วรรณกรรมประเภทพุทธศาสนา
เป็นวรรณกรรมที่มาจากหลายแหล่งคือจากพระไตรปิฏกก็มี และจากปัญญาชาดกก็มี ส่วนวรรณกรรมในด้านพุทธศาสนาของภาคอีสานนั้นได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรล้านช้าง เพราะเหตุว่าชาวอีสานนั้นส่วนใหญ่รับวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขงมาโดยตลอด ดังนั้นวรรณกรรมที่เป็นของพุทธศาสนาโดยตรงก็คือ วรรณกรรมเรื่องพระเวสสันดร หรือ “เวสฺสนฺตรชาดก” อันเป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยพระบุพจริยาของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีเป็นชาติสุดท้าย ชาดกนั้นเดิมเป็นภาษามคธหรือภาษาบาลี เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธพจน์นับเนื่องอยู่ในขุททกนิกายฝ่ายพระสุตตันปิฏก พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นพระคาถา คือคำประพันธ์ประเภทฉันท์ตลอดเรื่อง มีความยาวกำหนดเป็นคาถาได้ถึง ๑๐๐๐ คาถา เหตุผลที่ทำให้การฟังเทศน์มหาชาติได้รับความศรัทธาเชื่อถือมีอยู่ด้วยกัน ๓ ประการใหญ่ๆคือ
๑) เชื่อกันว่า เป็นพระพุทธวจนะซึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสประทานเทศนาแด่พระภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัทฝ่ายพระญาติ ณ นิโครธาราม ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพุทธบริษัทได้ฟังแล้วเกิดความเป็นสิริมงคล เป็นกุศลบุญราศี ผู้ที่ยินดีแสวงบุญก็ย่อมมุ่งหมายที่จะได้บำเพ็ญบุญยิ่งๆขึ้นไป
๒) เชื่อกันว่า พระศรีอาริยเมตไตรยเทพบุตรซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ต่อจากพระพุทธศาสนาของพระศรีศากยะมุนีสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ไป อันอุบัติอยู่ในเทวโลกสวรรค์นั้นได้มีเทวโองการสั่งพระมาลัยมหาเถรว่า ถ้ามนุษย์ต้องการพบและร่วมเกิดกับท่านจงอย่าฆ่าตีพ่อแม่สมณพราหมณาจารย์ อย่าทำร้ายพระพุทธเจ้าและยุยงสงฆ์ให้แตกกัน ให้ตั้งใจฟังมหาเวสให้จบในมื้อหนึ่งวันเดียวจะได้เกิดร่วมและได้พบกับศาสนาของพระองค์ ซึ่งเชื่อกันว่ามนุษย์จะมีแต่ความเจริญ เป็นที่เกษมสุขอย่างยิ่งยวด เป็นต้นว่า รูปก็งามจนลงจากบันไดเรือนแล้วจำหน้ากันไม่ได้ และปรารถนาสิ่งใดก็ได้สมปรารถนา ด้วยมีต้นกัลปพฤษ์สำหรับจะให้ผู้ที่นึกอยากได้สิ่งนั้น ส่วนแผ่นดินก็ราบเป็นหน้ากลอง อาศัยเหตุนี้ประชาชนจึงพากันเอาบุญมหาชาติเป็นประจำทุกปี
๓) มหาชาตินี้ ท่านผู้เทศนาก็ทำสำแดงกระแสเสียงเป็นทำนองอันไพเราะต่างๆตามท้องถิ่นของตนที่คนนิยมทำนองเทศน์เสียงแบบไหน ทางภาคอีสานเรียกว่า ทำนองเทศน์แหล่มหาชาติ สามารถจะให้เกิดความปิติโสมนัสรื่นเริงบันเทิงใจแก่ผู้ฟังเพราะสำเนียงการเทศน์นั้นสร้างบรรยากาศไม่ให้เกิดความง่วงแม้ว่าจะฟังกันทั้งวันก็ตาม ซึ่งผิดกับการฟังเทศน์อย่างอื่นเพียงไม่นานคนก็เริ่มง่วงแล้ว จะด้วยเหตุผลนี้เองจึงเป็นที่นิยมทุกท้องถิ่น
โครงเรื่องของมหาชาติฉบับอีสานนี้ มีเนื้อเรื่องเหมือนกันกับฉบับภาคกลาง จะแตกต่างก็เฉพาะสำนวนโวหารเท่านั้นที่เป็นภาษาถิ่น และสำนวนเทศน์เสียงของท้องถิ่นอีสาน จะมีการเริ่มเทศน์จากกัณฑ์มาลัยหมื่นมาลัยแสนก่อนคือ
๑) มาลัยหมื่น จะกล่าวถึงพระมาลัยเถระเจ้าได้เสด็จไปสวรรค์ชั้นดาวดีงส์ เพื่อนมัสการพระธาตุจุฬามณีและได้พบกับพระอินทร์ และได้สนทนากับพระศรีอาริยเมตไตรยเทพบุตรได้สนทนาเรื่องบาปบุญกับพระศรีอารย์
๒) มาลัยแสน ใจความสำคัญก็ต่อมาจากมาลัยหมื่น คือพระมาลัยเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์และได้นำความมาเล่าแก่มวลมนุษย์ให้เร่งกระทำบุญและได้เล่าว่าถ้าใครได้ฟังมหาชาติจบภายใน ๑ วันจะได้เกิดทันศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย มหาเวสสันดรมีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ ๑๐๐๐ คาถาพอดีดังนี้คือ
๑) ทศพรมี (ทสวรคาถา) ๑๙ คาถา
๒) หิมพานต์ (หิมวนฺต) ๑๓๔ คาถา
๓) ทานกัณฑ์ (ทานกณฺฑ) ๒๐๙ คาถา
๔) วนประเวศน์ (วนปเวสน) ๕๗ คาถา
๕) ชูกชก (ชูชกปพฺพ) ๗๙ คาถา
๖) จุลพน (จูฬวนวณฺณนา) ๓๕ คาถา
๗) มหาพน (มหาวนวณฺณนา) ๘๐ คาถา
๘) กุมาร (ทารกปพฺพ) ๑๐๑ คาถา
๙) มัทรี (มทฺทีปพฺพ) ๙๐ คาถา
๑๐) สักกบรรพ (สกฺกปพฺพ) ๔๓ คาถา
๑๑) มหาราช (หาราชปพฺพ) ๖๙ คาถา
๑๒) ฉกษัตริย์ (ฉกฺขตฺติยปพฺพ) ๓๖ คาถา
๑๓) นครกัณฑ์ (นครกณฺฑ) ๔๘ คาถา
มูลเหตุที่เรียก “มหาชาติ”128
๑) เป็นชาติสำคัญเพราะเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิ์สัตว์ ก่อนที่จะจุติมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ
๒) พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญบารมีมาครบถ้วน ๑๐ ประการ คือ
๑) เนกขัมบารมี คือการบำเพ็ญทางการออกบวช
๒) วิริยบารมี คือการบำเพ็ญทางความเพียร
๓) เมตตาบารมี คือการบำเพ็ญทงแผ่เมตตา
๔) อธิษฐานบารมี คือการบำเพ็ญทางใจมั่นคง
๕) ปัญญาบารมี คือการบำเพ็ญปัญญาความรอบรู้
๖) ศีลบารมี คือการบำเพ็ญทางรักษาศีล
๗) ขันติบารมี คือการบำเพ็ญทางความอดทน
๘) อุเบกขาบารมี คือการบำเพ็ญทางการวางเฉย
๙) สัจบารมี คือการบำเพ็ญทางความเชื่อสัตย์
๑๐ ทานบารมี คือการบำเพ็ญทางการให้ทาน
สัตตมหาทาน คือการบำเพ็ญทานครั้งยิ่งใหญ่ มีสิ่งของ ๗ สิ่ง สิ่งละ ๗๐๐ ได้แก่ ช้าง ม้า รถ นางสนม โคนม ทาสหญิงและทาสชาย
ปัญจมหาทาน คือการบริจาคทานอันยิ่งใหญ่ ๕ ประการได้แก่ ทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต บุตรและ ภรรยา
พระราชประสงค์ของพระเวสสันดรในการบำเพ็ญบุตรทาน
๑) เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์เพื่อให้บรรลุถึงพระโพธิญาณที่ทรงปรารถนา
๒) เพราะพระองค์ทรงปรารถนาที่จะฝึกทดลองความเข็มแข็งของพระทัย เพื่อเตรียมรับเหตุการณ์ในวันข้างหน้าอันเป็นแนวทางให้บรรลุถึงพระโพธิญาณ
๓) เพราะต้องการฝึกให้พระกุมารทั้งสองเป็นคนมีความอดทน มีความเพียรพยายามให้รู้ถึงความทุกข์สุขที่แท้และรู้จักข่มใจให้สำเร็จอริยมรรคได้รวดเร็วในอนาคต
๔) เพราะต้องการสงเคราะห์แก่สัตว์โลกที่ตกทุกข์ได้ยาก อันเป็นผลให้พระองค์บรรลุถึงพระโพธิญาณ
๓) เป็นพระชาติที่พุทธศาสนิกชน เลื่อมใสศรัทธามากกว่าชาติอื่นๆในทศชาติ
ในวรรณกรรมเรื่องนี้ได้พบว่าพระอินทร์ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้พระเวสสันดรและพระนางผุสดีได้บรรลุความปรารถนา ดังนี้ คือ
พระอินทร์ประทานพร ๑๐ ประการแก่นางผุสดี
๑) ให้ได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้าสีวีราชแห่งนครสีพี
๒) ให้มีจักษุดำดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ
๓) ให้มีคิ้วดำสนิท
๔) ให้มีนามว่า “ผุสดี”
๕) ให้มีโอรสที่ใฝ่ในทางทานและมีเกียรติเหนือกษัตริย์ทั้งหลาย
๖) เวลาทรงครรภ์มิให้มีครรภ์นูนปรากฏดังสตรีสามัญทั่วไป
๗) ให้มีถันงามเวลาทรงครรภ์มิให้ดำและไม่หย่อนยาน
๘) ให้เกศาดำสนิท
๙) ให้มีผิวงาม
๑๐)ให้มีอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้
พระอินทร์ประทานพรให้แก่พระเวสสันดร ๘ ประการ
๑) ขอให้พระบิดามีพระเมตตาเสด็จออกมารับพระองค์กลับไปครองราชสมบัติในพระนครสีพี
๒) ขอให้ปลดปล่อยนักโทษจากเรือนจำทั้งหมด
๓) ขออย่าให้ได้อนุเคราะห์คนยากจนในแว่นแคว้นในบริบูรณ์ด้วยสรรพโภคสมบัติ
๔) ขออย่าให้ละอำนาจสตรี ล่วงภรรยาท่าน ให้พอใจในพระชายาของตนเอง
๕) ขอให้พระโอรสทั้งสองที่พระชนมายุยืนนาน และได้เป็นกษัตริย์ต่อไป
๖) ขอให้ฝนแก้ว ๗ ประการตกลงในเมืองสีพีขณะที่พระองค์เสด็จถึง
๗) ขอให้สมบัติในท้องพระคลังอย่ารู้หมดสิ้น ในขณะที่บริจาคแก่คนยากจน
๘) เมื่อสิ้นพระชนย์แล้วให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตและเมื่อจุติลงมาเป็นมนุษย์ขอให้บรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
อิทธิพลต่อแนวความเชื่อของคนอีสาน
๑) ความเชื่อในเรื่องบุญบาป
เทื่อนี้เวรหลังเจ้าจอมธรรม ทั้งสี่
หนีบ่พ้นเวรซิให้ ห่างกันฯ
คันว่าบุญมีได้พระราชา ชราโผด
โชคลาภล้นหลวงให้ ย่อมดีแท้แล้ว
ลางเทื่อกรรมเข็ญข้องความซวย ซ้ำตื่ม
พระโจทก์แจ้งหาเถ้า ว่าโจรฯ
อันว่าสมบัติเถ้าชูชะโก นับโกฏิ
เลยเล่ากลับต่าวปิ้นคืนเข้า สู่พระคลังแท้แล้ว
อันนี้ชื่อว่าบุญบ่มีเถิงได้ความจน ประจำอยู่ จิ่งนอ
แม้นว่าลุโชคได้แสนช้าง บ่ครองได้แล้ว ฯ
๒)ความเชื่อในเรื่องความฝันและลางสังหรณ์
ลางสังหรณ์ของพระอินทร์
ต่อมาเกิดเหตุฮ้อนทิพยอาสน์ บรรทม
อันว่าบุบผาทิพย์เฮียววาย โฮยแห้ง
มีทั้งสีกายเศร้าเสโท ไหลออก
ซิบ่าเบื้องนางน้อง บ่บานฯ
คันว่าอินทร์ล้ำแล้วแจ้งส่อง สรญาณ
ฮู้ว่าเป็นลางเข็ญซิเกิดมี เมื่อหน้า
ผุสดีน้อยเมียแพง เสมอเนตร
นางสิไลแห่งห้องเมื่อฟ้า จากอวน อยู่แล้ว
ความฝันของนางมัทรี
ฝันว่ามาณวะผู้ชายเซ็ง หีนะโหด
โตเติบดำหม้อ หมู่คาม
น้อยจับเกล้าชฏานาง ดึงแก่
น้อยนารถล้มลงพื้น แอ่วยอม
พระกรขวาซ้ายพันสีน ตัดขาด
ง้าวผ่าท้องสาวไส้ โพ่นพุง
มันก็จกเอาได้หัวใจ จอมนารถ
ทั้งเล่าควักพระเนตรหน้า สองเบื้องแบ่งหนีฯ
๓) ความเชื่อในเรื่องความภักดีต่อสามีของนางมัทรีว่า
น้องขอไปตามแก้วผัวแพง เพียรพาก
เดินด่นด้าวดงกว้าง เพื่อนพลอย พี่แล้ว
แม้นว่าแสนสิทุกข์ได้นอนดิน ตางสาด
หรือว่ากินหมากไม้ต่างเข้า บ่แหน่ง พี่เอย
คันว่าพระพี่ห้ามวอนว่า ขวางขัด
น้องสิเอาเครือมัดผูกคอ พันแน่น
หรือสิเอาสิสุมคองฮ้าไฟฟอน เผาจูด
ให้สว่างซ้ำไฟไหม้ มิ่งมรณ์ พี่เอย ฯ
สำนวนพระเวสสันดรภาคกลางกล่าวถึงตอนนี้ไว้ดังนี้คือ
จะบุกป่าฝ่าดงไปแห่งใด ข้าพระบาทก็จะตามเสด็จไปไม่ขออยู่ จะเอาชีวิตแลกายนี้ไปสู้สนองพระคุณ กว่าจะสิ้นบุญข้ามัทรีที่จะละพระราชสามีนั้นหามิได้ แม้จะตกไร้แสนกันดารกินมูลผลาหารต่างโภชนา ก็จะสู้ทรมานหามาปฏิบัติพระองค์ถึงแม้มาตรจะปลดปลงก็มิได้คิด จะเอาชีวิตนี้เป็นเกือกทองรองธุลีพระบาท แม้นมิทรงพระอนุญาตให้ตามเสด็จไป ข้ามัทรีก็จะก่อไฟให้รุ่งโรจน์โดดเข้าตาย เห็นจะดีกว่าอยู่ให้คนทั้งหลายเขานินทา ว่ามีพระภัสดาแต่เมื่อยามสุข ถึงเมื่อยามทุกข์สิไม่ทุกข์ด้วย ดีแต่จะรื่นรวยอยู่ในพระบุรี จะขอตามเสด็จจรลีไปสู้ยากเมื่อยามจน ดุจนางช้างต้นอันยุรยาตรติดตามพระยาราชกุญชร มีงาอันงามสง่าอันสัญจรท่องเที่ยวไป ในทุ่งท่าอันลุ่มลาดก็ติดตามมิได้คลาดพระยาคชสาร อันนี้แลมีอาการฉันใด ข้าพระบาทก็จะพาสองดรุณราชไปมิได้ห่าง แต่เบื้องพระปฤษฎางค์พระร่มเกล้า มาตรว่ามีทุกข์เท่าถึงอันตราย จะวิ่งไปก่อนให้ตายต่างพระองค์ผู้ทรงพระคุณ ประกอบด้วยพระกรุณาแก่ข้าบริจาริกา129
๔) คติธรรม
๑) อันว่าโลกีย์นี้อนิจจัง บ่อเที่ยง จิงนอ
ไผผู้เว้นวางได้ ก็บ่มี ฯ
๒) เทื้อนี้โมหังหุ้มสันดาร ความโกรธ
ปู่โพดแล้วลิ้น หม่อบอน ลูกเอย
๓) ตัณหาหุ้มโทสัง สิงอยู่
มักฮูปน้องลืมบ้าน หย่อนตาย
๔) ชื่อว่าโลกีย์กามห่อนไผ หนีได้
ชื่อว่าแนวนามเชื้อสกุลญิง ยศต่ำ
สุขอยู่ด้วยบุญสร้างพร้ำผัว
๕) ยามเมื่อเจ็บป่วยไข้กลางไพร ไผซิเบิ่งกันนอ
มีแต่สองพี่น้องยามหยุ้ง เบิ่งกันพระเอย