วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ฺผญาอีสาน บ้านดอนเรดิโอออนไลน์


ผญาภาษิตอีสานเบื้องต้น
๒.๑ วัฒนาการของผญาอีสาน เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์นั้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ในอดีตนั้นได้อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นอาณาจักรอ้ายลาวที่เจริญรุ่งเรืองมากในอดีต ซึ่งมีอาณาเขตแผ่มาครอบคลุมตลอดดินแดนภาคอีสานในปัจจุบัน ดังนั้นชาวอีสานจึงเป็นชนชาติที่รวมกลุ่มกันมาแต่โบราณกาล และรับเอาวัฒนธรรมประเพณีตลอดถึงอักษรที่ใช้ในอดีตเป็นของตนเอง โดยได้ยึดถือเอาหลัก ฮีตสิบสองคลองสิบสี่๑ เป็นหลักในการดำเนินชีวิตตลอดมาจนถึงปัจจุบัน วิวัฒนาการของบทผญาช่วงแรกๆนั้นเป็นแบบมุขปาฐะ(Oral tradition) โดยการท่องจำต่อๆกันมา เมื่อวันเวลานานเข้าบทผญาก็มีการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับและมีการแยกย่อยคำผญาออกเป็นประเภทต่างๆตามเนื้อหาของคำที่ใช้สื่อกัน มีนักปรัชญาอีสานกล่าวว่าคำผญานั้นเป็นปรัชญาธรรมของกวีชาวอีสานโดยแท้จริง ที่ช่วยชี้ทางให้คนได้รู้จักดำรงตนให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม ยิ่งกว่านั้นกวียังได้ช่วยผสานความสามัคคีระหว่างชนเผ่าต่างๆให้เชื่อมโยงเข้ากันได้ด้วยคำผญาต่างๆเป็นอย่างดี ตลอดถึงช่วยเป็นเครื่องปลอบประโลมใจคนให้มีความขยันอดทน ประหยัดและเป็นนักต่อสู้ชีวิต ให้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่รอคอยโชควาสนา แต่ให้ยืนอยู่บนหลักการพึงตนเอง ผญาภาษิตคือสื่อในการสอนจริยธรรมในชุมชนท้องถิ่นนั่นเอง ให้รู้ว่าสิ่งใดควรกระทำและสิ่งใดควรเว้นทั้งยังสอนให้รู้จักประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวม ให้ใช้สติปัญญาไตร่ตรองในการแก้ปัญหาต่าง ให้ยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์ของตนเองและความสุขของสังคมส่วนรวมคือประเทศชาติ
                      ๒.๑.๑ ความหมายของคำว่า “ผญา” “ผญา” หมายถึง “ปัญญา , ปรัชญา, ความฉลาด,” มีลักษณะเป็นคำภาษิตที่มีหมายลึกซึ่ง เรียกว่าผญา และคำว่า “ภาษิต” หมายถึงคำพูดที่เป็นคติ คำพูดดี๒ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถระ) ได้ให้ความหมายว่า “ ผญาหรือผะหยา” คือปัญญา, ปรัชญา ความฉลาด ,เป็นคำพูดที่มีความหมายลึกซึ่งในเชิงเปรียบเทียบ๓ จารุบุตร เรื่องสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญทางวรรณกรรมอีสานได้ให้คำนิยามว่า “ผญา” เป็นคำนาม แปลว่า ปัญญา, ปรัชญา, ความฉลาด๔ ร.ศ. บุปผา บุญทิพย์ ได้ให้ความหมายของผญาว่า ผญาเป็นคำภาษาอีสาน สันนิษฐานว่ามาจากปรัชญา เพราะภาษาอีสานออกเสียงควบ “ปร” ไปเป็นเสียง “ผ” ดังในคำว่า “เปรต”เป็นเผด โปรด เป็นโผด หมากปราง เป็น หมากผาง แปรง เป็น แผง ดังนั้นคำว่า “ปรัชญา” อาจเป็น ผัชญาแล้วเป็น “ผญา” อีกต่อหนึ่ง ผญาคือคำพูดของนักปราชญ์ ซึ่งแฝงไว้ด้วยคติ แง่คิด คำพูดที่เป็นหลักวิชา อันแสดงถึงความรอบรู้ ความสามารถของผู้พูด๕ อ. ธวัช ปุณโณทก ได้ให้ความหมายของคำว่าผญาภาษิตว่า หมายถึงถ้อยคำหรือกลุ่มคำที่มีความหมายให้สติเตือนใจ หรือข้อความพิเศษที่จะสั่งสอน๖ สวิง บุญเจิม ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ผญา”ไว้ว่า เป็นคำคล้องจองที่นักปราชญ์โบราณอีสานคิดขึ้น เพื่อให้ในกรณีต่างๆ อาทิ ใช้ในด้านคำสั่งสอน เรียกว่า “ผญาภาษิต” หรือใช้ในการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว เรียกว่า “ผญารักหรือผญาเกี้ยว” และใช้ในกรณีที่เป็นเชิงเปรียบเทียบให้คิดเรียกว่า “ผญาปริศนาธรรม”
                   ๒.๑.๑ ลักษณะของคำผญา สำนวนภาษิต คือถ้อยคำที่กล่าวเป็นชั้นเชิงชวนให้คิดมีคติชวนฟังจำนวนหนึ่งในภาษาไทย ซึ่งจดจำใช้พูดจาสื่อสารกันทั่วไป เรียกว่า “สำนวน” และ “ภาษิต” อาจจะรวมเอาทั้งคำพังเพยและสุภาษิตด้วย สำนวน คือถ้อยคำที่เป็นชั้นเชิงชวนให้คิด สื่อความหมายความเข้าใจกันโดยใช้ความหมายโดยนัย (คือไม่แปลความหมายโดยตรง) แต่เข้าใจกันทั่วไปในสังคมที่เป็นเจ้าของภาษาสำนวนมีลักษณะพอสรุป ดังนี้ ๑ ) เป็นถ้อยคำสั้นๆ เพียง ๒-๔ พยางค์ แต่ไม่เกินสี่พยางค์ ๒ ) มีความหมายไม่เตือนสติ และไม่สั่งสอน ๓ ) ไม่นิยมสัมผัสคล้องจอง แต่สุภาษิตนิยมคล้องจอง ๔ ) มีความหมายเชิงเปรียบเทียบหรือใช้ความหมายโดยนัย ๕ ) สร้างขึ้นใหม่ในปัจจุบันเรื่อยๆ บางสำนวนก็เลิกใช้ก็มี ภาษิต คือถ้อยคำที่กล่าวสืบต่อกันมาตามประเพณี เป็นถ้อยคำที่มีความหมายพิเศษให้สติเตือนใจ สั่งสอน และมักจะมีสัมผัสคล้องจองกัน ภาษิตก็ยังหมายเอาทั้งคำพังเพยด้วยซึ่งทั้งภาษิตและคำพังเพย ยังนิยามแตกต่างกันอีกคือ ภาษิต คือถ้อยคำหรือกลุ้มคำที่มีความหมายให้สติเตือนใจ หรือเป็นข้อความพิเศษมุ่งที่จะสั่งสอน ซึ่งมักจะมีคำว่า “อย่า, จง, ให้, ปนอยู่ในกลุ่มคำด้วย เรียกว่า “สุภาษิต” เช่นคบคนให้ดูหน้า ซื่อผ้าให้ดูเนื้อ อย่าสาวใส่ให้กากิน ฯลฯ คำพังเพย คือกลุ่มคำที่กล่าให้ตีความ อาจจะให้สติเตือนใจ หรือ ไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน ขิงก็ราข่าก็แรง นายว่าขี้ข้าพลอย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าภาษิต และคำพังเพย เป็นกลุ่มคำหรือถ้อยคำที่มีความหมายประเภทเดียวกันนั้นคือ ๑ ) เป็นถ้อยคำค่อยข้างยาวสี่พยางค์ขึ้นไป ๒ ) มีความหมายสติเตือนใจ ๓ ) นิยมสัมผัสคล้องจองกัน ๔ ) ความหมายเชิงเตือนให้คิด สั่งสอน ๕ ) เป็นถ้อยคำที่จดจำสืบต่อมา(แบบมุขปาฐะ) จากทัศนะของนักปราชญ์ทั้งหลาย พอสรุปได้ว่า
                 “ผญา” ตรงกับคำว่า “ปรัชญา ในภาษาสันสกฤตและคำว่า “ปัญญา” ในภาษาบาลี ดังนั้นคำว่า “ผญา” จึงแปลว่า “ปรัชญา, ปัญญา, หรือความรอบรู้ หมายถึงถ้อยคำหรือข้อความที่ฉลาดหลักแหลมและคมคายลึกซึ่งยิ่งนัก รวมความไปถึงถ้อยคำอันแสดงให้เห็นถึงปัญญาความรอบรู้ของผู้พูดด้วย ลักษณะของคำประพันธ์อีสานนั้นมี ๔ ประการ๗ ซึ่งแต่ละลักษณะจะแตกต่างกันไม่เด่นชัดนัก ได้แก่ กาบ (กาพย์) โคง(โคลง) ฮ่าย (ร่าย) และกอน(กลอน) บทร้อยกรองที่เป็นที่นิยมของชาวอีสานนั้นมีอยู่ ๓ ชนิด๘ คือ ๑) ชนิดที่ไม่มีสัมผัส แต่อาศัยจังหวะของเสียงสูงต่ำของวรรณยุกต์และจังหวะของคำเป็นเกณฑ์ คำผญาเหล่านี้ก็คือโคลงดั้น หรือกลอนอ่านวิชชุมาลีนั่นเอง ดังตัวอย่างนี้คือ
                        (ครันเจ้า) ได้ขี่ช้าง กั้งฮ่มเป็นพญา (อย่าสู้) ลืมความหลัง ขี่ควายคอนกล้า ๒ บาทแรก ไม้ล้อมรั้ว ลำเดียวบ่ข่วย ไพร่บ่พร้อม แปลงบ้านบ่เฮือง ๒ บาทหลัง บทผญาของภาคอีสานมีลักษณะที่ตัดมาจากโคลงดั้นวิชชุมาลี โดยตัดมาเพียงบาทเดียวหรือ ๒ บาท และ ๓ บาท ก็ได้ ที่นิยมก็คือมักตัดมาใช้ ๒ บาทหลังของโคลงคือบาทที่ ๓ และ ๔ เป็นส่วนมาก ลักษณะอย่างนี้ทำให้สามารถที่จะเพิ่มคำแทรกลงภายหลังในวรรคได้ซึ่งมักเป็นคำเดี่ยวมีเสียงเบาและสามารถมีคำสร้อยอยู่ท้ายวรรคได้อีก ๒ คำ ดังนั้นบทผญาก็ดี หรือรูปแบบของโคลงในวรรคกรรมลายลักษณ์ก็ดี ในยุคแรกนั้นไม่มีสัมผัสเลย แต่มาในยุคหลังก็ได้พัฒนามามีสัมผัสมากขึ้น โดยได้รับอิทธิพลมาจากร่ายและโคลงนั้นเอง ๒)
                      ชนิดที่มีสัมผัสแบบร่าย คือใช้สัมผัสระหว่างวรรคต่อเนื่องรับกันไปเหมือนลักษณะของร่ายเกิดเป็นโคลงดั้นที่มีสัมผัสอย่างร่าย ดังตัวอย่างนี้ “ ครันเจ้า คึดฮอดอ้าย ให้เหลียวเบิ่งเดือนดาว สายตาเฮา จวบกันเทิงฟ้า จะเห็นว่ามีสัมผัสรับกันแห่งเดียวคือตรงคำว่า “ดาว” กับ “เฮา” ลักษณะการรับสัมผัสแบบร่ายนี้ได้พัฒนามามีสัมผัสมากขึ้นในยุคหลัง ซึ่งจะเห็นได้จากลักษณะของกลอนลำต่างๆ ๓)
                     ชนิดที่มีสัมผัสแบบโคลง โคลงดั้นวิชชุมาลีของอีสานแบบเก่าไม่มีสัมผัส ต่อมาก็ได้พัฒนาโดยวางสัมผัสแบบโคลงอย่างของภาคกลาง มีทั้งลักษณะสัมผัสแบบโคลงดั้นบาทกุญชรและโคลงดั้นวิวิธมาลี และมีทั้งลักษณะสัมผัสแบบโคลงสุภาพ ซึ่งในตำราล้านช้างเรียกว่า “มหาสินธุมาลี” ไม่ค่อยได้รับนิยมเท่าไหร่ บทร้อยกรองในภาคอีสานได้พัฒนามาจากรูปแบบที่ยึดถือเรื่องจังหวะคำและระดับเสียงสูงต่ำเป็นเกณฑ์ โดยไม่มีสัมผัสเลยไปสู่รูปแบบที่มีสัมผัสเพิ่มมากขึ้นในยุคหลัง ด้วยเหตุนี้ โคลงห้า ผญา โคลงดั้นวิชชุมาลี (หมายรวมถึง โคลงสาร, กลอนอ่านวิชชุมาลี, กลอนอักษรสังวาส,กลอนเทศน์) และกลอนลำของอีสานจึงล้วนมีพัฒนาการร่วมเส้นทางเดียวกันมา ในขณะที่พัฒนาการอีกเส้นทางหนึ่งคือ คำประพันธ์ของอีสานที่เรียกว่า กาพย์และฮ่าย(ร่าย) ซึ่งมุ่งเรื่องสัมผัสเป็นเกณฑ์ ก็ได้มามีอิทธิพลผสมผสานกันนี้คือพื้นฐานของบทร้อยกรองที่ปรากฏในผญาของภาคอีสาน ลักษณะทั่วไปของผญาอีสานยังแบ่งออกได้อีก ๒ ประการคือ ๑) จัดแบ่งตามแบบฉันท์ลักษณ์ของบทผญา ๒) จัดแบ่งตามลักษณะเนื้อหาของบทผญา ๑) จัดแบ่งตามรูปแบบทางฉันทลักษณ์ของผญายังแบ่งย่อยออกมาได้อีก ๒ ประการคือ ๑.๑.)
                    บทผญาที่มีสัมผัส การใช้ถ้อยคำให้เกิดความคล้องจองกันเป็นลักษณะประจำที่มีสอดแทรกในชีวิตประจำวันของชาวอีสาน หรือ ถือเป็นความนิยมในการพูด คำผญาประเภทนี้มักมีอยู่ในรูปของร้อยกรอง มีสัมผัสระหว่างวรรคติดต่อกันโดยตลอด และมีสัมผัสภายในวรรค สัมผัสในบทผญาอีสานยังแบ่งออกเป็นสัมผัสสระและสัมผัสอักษรดังนี้คือ ๑.๑.๑)
                    สัมผัสสระ คือคำที่ผสมด้วยเสียงสระเดียวกันและเสียงตัวสะกดเดียวกัน การสังสัมผัสจะส่งระหว่างวรรคต่อเนื่องกันในผญาบางบทจะส่งสัมผัสภายในวรรคก็มี เช่น “มีเฮือนบ่มีฝา มีนาบ่มีฮ่อง มีปล่องบ่มีฝาอัด มีวัดบ่มีพระสงฆ์ มีถ่งบ่มีบ่อนห้อย ของแนวนี้กะบ่ดี ( มีบ้านไม่ฝา มีนาไม่มีร่องน้ำ มีปล่องไม่มีฝาปิด มีวัดไม่มีพระสงฆ์ มีถุงไม่มีที่ห้อย ของเหล่านี้ก็ไม่ดี) จากผญาที่ยกมานี้ จะสังเกตเห็นว่า คำสุดท้ายของแต่ละวรรคจะส่งสัมผัสไปยังวรรคต่อๆไปอย่างต่อเนื่อง ๑.๑.๒.)
                     สัมผัสอักษร คือคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน คำที่มีสัมผัสอักษรเป็นที่นิยมมากในบทผญาอีสาน สัมผัสอักษรส่วนมากจะสัมผัสภายในวรรค และจะมีสัมผัสระหว่างวรรคบ้างเล็กน้อย เช่น “ โมโหนี้พาโตตกต่ำ ให้ค่อยคึดค่อยต้านยังสิได้ต่อนคำ” (ความโกรธนี้พาตัวเองให้ตกต่ำ(มีคุณค่าน้อยลง)ควรคิดให้รอบคอยจึงจะมีประโยชน์) ๑.๒.) ผญาที่ไร้สัมผัส หมายถึงบทผญาที่ไม่ได้ส่งสัมผัสต่อเนื่องกันไป ผญาชนิดนี้มีเสียงสูงต่ำของเสียงวรรยุกต์และจังหวะของถ้อยคำเป็นสิ่งที่ช่วยให้มีเสียงไพเราะ เช่น “ อย่าได้หวังสุขย้อน บุญเขามาเพิ่ง สุขกะสุขเพิ่นพุ้น บ่มากุ้มฮอดเฮา” (อย่าได้คิดหวังถึงความสุขจากคนอื่น สุขก็สุขของเขาไม่มาถึงเรา)
                            ๒.๑.๒ ผญาภาษิตอีสานแบ่งตามลักษณะของเนื้อหา ลักษณะเนื้อหาของผญาภาษิต ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้แบ่งเนื้อหาของผญาออกเป็นประเภทต่างๆ หลายประเภทแต่ส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน ตามที่ท่านผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้จัดแบ่งประเภทผญาตามลักษณะของเนื้อหาไว้นั้นมีความใกล้เคียงกันมาก คำผญาที่เป็นคำภาษิตคือเป็นข้อความสั้นๆ แต่เน้นความลึกซึ้ง และต้องเป็นสอนไปในตัว หรือให้เกณฑ์อันใดอันหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นไปของโลกหรือชี้ให้เห็นสัจจะแห่งชีวิต
                ผญาภาษิตอีสานนั้นเป็นทั้งปรัชญาธรรมและปัญญาธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของนักปราชญ์ อันแฝงไปด้วยคติ แง่คิด เป็นคำกล่าวที่เป็นหลักวิชา อันแสดงถึงความรอบรู้ความสามารถของผู้พูด ผญาที่เป็นภาษิต ใช้พูดสั่งสอนหรือเตือนใจใช้ในโอกาสเหมือนภาษิตภาคกลาง เช่น ต้องการสั่งสอนบุตรธิดา ท่านก็เล่านิทานเป็นเชิงอุทาหรณ์แทรกคติธรรม และภาษิตที่เป็นผญาเตือนใจทำให้ผู้ฟังเกิดความซาบซึ้งประทับใจและจดจำไว้เป็นแบบอย่างของการครองชีวิตต่อไป
                ผญาภาษิตนี้มักไม่กล่าวสอนอย่างตรงๆ ทั้งนี้เพราะคนอีสานนิยมสอนบุตรธิดาของตนโดยทางอ้อม ไม่ได้สอนโดยทางตรง เมื่อท่านจะสอนในเรื่องใดท่านมักจะผูกเป็นคำอุปมาอุปไมย โดยกล่าวถึงข้อเท็จจริงคือความเป็นอยู่และกิริยาอาการหรือความประพฤติของคนหรือสัตว์ ไม่ว่าในทางดีหรือทางชั่วอันเป็นไปในทางรูปธรรม เพื่อให้เกิดแง่คิดในทางนามธรรมเป็นข้อเปรียบเทียบกับรูปธรรม
                 ผญาภาษิตเมื่อนำมาจัดแบ่งตามลักษณะของเนื้อหาแล้ว ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้แบ่งเนื้อหาของผญาออกเป็นประเภทต่างๆ หลายประเภทแต่ส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน ตามที่ท่านผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้จัดแบ่งประเภทผญาตามลักษณะของเนื้อหาไว้นั้นมีความใกล้เคียงกันมาก โดยสรุปแล้วมีเนื้อหาของคำผญาได้เป็น ๔ ประเภท คือ ๑ )
                   ผญาภาษิต คำผญาที่เป็นคำภาษิตคือเป็นข้อความสั้นๆ แต่เน้นความลึกซึ้ง และต้องเป็นสอนไปในตัว หรือให้เกณฑ์อันใดอันหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นไปของโลกหรือชี้ให้เห็นสัจจะแห่งชีวิต ผญาภาษิตอีสานนั้นเป็นทั้งปรัชญาธรรมและปัญญาธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของนักปราชญ์ อันแฝงไปด้วยคติ แง่คิด เป็นคำกล่าวที่เป็นหลักวิชา อันแสดงถึงความรอบรู้ความสามารถของผู้พูด ผญาที่เป็นภาษิต ใช้พูดสั่งสอนหรือเตือนใจใช้ในโอกาสเหมือนภาษิตภาคกลาง เช่น ต้องการสั่งสอนบุตรธิดา ท่านก็เล่านิทานเป็นเชิงอุทาหรณ์แทรกคติธรรม และภาษิตที่เป็นผญาเตือนใจทำให้ผู้ฟังเกิดความซาบซึ้งประทับใจและจดจำไว้เป็นแบบอย่างของการครองชีวิตต่อไป
                ผญาภาษิตนี้มักไม่กล่าวสอนอย่างตรงๆ ทั้งนี้เพราะคนอีสานนิยมสอนบุตรธิดาของตนโดยทางอ้อม ไม่ได้สอนโดยทางตรง เมื่อท่านจะสอนในเรื่องใดท่านมักจะผูกเป็นคำอุปมาอุปไมย โดยกล่าวถึงข้อเท็จจริงคือความเป็นอยู่และกิริยาอาการหรือความประพฤติของคนหรือสัตว์ ไม่ว่าในทางดีหรือทางชั่วอันเป็นไปในทางรูปธรรม เพื่อให้เกิดแง่คิดในทางนามธรรมเป็นข้อเปรียบเทียบกับรูปธรรม ผญาภาษิตนี้ส่วนมาจากคำสอนในหนังสือวรรณคดีเรื่องต่างๆ ๒)
                   ผญาอวยพร การอวยพรมักจะใช้ในโอกาสต่างๆ ส่วนมากเป็นคำพูดของคนสูงอายุ ผู้อาวุโสหรือคนรักใคร่นับถือกันและเจตนาดีต่อกัน พูดเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้ฟัง หรือผู้รับพร เพื่อให้กำลังใจ และหวังให้ผู้ฟังได้รับความชื่นใจ ความสบายใจอาจใช้ในพิธีต่างๆเช่นในการสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขน หรือในโอกาสอื่นๆแล้วแต่ความเหมาะสม ผญาอวยพรเป็นบ่อเกิดสำคัญทางสุนทรียภาพอันเป็นอาหารทางจิตใจ ผญาอวยพรนี้ยังสะท้อนถึงความเชื้อของคนในท้องถิ่นภาคอีสานได้เป็นอย่างดี ๓)
                  ผญาพังเพย คำผญาพังเพยนี้มักจะกล่าวสอนขึ้นมาลอยๆ เป็นคำกลางๆเพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง คำพังเพยคล้ายสุภาษิต มีลักษณะเกือบเป็นสุภาษิต เป็นคำที่มีลักษณะติชม หรือแสดงความคิดเห็นอยู่ในตัว เช่น ทำนาบนหลังคน คำพังเพยไม่เป็นสุภาษิตเพราะไม่เป็นคำสอนแน่นอน และไม่ได้เน้นคำสอนในตัวเอง ลักษณะของคำพังเพยอีสานนี้เรียกอีกอย่างว่า คำโตงโตยหรือยาบสร้อย บางท้องถิ่นนิยมเรียกว่า ตวบต้วยหรือยาบเว้า เป็นข้อความในเชิงอุปมาอุปไมยที่ไพเราะสละสลวยและมีความหมายลึกซึ่งคมคายเช่นเดียวกับผญาภาษิต บางคำมีความหมายลึกซึ้งเข้าใจยากกว่าผญาภาษิตมาก ต่างก็กับผญาภาษิตตรงที่คำพังเพยหรือยาบสร้อยนี้ไม่เป็นคำสอนเหมือนผญาภาษิต เป็นเพียงคำเปรียบเทียบที่ให้ข้อเตือนใจหรือเตือนสติให้คนเรานึกถึงทางดีหรือทางชั่วนอกจากเป็น ๔)
                    ผญาเกี้ยว เป็นคำผญาที่หนุ่มสาวใช้พูดจากกัน เป็นทำนองเกี้ยวพาราสีในโอกาสพิเศษบ้าง เพื่อเป็นสื่อให้ฝ่ายหนึ่งเข้าใจในความนัยส่วนลึกของหัวใจตน ผญาเกี้ยวนี้มีความหมายเกี่ยวข้องถึงประเพณีของท้องถิ่นอีสานด้วย หรือผญาประเภทนี้มีบ่อเกิดมาจากประเพณีต่างๆของท้องถิ่นอีสานนั้นเอง คือชาวอีสานในอดีตมีประเพณีเล่นสาวในวาระต่างๆ การที่หนุ่มสาวได้ใช้คำผญาพูดกันเพื่อเป็นการทดสอบภูมิปัญญาของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือเพื่อแสดงถึงความรักจริงหวังแต่ง หรือแสดงให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีความซื่อสัตย์ต่อคำพูดของตนเองดังตัวอย่าง ผู้ชายจะชอบพูดว่า “สัจจาผู้หญิงนี้มีหลายก้าน ชาติดอกเดื่อมันบ่บานอยู่ต้นอ้ายบ่เซื่อคน ดอกน่า” (คำพูดของหญิงไม่เคยจริงสักครั้งเหมือนดอกมะเดื่อ ไม่บานอยู่บนต้นคนย่อมไม่เห็นประจักษ์ความจริง) ผู้หญิงก็จะโต้ตอบมาในเชิ่งเปรียบเทียบว่า “กกจิกมันมีหลายก้าน กกตาลมันมีหลายง่า สัจจาน้องได้ว่าแล้ว สิมายม้างบ่เป็น ดอกอ้าย” (ต้นจิกมีกิ่งก้านมากมาย ต้นตาลก็มีหลายแขนง แต่ว่าคำพูดน้องนี้ได้กล่าวแล้วก็มั่นคงไม่แปรผัน) คำพูดทั้งสองฝ่ายต่างก็สะท้อนถึงจริยธรรมเสมอ คือมั่นคงในคำพูดของกันและกัน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน การคบกันก็จะพัฒนาเกิดเป็นความรักจริง
ฺบ้านดอนเรดิโอออนไลน์




กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]


โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคีและชนชั้นวรรณะพราหมณ์
เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน
โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ( Hatha Yoga )
ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา



ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหารร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ
เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้
หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี



โยคะท่าพื้นฐาน

ท่านมัสการ




ความหมาย


• นมัสการ หมายถึง ทำความเคารพ



วิธีปฏิบัติ


• ยืนหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เท้าชิด พนมมือ

• หายใจเช้าและยกแขนขึ้น ค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง ยื่นแขนเหนือศีรษะ

• หายใจออกช้าๆ เอนตัวไปข้างหน้า ให้มือที่พนมอยู่สัมผัสพื้นจนกระ ทั่งมืออยู่ในแนวเดียวกับเท้าศีรษะสัมผัสหัวเข่า

• หายใจเข้า ก้าวเท้าขวาถอยหลังมา 1 ก้าว ให้มือและเท้า ยังคงอยู่กับพื้น เท้าซ้ายอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• ขณะหายใจออก ยกเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา แขนตรงยกสะโพกขึ้นให้ศีรษะ และแขนอยู่ในแนวเดียวกัน ทำท่าเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าและค่อยๆ ลดสะโพกลงมาที่พื้น (ให้สะโพกอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย) ก้มตัวลงไปข้างหลังให้มากที่สุด

• หายใจออก และลดตัวลงมาที่เท้า เข่า มือ และอก สัมผัสพื้น

• หายใจเข้า และค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยศีรษะไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด และโค้งกระดูกสันหลังไปให้ได้มากที่สุด เหมือนท่านาคอาสนะ

• ขณะหายใจออกช้าๆ และให้แขนอาสนะ ยกสะโพกขึ้น และให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกับแขน ทำเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าช้าๆ และงอเข่าซ้าย ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือยังคงอยู่ที่พื้น วางเท้าซ้ายลงบนพื้นระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• หายใจออกช้าๆ ให้มืออยู่ที่เดิม ดึงเท้าทั้งสองเข้ามาชิดกัน ให้อยู่แนวเดียวกับมือถ้าเป็นไปได้ ให้ศีรษะสัมพันธ์กับหัวเข่า

• หายใจเข้าช้าๆ และยกแขนขึ้น ค่อยๆเอนตัวไปข้างหลัง โดยยื่นแขนขึ้นเหนือศีรษะ ย้อนกลับไปตำแหน่งยังข้อ 1



ท่าชวังคอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต ชว หมายถึง ทั้งหมด หรือ ทุกๆ อังคะ หมายถึง ร่างกาย ชวังคะ จึงหมายถึง ทำทั้งร่างกาย

ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นท่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน ท่านี้มักเรียกกันว่า ท่ายืนบนไหล่

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงายในท่า ศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้นขณะงอเข่าและดึงเข่าเข้ามาที่ท้อง หายใจออก

• หายใจเข้าช้าๆ กดฝ่ามือลง ยกลำตัวตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นจากพื้น งอกระดูกสันหลังไปข้างหลัง และทำท่อนแขนให้ตรง ให้สะโพกอยู่บนพื้น

• หายใจเข้าแล้วในขณะหายใจออก ให้ยกขาตั้งฉากกับพื้น อาจใช้มือพยุงสะโพกไว้ หรือวางแขนไว้ลงกับพื้นตามถนัด

• ขาดชิด เข่าตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น ศีรษะตรงไม่หันไปด้านใดด้านหนึ่ง เก็บคางให้ชนหน้าอก

• หายใจเข้า ออก ช้าๆ ขณะคงท่านี้ไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 6 จนกลับสู่ท่าศพอาสนะ



ท่าตรีโกณอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ตรี ในภาษาสันสกฤตหมายถึง สาม โกณ หมายถึง เหลี่ยมหรือมุม

ดังนั้น ท่านี้จึงเรียกว่า ท่าสามมุม หรือท่าสามเหลี่ยม

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิดแขนแนบลำตัว

• แยกเท้าออกจากกัน ให้ระยะห่างมากกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย

• หายใจเข้าและยื่นแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้น ฝ่ามือคว่ำลง

• หายใจออกช้าๆ หันลำตัวไปทางซ้าย งอตัวที่ช่วงเอว ให้มือขวาลงไปที่แข้งซ้าย ฝ่ามือขวา วางไว้ข้างนอกของหน้าแข้งซ้าย

แขนซ้ายควรยื่นออกไปด้านบนขาและแขนทั้งสองข้างตรง โดยไม่ต้องงอเข่าและข้อศอก


• หันศีรษะขึ้นไปทางซ้าย มองไปที่ปลายนิ้วมือซ้าย หายใจเข้า และกลับไปสู่ท่าเดิม คือท่ายืน ให้แขนกางออก

• คงท่านี้ไว้ เท่ากับช่วงหายใจออก หายใจออกและทำซ้ำ ขั้นตอนที่ 4-7 สลับซ้าย



ศีรษะอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ศีรษะ หมายถึง หัว ในภาษาสันสกฤต ท่านี้คือ ท่ายืนด้วยศีรษะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการฝึกอาสนะ ไม่แพ้ท่าปทมอาสนะ

ด้านบนคือภาพโมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพโยคีขณะทำท่าศีรษะอาสนะ

วิธีปฏิบัติ


• นั่งคุกเข่า ให้สะโพกอยู่บนส้นเท้า

• เอนตัวไปข้างหน้า วางแขนลงบนพื้น ให้ศอกห่างกัน 1 ช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน

• วางศีรษะลงบนพื้น ให้ท้ายทอยสัมผัสมือที่ประสานไว้

• ให้ปลายเท้าจิกพื้น ขณะยกส้นเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น

• คงท่านี้ไว้เป็นระยะเท่ากับการหายใจเข้า ถ้าไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ให้ค่อยๆ หายใจออก และนอนราบกับพื้น กางขาออก กลับไปสู่ท่าศพอาสนะ



หลอาสนะ



ความหมาย

• หล แปลว่า คันไถ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย แบบท่าศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำที่พื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้น งอเข่าเข้ามาจรดท้องขณะหายใจออก

• หายใจเข้า ขณะหายใจออกให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับพื้น คุณอาจใช้มือพยุงสะโพก หรือวางแขนราบไปกับพื้นแล้วแต่ถนัด

• หายใจออก แล้วยกขาขึ้นเหนือศีรษะ งอขาตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ยกหลังและสะโพก จนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นด้านหลังของศีรษะ รักษาเท้าให้ชิดกัน

หากใช้มือพยุงหลังให้ลองวางแขนราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง ถ้าไม่สามารถวางแขนลงที่พื้นได้ให้ใช้มือพยุงหลังส่วนล่างไว้


• เข่าตรง หายใจช้าๆ และคงท่านี้ไว้สักครู่ ถ้านิ้วเท้าสัมผัสพื้นไม่ได้ ก็พยายามให้นิ้วเท้าอยู่ต่ำที่สุด

• ทำท่าย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 5 ถึง 1 จนกลับไปสู่ท่าศพอาสนะเหมือนเดิม




ธนูอาสนะ




ความหมาย

• คำว่าธนู ในภาษสันสกฤต หมายถึง มีรูปร่างเหมือนคันศร โค้ง หรือ งอ คันศร

ในที่นี้หมายถึง คันศรที่ใช้กับลูกธนู ท่าอาสนะนี้ มีชื่อแบบนี้เนื่องจาก ร่างกายมีท่าทางคล้ายคันศรที่โก่งพร้อมยิงธนู

วิธีปฏิบัติ


• นอนคว่ำหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนราบไปกับลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น

• หันหน้ามาเพื่อวางคางไว้บนพื้น หายใจออก งอเข่า เอื้อมแขนไปข้างหลัง จับข้อเท้าขวาไว้ด้วยมือขวา จับข้อเท้าซ้ายด้วยมือซ้าย

• ขณะหายใจเข้า ค่อยๆ ยกขาขึ้นโดยดึงข้อเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น และยกอกขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน

กลั้นลมหายใจเข้าเอาไว้ ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนหน้าท้อง


• ยื่นศีรษะให้ไกลที่สุด คงท่านี้ไว้ขณะกลั้นหายใจ

• หายใจออกช้าๆ วางเข่าลงบนพื้น ปล่อยข้อเท้า ค่อยๆ วางขาและแขนลงบนพื้น หันหน้าไปข้างหนึ่ง ทำเหมือนท่าเริ่มต้น



ท่าพิจิกอาสนะ



ความหมาย

• ท่าพิจิกหรือท่าแมงป่อง ในท่านี้ ร่างกายจะดูเหมือนแมลงป่อง ที่ยกหางโค้งขึ้นเหนือหัว พร้อมจะต่อยคู่ต่อสู้

แม้ท่านี้จะดูยากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

วิธีปฏิบัติ


• คุกเข่าลงที่พื้น โน้มตัวไปข้างหน้า วางศอกและแขนด้านในราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง แขนควรห่างกันประมาณ 1ช่วงไหล่

• ยื่นศีรษะไปข้างหน้าและยกให้สูงที่สุด

• ยกสะโพกขึ้น วางเท้าให้มั่นคง

• หายใจเข้าและแกว่งขาขึ้นไปเหนือศีรษะ รักษาสมดุลของร่างกายไว้ ยกขาตรงขึ้นเหนือศีรษะ

• ค่อยๆ งอเข่าและปล่อยขาลงมาทางด้านศีรษะ ระวังอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และอย่าทิ้งขาลงไปไกลเกินไปขณะรักษาสมดุลของร่างกายไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 5 จนกลับไปสู่ท่าคุกเข่า

* ข้อควรระวัง ไม่ควรลองท่าแมงป่อง จนกว่าคุณจะสามารถทำท่าที่ต้องใช้สมดุลของร่างกายอื่นๆ และไม่เหมาะกับสตรีมีรอบเดือน



ท่าพฤกษอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต พฤกษะหมายถึง ต้นไม้ ท่านี้จึงเรียกว่าท่าต้นไม้

"ยืนตรงบนขาซ้าย งอขาขวาและวางขาขวาไว้บนโคนขาซ้าย ยืนเหมือนต้นไม้ ยืนอยู่บนพื้นดิน นี่คือท่าพฤกษอาสนะ"

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิด แขนแนบลำตัว

• งอเข่าขวา ยกต้นขาขวา และยก ส้นเท้าขวาไปบนต้นขาซ้ายด้าน ในให้โกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้

• ทรงตัว บนเท้าซ้าย ยกแขนทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ และให้ฝ่ามือประชิดกัน

คงท่านี้ไว้ขณะค่อยๆ หายใจ ประมาณ 10 ช่วงหายใจเข้าออก


• ลดแขนและขาขวาลง และกลับไปสู่ตำแหน่งในข้อ 1 คือการยืนหน้าชิด แขนแนบลำตัว หยุดพักสักครู่ และทำซ้ำด้วยขาข้างหนึ่ง



ศพอาสนะ



ความหมาย

• ความหมาย คำว่า ศพ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ร่างที่ตายไปแล้ว

"การนอนลงที่พื้นเหมือนศพ เรียกว่า ศพอาสนะ ช่วยกำจัดความเหนื่อยล้าและให้จิตใจได้พักผ่อน" จากหัตถโยคะปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย อย่าให้ขาแตะกัน แขนราบไปกับลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น

• หลับตาลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

• งอข้อศอก วางฝ่ามือบนพื้นใต้ไหล่ ให้นิ้วชี้ไปด้านหลัง

• มุ่งความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย จากหัวถึงเท้า แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน

• คงท่านี้ไว้ 10-15 นาที หากรู้สึกง่วงนอนขณะทำท่านี้ ให้หายใจเร็วและลึกขึ้น

• ครั้งแรกที่ฝึก ให้คงท่าศพอาสนะไว้ 10 หรือ 15 นาที กลับมาทำซ้ำเป็นระยะๆ ในช่วงฝึกท่าต่างๆ เพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นร่างกาย / จิตใจ

คำแนะนำ

บางคนคิดว่าท่านี้ง่ายมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จุดประสงค์ของศพอาสนะ คือ ให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นอกจากร่างกายจะต้องนิ่งและผ่อนคลายแล้ว จิตใจยังต้องนิ่งราวกับผิวน้ำที่ปราศจากการรบกวนอีกด้วย

ผลที่ได้คือการผ่อนคลายอย่างล้ำลึกและนิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิต่อไป

การฝึกศพอาสนะนั้นต้องใช้เวลา การกำหนดความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนและ กำหนดลมหายใจล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการฝึกท่านี้อย่างยิ่ง

อุปสรรค 2 อย่างที่อาจลดคุณค่าการฝึกศพอาสนะ ก็คือ ความง่วงและจิตใจที่ฟุ้งซ่าน หากรู้สึกง่วงขณะฝึก ให้กำหนดลมหายใจให้ลึกขึ้น

หากจิตใจไม่นิ่ง ให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กำหนดจิตไปที่พื้นหรือที่จังหวะลมหายใจของคุณเอง

การฝึกศพอาสนะควรทำก่อนและหลังการฝึกอาสนะเป็นประจำ


ข้อมูลจาก
Practice 01





------------------------------------------------------------------------------

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons