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ให้ตั้งตนเองอยู่ในศีล ให้เป็นคนรักเพื่อนฝูง เคารพยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่ จะเห็นได้จากวรรณกรรมย่าสอนหลายที่คุณย่ามักจะมุ่งสั่งสอนถึงศีลธรรมอันดีงามให้แก่สังคม ให้มีความสงบสุขโดยสอนแทรกอยู่ในจริยาวัตรของตัวละคร หลักธรรมเหล่านั้นกวีมักจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวพุทธและจารีตประเพณีของอีสานด้วย โดยมีหลักธรรมดังนี้คือ
๓) กฎแห่งกรรม วรรณกรรมอีสานส่วนใหญ่มักจะเน้นเรื่องกฎแห่งกรรม คือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ฉะนั้นจึงพบว่าสุภาษิตอีสานต่างก็ออกมาจากวรรณคดีอีสานทั้งสิ้น โดยเน้นให้เห็นถึงผู้มีความโลภ โกรธ หลง มักจะได้รับวิบากกรรมในบั้นปลายของชีวิต
๔) กฎแห่งสังสารวัฏ วรรณคดีอีสานส่วนมากจึงมักจะเสนอให้เห็นว่าการเวียนว่ายตายเกิดจะดีหรือเลวก็อยู่ที่ผลของกรรมที่ตัวเองทำทั้งสิ้น นั่นคือมนุษย์ที่เกิดในชาตินี้ย่อมเสวยผลของกรรมที่ตนเองทำไว้ในชาติปางก่อนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพระราชา หรือยาจก ตลอดถึงพระโพธิ์สัตว์ที่ลงมาเกิด กวีก็เน้นให้เห็นกรรมในอดีตชาตินั่นคือการถูกฝ่ายอธรรมรังแกจนต้องพลัดพรากจากพระนครไปแต่ผู้เดียว แต่สุดท้ายก็กลับมามีชัยชนะ
๕) กฎพระไตรลักษณ์ คือกวีมักจะเสนอให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งทั้งปวงในโลกนี้ย่อมตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนั้นคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วรรณคดีของอีสานก็จะสอนให้รู้ถึงความไม่เที่ยงเหล่านี้ ไว้เสมอ
๖) อำนาจ คือวรรณคดีอีสานบางเรื่องก็เน้นให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นมีอำนาจเหนือมนุษย์ และสามารถให้คุณหรือให้โทษแก่มนุษย์ได้ มนุษย์ต้องมีความเกรงกลัวต่อวิญญาณที่สิงสถิตย์อยู่ในธรรมชาติเหล่านั้น เป็นระบบวิญญาณนิยมขึ้นมา โดยจะอยู่ในรูปของอมนุษย์ เช่น ครุฑ นาค ยักษ์ ท้าวมเหศักดิ์หลังเมือง หรือวิญญาณบรรพบุรุษ ฯลฯ
๗) เชื่อในชาติหน้า คือวรรณกรรมมีจุดหมายเพื่อสร้างความเชื่อเกี่ยวกับโลกและจักรวาล วรรณคดีอีสานจะดำเนินเรื่องอยู่กับโลกในเชิงจิตวิสัย นั่นคือ โลก สวรรค์ นรก เมืองบาดาล และโลกของพระศรีอารย์ และมีการสอดแทรกอยู่ในวรรณคดีอีสาน ดังนั้นแก่นเนื้องหาสาระของเรื่องจึงมักจะนำเอาหลักธรรมมาแทรกเอาไว้ด้วย เพื่อสั่งสอนคนให้ตั้งอยู่ในคุณงามความดี
bandonradio