วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

::วรรณกรรมเรื่องธรรมดาสอนโลก::bandonradio

๒.  วรรณกรรมเรื่องธรรมดาสอนโลก
       เป็นวรรณกรรมคำสอนมีลักษณะคล้ายกับการสั่งให้รอบคอบในเรื่องทุกด้านของชีวิตทั้งที่สาเหตุของความเสื่อมและความเจริญระหว่างคู่สมรสและเป็นข้อเตือนว่าให้ประพฤติตามแบบอย่างนี้ไม่ควรปฏิบัตินอกรีตจากจารีตประเพณีอันดีงามถ้าไม่ทำอย่างนี้จะเป็นอัปมงคลหรือที่ชาวอีสานเรียกว่า  “ขะลำ”แก่ผู้กระทำนั้นหรือเกิดความวิบัติ  ในการเริ่มเรื่องนี้นั้นท่านได้กล่าวถึงพระจริยาวัตรอันดีงามของพระพุทธเจ้าผู้แวดล้อมด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย๒๘องค์  ในเรื่องธรรมดาสอนโลกนี้มี  ๑๗  เรื่องใหญ่ๆแต่พอสรุปได้เป็น  ๖  อย่างดังนี้คือ
๑)  พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นถึงโทษของการประพฤติผิดจารีตคลองธรรม  ที่เรียกว่าธรรมดาสอนโลก  โดยยกตัวอย่างของเศรษฐีผู้ตกยากมากล่าวเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงความที่เศรษฐีผู้ประพฤติผิดศีลธรรม  เหตุนั้นพระอรหันต์ ๒๘  องค์ก็สนทนากันในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
            ดูราภิกขูเฮยจ่งฟัง        เฮาเว้า
            เศรษฐีนี้ผิดคลอธรรม        สอนโลก จริงแล้ว
    ท่านเผาผี    บ่ชอบแท้ คองนั้น        ก็จิ่งตาย นั้นดาย
    มันก็        เอาผีย้าย เทิงขัว            หามไต่  ไปนั้น
            เผาจูดไหม้ ดีแล้ว        จิงต่าวคืน
    อันนี้        ขวางขนาดแท้เทศนาสอนสั่ง    มานั้น
    หากจัก        ชำเขือกฮ้อน เมืองบ้าน        บ่สบาย
    ใผผู้        ใจหม่อตื้น ขืนล่วง        คลองธรรม ดังนั้น
    เงินคำ        สังทาสา โคตรวงศ์        ก็หายเสี้ยง
            บ่หลอแท้ ตัวตาย            จมจุ่ม ไปแล้ว
    พระเจ้า        เทเทศน์ไขแจ้ง            จื่อเอา แท้เนอ.
๒)  คำสอนเรื่องการเลือกคู่สมรสได้บอกลักษณะหญิงดีหรือชั่ว  ถ้าเลือกหญิงกาลกิณีจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง และสังคมญาติด้วยดังคำสอนดังนี้คือ
การเลือลูกสะใภ้
            อันหนึ่งครั้นจักเอาหญิงให้เป็นนางใภ้ร่วมเฮือน
            หญิงใดฮู้ฉลาดตั้งการสร้างก็จิ่งเอานั้นเนอ
            อันหนึ่งรู้ฮีตเฒ่าสอนสั่งตามคอง
            การเฮือนนางแต่งแปลงบ่มีคร้าน
            หญิงนี้ควรเทาแท้เป็นนางใภ้ร่วมเฮือนแล้ว
การเลือกลูกเขย
            ชายใดมีใจตั้งในบุญทุกเช้าค่ำ
            กับทั้งใจฉลาดฮู้ความเฒ่าสั่งสอน
            กับทั้งมีผญาแก้ปัญหาทุกสิ่ง
            ความคึดดีสอดแส้วชู่อันแท้จิ่งให้เอา
๓)  ข้อห้ามไม่พึงประพฤติซึ่งเป็นผลเพียงอัปมงคล(ขะลำ)เท่านั้นไม่ถึงกับเสียหายมาก ดังคำสอนดังนี้คือ
สอนพ่อบ้าน
        อันหนึ่งเป็นพ่อเฮือนนั้นอย่าโกรธากริ้วโกรธ
        อย่าได้ฟันเพม้างข้าวของเครื่องเฮือนนั่นดาย
        ให้อิดูแท้ของเฮือนหมดทุกสิ่งจิ่งดีดาย
        คันว่าใผหากฮ้ายกลายเสี้ยงซู่อันนั่นแล้ว
        ฝูงหมู่ไทอยู่ใกล้เขาก็ย่อมยินซัง
        บ่มีใผกูร์ณาท่อจ่มขวัญทั้งบ้าน
        มันจักมีของล้นเหลือเยียหลายหมื่นก็ดี
        ใผผู้ทำดังนั้นจีบหายเสี้ยงบ่ยัง แท้ดาย
สอนแม่บ้าน
        อันหนึ่งเป็นเมียให้ยำผัวทั้งฮักยิ่ง จริงดาย
        บัวระบัติผัวชอบแท้คือพระยาเศรษฐี นั่นแล้ว
        อันหนึ่งนอนให้นอนลุนให้ลุกก่อน
        ให้หุงหาน้ำทั้งผ้าเช็ดมือนั่นแล้ว
        อันหนึ่งเมื่อถึงวันศีลให้สมมาผัวทุกเมื่อดีดาย
        แล้วให้ปัดกวาดแผ้วเฮือนเหย้าให้ฮุ่งเฮือง
        เมื่อผัวกินข้าวอย่าให้ของกินเงื่อนตัวดาย
        อย่าได้กล่าวคำฮ้ายตอบเถียงกันเน้อ
        อย่าให้ผัวบัวระบัตยังตัวกลัวจักบาปแล้ว
        เอาแต่เพื่อนคิดเห็นฮู้ช่างอ่อนนั้นเทิน
        อันหนึ่งเทียวเฮือนให้ลีลาค่อยย่างนางเอย
        อย่าได้ปากลื่นพ้นเฮือนเหย้านั่นดาย
        ยามจักนอนอย่าได้ลืมทุกเช้าค่ำคำเฮย
        ให้เอาผมเช็ดพื้นตีนแล้วจึงค่อยนอน นั่นเน้อฯ
    บัวระบัติ  -ปรนนิบัติ    ยำ  -ยำเกรง    ลุน  หลัง,ภายหลัง    สมมา  -ขอขมา
    เงื่อน  -ของเหลือเดน    ลื่น  ดื้อรั้น  นอกคอก    เฮือน  -เรือน    ย่าง  -เดิน
๔)  สอนเรื่องการปลูกบ้านเรือนและวิธีเลือกไม้ที่เป็นมงคล-อัปมงคลและหาไม้ที่เป็นมงคลยิ่งมาทำเป็นเสาเอกและเสาขวัญ  ดังนี้คือ
    อันหนึ่งไม้เกิดตั้งจุมปวกเทิงจอมก็ดี    ใผผู้เอามาแปงเฮือนก็บ่ดีจริงแท้
    อันหนึ่งไม้จมดินผังอยู่ก็ดี            ใผหากเอาสร้างเหย้าก็ขวงแท้เที่ยงจริงแล้ว
    ไม้นอนขอนล้มบาท้าวอย่าได้เอาแท้ดาย    ใผหากเอามาสร้างจิบหายขวงยิ่งจริงแล้ว
    อันหนึ่งไม้อยู่น้ำก็ขวงแท้ดังเดียว        มันจักเป็นลำงามก็อย่าเอามาสร้าง
    ไม้ฟ้าผ่านั่นก็ขวงยิ่งแสนสนัดมากแล้ว    อย่าได้เอามาเป็นเครื่องเฮือนกระทำสร้าง
    อันหนึ่งไม้ตายยืนตั้งอยู่ก็ดี        ก็หากขวงยิ่งล้ำคำไร้บ่เหือดคิงนั่นแล้ว
    อันหนึ่งไม้ตายแล้วล้มอยู่เป็นขอน        อย่าได้เอามาแปงสร้างกระทำเหย้า ฯลฯ
    ความหมายคำศัพท์
    จุมปอก  -จอมปลวก    เทิง  -บน    ขวง  -เสนียดจัญไร,ความหายนะ    แปง  -สร้าง    คำไร  -ความยากไร    คีง  -ตัว ตน ร่างกาย    ใผ  -ใคร    เหย้า  -บ้าน,เรือน
ไม้ที่เป็นมงคลดังนี้คือ
    ลำใดตั้งเหนือดินเพียงราม        บ่สูงบ่ต่ำบ่คล้อยไปแท้ฝ่ายใด
    ใบมันบ่คงเคืองต้นอื่น            ลำปลอดเกลี้ยงเกลากลมง่าซุ่ม
    หลิ่งดูแท้คือโสมงามกางร่ม        ก็บ่มีง่าคานตายค้างอยู่แกม
    ให้มีมดส้มพร้อมดำแดงมาอยู่ลำนั้น    มีทั้งนกพร่ำพร้อมมาอยู่นอนคอน
    ลำนี้เป็นมุงคนประเสริฐดีเสาแก้ว        ลำนี้ให้เอามาเป็นเสาเอก
    ดีขนาดแท้เรือนแก้วเศรษฐี นั่นแล้ว  ฯลฯ
    ความหมายคำศัพท์
    ราบ  -พอดี  ขนาดพอดี        โสม  -โฉม  หญิงงาม    มุงคุน  -มงคล  -
    ง่า  -กิ่งก้าน            แกม  -ประปน
๕)  สอนในเรื่องข้อห้ามการเผ่าศพ  คือศพที่ตายผิดปรกติถือว่าผีจะแร้งกว่าผีเรือนบ้างเมื่อเผ่าและกลัวว่าญาติพี่น้องจะถึงแก่กรรมบ้างจึงให้นำศพนั้นไปฝัง  เป็นการป้องกันโรคระบาดมากกว่า  ดังคำสอนดังนี้คือ
    อันหนึ่งตายลงท้องตายออกตุ่มและบวม    บ่ควรเอาไปเผ่าส่งสการะจริงแท้
    อันหนึ่งตายดึกน้ำตายหูงตกเฮือนก็ดี    บ่ควรเอาไปเผ่าซิเดือนฮ้อนขวงแท้
    อันหนึ่งเป็นฟกเทาเต็มคิงตายไข่        บ่ควรเผาเที่ยงแท้นาเจ้าบ่ดี
    ตายช้างฆ่าม้าดีดเสือขบก็ดี        ตายวัวชนหมู่งูขบเขี้ยวตายตกไม้ก็ดี
    ฝูงนี้ธรรมไขไว้บ่ควรเผาแท้ต่างดาย    ตายนำมอกหอกแลแหลนหลาวก็ดี
    ตายด้วยเซิกคาซีกซวนเหล็กก็ดี        ตายด้วยโรคามีเลือดแดงไหลย้อย
    ในธรรมห้ามบ่ควรเผาสักสิ่งพระยาเอย    มันจักแพ้พ่อบ้านพงศ์เชื้อพ่อแม่นั่นดาย
    ครั้นอิดูให้เผาไปที่อื่น            อย่าได้รวมป่าช้าซิขวงขนาดแท้ ฯลฯ
ความหมายคำศัพท์
    ส่งสการะ  -พิธีปลงศพ    ดึกน้ำ  -จมน้ำ    หูง  -ตายโหง    ตายไข  -โรคท้องโต,บวม
    ขบ  -กัด    เซิก คาซีก -เครื่องจองจำ    อิดู  -เอ็นดู,เมตตา  คีง  -ร่างกาย
๖)  สอนขุน  เจ้าพระยาให้ยึดมั่นในครรลองแห่งธรรมะโดยยึดหลักพุทธปรัชญานั้นเองดังนี้คือ
    ดูราร้อยเอ็ดตนพระยาใหญ่ฟังเน้อ        เรานี้เป็นย่อนท้าวเทวดาคำซูซอย แท้ดาย
    อันจักเป็นเหตุให้จิบหายจมจุ่ม แท้ดาย    โลภคติสี่นี้เป็นเค้าแก่เฮา
    ใผผู้โลภาพ้นผิเอาของท่าน        โทโสทำโทษให้เสียแล้วจึงเอา
    โมหาทำตัวร้ายผิเอาของท่านศรัทธา    เห็นแก่ได้บ่มีฮู้บาปบุญ
    เห็นแก่สินท่านจ้างเข้ามาสับส่อ        มะนะทิฐิก็เข้าคำร้ายเกิดมี
    ก็บ่ฟังคำผู้มีผญาต้านกล่าว        มักลื่นได้ของแท้ก็บ่มี  แท้แล้ว
    เมตตากรุณาอย่าได้วางจักเมื่อ        มุทิตาอุเบกขาจือไว้จำมั่นอย่าไล แท้ดาย
    อันหนึ่งโกรธาร้ายอย่าได้ทำตามคำเคียด    ให้พิจารณาถี่ถ้วนเสียแล้วจึงทำ
    อันหนึ่งฟังหมู่ขุนเฒ่าพิจารณาคุณโทษก็ดี  ให้เอาตามฮีตบ้านเมืองแท้แห่งโต นั่นเน้อ
    ในโลกนี้มีฮีตห่อนเสมอกันแท้ดาย    ฝูงใดเอาคองเพื่อนมาหลงเค้า
    เป็นขุนให้จาความให้มั่นแน่ จริงเทิน    อย่าเห็นแก่ใกล้ฝ่ายไส้โครตวงศ์แท้ดาย
    โตหากเทียวทางไกลปักตูเรือนซิฮ้อน    อย่าได้ปบแล่นปลิ้นคืนแท้อยู่หลังเพิ่นดาย
    ครั้นว่าความให้ตัดไปด้วยซื่อ        ทางงูอย่าให้เคียดทางเขียดอย่าให้ตาย
    ก็จึงมิ่งมังคละเข้าขุนพิจารณ์โสภาพ จริงแล้ว 92ฯลฯ
ความหมายศัพท์
    ย่อน  เพราะ
,เหตุว่า    สับส่อ  -ตลบตะแลง    จุ่ม  จม    ปบ  -รีบเร่ง    ค้ำ  ค้ำจุน
    คนิง  คำนึง คะนึง    เค้า  -ต้น  ต้นเหตุ        ต้าน  -พูดจา  เจรจา      ไล  -ลืม
    ปักตู  -ประตู        โสภาพ  สุภาพ        ท่อน  ไม่    จือ  -จำ  พู้น  โน้น
    โต  ตัวเรา    เคียด  -โกรธ  พี้  -นี้ 

bandonradio




กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]


โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคีและชนชั้นวรรณะพราหมณ์
เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน
โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ( Hatha Yoga )
ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา



ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหารร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ
เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้
หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี



โยคะท่าพื้นฐาน

ท่านมัสการ




ความหมาย


• นมัสการ หมายถึง ทำความเคารพ



วิธีปฏิบัติ


• ยืนหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เท้าชิด พนมมือ

• หายใจเช้าและยกแขนขึ้น ค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง ยื่นแขนเหนือศีรษะ

• หายใจออกช้าๆ เอนตัวไปข้างหน้า ให้มือที่พนมอยู่สัมผัสพื้นจนกระ ทั่งมืออยู่ในแนวเดียวกับเท้าศีรษะสัมผัสหัวเข่า

• หายใจเข้า ก้าวเท้าขวาถอยหลังมา 1 ก้าว ให้มือและเท้า ยังคงอยู่กับพื้น เท้าซ้ายอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• ขณะหายใจออก ยกเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา แขนตรงยกสะโพกขึ้นให้ศีรษะ และแขนอยู่ในแนวเดียวกัน ทำท่าเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าและค่อยๆ ลดสะโพกลงมาที่พื้น (ให้สะโพกอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย) ก้มตัวลงไปข้างหลังให้มากที่สุด

• หายใจออก และลดตัวลงมาที่เท้า เข่า มือ และอก สัมผัสพื้น

• หายใจเข้า และค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยศีรษะไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด และโค้งกระดูกสันหลังไปให้ได้มากที่สุด เหมือนท่านาคอาสนะ

• ขณะหายใจออกช้าๆ และให้แขนอาสนะ ยกสะโพกขึ้น และให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกับแขน ทำเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าช้าๆ และงอเข่าซ้าย ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือยังคงอยู่ที่พื้น วางเท้าซ้ายลงบนพื้นระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• หายใจออกช้าๆ ให้มืออยู่ที่เดิม ดึงเท้าทั้งสองเข้ามาชิดกัน ให้อยู่แนวเดียวกับมือถ้าเป็นไปได้ ให้ศีรษะสัมพันธ์กับหัวเข่า

• หายใจเข้าช้าๆ และยกแขนขึ้น ค่อยๆเอนตัวไปข้างหลัง โดยยื่นแขนขึ้นเหนือศีรษะ ย้อนกลับไปตำแหน่งยังข้อ 1



ท่าชวังคอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต ชว หมายถึง ทั้งหมด หรือ ทุกๆ อังคะ หมายถึง ร่างกาย ชวังคะ จึงหมายถึง ทำทั้งร่างกาย

ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นท่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน ท่านี้มักเรียกกันว่า ท่ายืนบนไหล่

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงายในท่า ศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้นขณะงอเข่าและดึงเข่าเข้ามาที่ท้อง หายใจออก

• หายใจเข้าช้าๆ กดฝ่ามือลง ยกลำตัวตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นจากพื้น งอกระดูกสันหลังไปข้างหลัง และทำท่อนแขนให้ตรง ให้สะโพกอยู่บนพื้น

• หายใจเข้าแล้วในขณะหายใจออก ให้ยกขาตั้งฉากกับพื้น อาจใช้มือพยุงสะโพกไว้ หรือวางแขนไว้ลงกับพื้นตามถนัด

• ขาดชิด เข่าตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น ศีรษะตรงไม่หันไปด้านใดด้านหนึ่ง เก็บคางให้ชนหน้าอก

• หายใจเข้า ออก ช้าๆ ขณะคงท่านี้ไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 6 จนกลับสู่ท่าศพอาสนะ



ท่าตรีโกณอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ตรี ในภาษาสันสกฤตหมายถึง สาม โกณ หมายถึง เหลี่ยมหรือมุม

ดังนั้น ท่านี้จึงเรียกว่า ท่าสามมุม หรือท่าสามเหลี่ยม

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิดแขนแนบลำตัว

• แยกเท้าออกจากกัน ให้ระยะห่างมากกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย

• หายใจเข้าและยื่นแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้น ฝ่ามือคว่ำลง

• หายใจออกช้าๆ หันลำตัวไปทางซ้าย งอตัวที่ช่วงเอว ให้มือขวาลงไปที่แข้งซ้าย ฝ่ามือขวา วางไว้ข้างนอกของหน้าแข้งซ้าย

แขนซ้ายควรยื่นออกไปด้านบนขาและแขนทั้งสองข้างตรง โดยไม่ต้องงอเข่าและข้อศอก


• หันศีรษะขึ้นไปทางซ้าย มองไปที่ปลายนิ้วมือซ้าย หายใจเข้า และกลับไปสู่ท่าเดิม คือท่ายืน ให้แขนกางออก

• คงท่านี้ไว้ เท่ากับช่วงหายใจออก หายใจออกและทำซ้ำ ขั้นตอนที่ 4-7 สลับซ้าย



ศีรษะอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ศีรษะ หมายถึง หัว ในภาษาสันสกฤต ท่านี้คือ ท่ายืนด้วยศีรษะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการฝึกอาสนะ ไม่แพ้ท่าปทมอาสนะ

ด้านบนคือภาพโมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพโยคีขณะทำท่าศีรษะอาสนะ

วิธีปฏิบัติ


• นั่งคุกเข่า ให้สะโพกอยู่บนส้นเท้า

• เอนตัวไปข้างหน้า วางแขนลงบนพื้น ให้ศอกห่างกัน 1 ช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน

• วางศีรษะลงบนพื้น ให้ท้ายทอยสัมผัสมือที่ประสานไว้

• ให้ปลายเท้าจิกพื้น ขณะยกส้นเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น

• คงท่านี้ไว้เป็นระยะเท่ากับการหายใจเข้า ถ้าไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ให้ค่อยๆ หายใจออก และนอนราบกับพื้น กางขาออก กลับไปสู่ท่าศพอาสนะ



หลอาสนะ



ความหมาย

• หล แปลว่า คันไถ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย แบบท่าศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำที่พื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้น งอเข่าเข้ามาจรดท้องขณะหายใจออก

• หายใจเข้า ขณะหายใจออกให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับพื้น คุณอาจใช้มือพยุงสะโพก หรือวางแขนราบไปกับพื้นแล้วแต่ถนัด

• หายใจออก แล้วยกขาขึ้นเหนือศีรษะ งอขาตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ยกหลังและสะโพก จนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นด้านหลังของศีรษะ รักษาเท้าให้ชิดกัน

หากใช้มือพยุงหลังให้ลองวางแขนราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง ถ้าไม่สามารถวางแขนลงที่พื้นได้ให้ใช้มือพยุงหลังส่วนล่างไว้


• เข่าตรง หายใจช้าๆ และคงท่านี้ไว้สักครู่ ถ้านิ้วเท้าสัมผัสพื้นไม่ได้ ก็พยายามให้นิ้วเท้าอยู่ต่ำที่สุด

• ทำท่าย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 5 ถึง 1 จนกลับไปสู่ท่าศพอาสนะเหมือนเดิม




ธนูอาสนะ




ความหมาย

• คำว่าธนู ในภาษสันสกฤต หมายถึง มีรูปร่างเหมือนคันศร โค้ง หรือ งอ คันศร

ในที่นี้หมายถึง คันศรที่ใช้กับลูกธนู ท่าอาสนะนี้ มีชื่อแบบนี้เนื่องจาก ร่างกายมีท่าทางคล้ายคันศรที่โก่งพร้อมยิงธนู

วิธีปฏิบัติ


• นอนคว่ำหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนราบไปกับลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น

• หันหน้ามาเพื่อวางคางไว้บนพื้น หายใจออก งอเข่า เอื้อมแขนไปข้างหลัง จับข้อเท้าขวาไว้ด้วยมือขวา จับข้อเท้าซ้ายด้วยมือซ้าย

• ขณะหายใจเข้า ค่อยๆ ยกขาขึ้นโดยดึงข้อเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น และยกอกขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน

กลั้นลมหายใจเข้าเอาไว้ ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนหน้าท้อง


• ยื่นศีรษะให้ไกลที่สุด คงท่านี้ไว้ขณะกลั้นหายใจ

• หายใจออกช้าๆ วางเข่าลงบนพื้น ปล่อยข้อเท้า ค่อยๆ วางขาและแขนลงบนพื้น หันหน้าไปข้างหนึ่ง ทำเหมือนท่าเริ่มต้น



ท่าพิจิกอาสนะ



ความหมาย

• ท่าพิจิกหรือท่าแมงป่อง ในท่านี้ ร่างกายจะดูเหมือนแมลงป่อง ที่ยกหางโค้งขึ้นเหนือหัว พร้อมจะต่อยคู่ต่อสู้

แม้ท่านี้จะดูยากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

วิธีปฏิบัติ


• คุกเข่าลงที่พื้น โน้มตัวไปข้างหน้า วางศอกและแขนด้านในราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง แขนควรห่างกันประมาณ 1ช่วงไหล่

• ยื่นศีรษะไปข้างหน้าและยกให้สูงที่สุด

• ยกสะโพกขึ้น วางเท้าให้มั่นคง

• หายใจเข้าและแกว่งขาขึ้นไปเหนือศีรษะ รักษาสมดุลของร่างกายไว้ ยกขาตรงขึ้นเหนือศีรษะ

• ค่อยๆ งอเข่าและปล่อยขาลงมาทางด้านศีรษะ ระวังอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และอย่าทิ้งขาลงไปไกลเกินไปขณะรักษาสมดุลของร่างกายไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 5 จนกลับไปสู่ท่าคุกเข่า

* ข้อควรระวัง ไม่ควรลองท่าแมงป่อง จนกว่าคุณจะสามารถทำท่าที่ต้องใช้สมดุลของร่างกายอื่นๆ และไม่เหมาะกับสตรีมีรอบเดือน



ท่าพฤกษอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต พฤกษะหมายถึง ต้นไม้ ท่านี้จึงเรียกว่าท่าต้นไม้

"ยืนตรงบนขาซ้าย งอขาขวาและวางขาขวาไว้บนโคนขาซ้าย ยืนเหมือนต้นไม้ ยืนอยู่บนพื้นดิน นี่คือท่าพฤกษอาสนะ"

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิด แขนแนบลำตัว

• งอเข่าขวา ยกต้นขาขวา และยก ส้นเท้าขวาไปบนต้นขาซ้ายด้าน ในให้โกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้

• ทรงตัว บนเท้าซ้าย ยกแขนทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ และให้ฝ่ามือประชิดกัน

คงท่านี้ไว้ขณะค่อยๆ หายใจ ประมาณ 10 ช่วงหายใจเข้าออก


• ลดแขนและขาขวาลง และกลับไปสู่ตำแหน่งในข้อ 1 คือการยืนหน้าชิด แขนแนบลำตัว หยุดพักสักครู่ และทำซ้ำด้วยขาข้างหนึ่ง



ศพอาสนะ



ความหมาย

• ความหมาย คำว่า ศพ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ร่างที่ตายไปแล้ว

"การนอนลงที่พื้นเหมือนศพ เรียกว่า ศพอาสนะ ช่วยกำจัดความเหนื่อยล้าและให้จิตใจได้พักผ่อน" จากหัตถโยคะปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย อย่าให้ขาแตะกัน แขนราบไปกับลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น

• หลับตาลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

• งอข้อศอก วางฝ่ามือบนพื้นใต้ไหล่ ให้นิ้วชี้ไปด้านหลัง

• มุ่งความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย จากหัวถึงเท้า แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน

• คงท่านี้ไว้ 10-15 นาที หากรู้สึกง่วงนอนขณะทำท่านี้ ให้หายใจเร็วและลึกขึ้น

• ครั้งแรกที่ฝึก ให้คงท่าศพอาสนะไว้ 10 หรือ 15 นาที กลับมาทำซ้ำเป็นระยะๆ ในช่วงฝึกท่าต่างๆ เพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นร่างกาย / จิตใจ

คำแนะนำ

บางคนคิดว่าท่านี้ง่ายมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จุดประสงค์ของศพอาสนะ คือ ให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นอกจากร่างกายจะต้องนิ่งและผ่อนคลายแล้ว จิตใจยังต้องนิ่งราวกับผิวน้ำที่ปราศจากการรบกวนอีกด้วย

ผลที่ได้คือการผ่อนคลายอย่างล้ำลึกและนิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิต่อไป

การฝึกศพอาสนะนั้นต้องใช้เวลา การกำหนดความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนและ กำหนดลมหายใจล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการฝึกท่านี้อย่างยิ่ง

อุปสรรค 2 อย่างที่อาจลดคุณค่าการฝึกศพอาสนะ ก็คือ ความง่วงและจิตใจที่ฟุ้งซ่าน หากรู้สึกง่วงขณะฝึก ให้กำหนดลมหายใจให้ลึกขึ้น

หากจิตใจไม่นิ่ง ให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กำหนดจิตไปที่พื้นหรือที่จังหวะลมหายใจของคุณเอง

การฝึกศพอาสนะควรทำก่อนและหลังการฝึกอาสนะเป็นประจำ


ข้อมูลจาก
Practice 01





------------------------------------------------------------------------------

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons