วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

::วรรณกรรมเรื่ออินทิญาณสอนลูก ::บ่าวริมโขง ::bandonradio

๙..วรรณกรรมเรื่องอินทิญาณสอนลูก110
       เป็นการรวบรวมคำผญาภาษิตในท้องถิ่นอีสานจัดรวมเป็นหมวดหมู่  เหมือนกับเรื่องปู่สอนหลานและย่าสอนหลาน  แต่เรื่องอินทิญาณสอนลูกสาวนั้นเป็นไปในลักษณะคตินิยม  จารีตประเพณี  ตลอดจนจริยธรรมอันดีงามของสังคมโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาประมวลรวมเป็นเรื่องราวต่างๆเหมือนวรรณเรื่องอื่นที่นำเอาชาดกบ้าง ธรรมบทบ้างมาปรับเปลี่ยนตัวละครเพื่อให้สอดคล้องกับอุปนิสัยของคนในภูมิภาคนั้นๆ  เช่น เรื่องบัณฑิตหนุ่ม  กับชายเจ้าปัญญาชอบบุตรสาวของเศรษฐี  ได้แต่งงานกันก็ด้วยกลบาย  และมีนิทานหลายเรื่องที่มุ่งสอนให้รู้จักคน  โดยดูเพียงผิวเผินไม่ได้ต้องดูกันนานๆ  ลักษณะวรรณกรรมเรื่องนี้เน้นให้เห็นการเลือกคบคน  การเลือกสามีที่มีความขยัน  มีปัญญา  และใจกว้างนับถือวงศาคณาญาติ  ในขณะเดียวกันก็สอนลูกสาวให้มีจริยธรรมที่ดีงาม  ไม่เล่นชู้  ไม่มีความกำหนัดในกามคุณ  และประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบจารีตประเพณีของบ้านเมือง  ส่วนเรื่องอื่นๆก็นำเอาสุภาษิตมาอธิบาย  สั่งสอนจริยธรรม  คตินิยม  ความเชื่อของสังคมโบราณอีสาน ดังนี้คือ
    ๑)  สอนให้รู้จักเลือกสามีที่มีปัญญาดังนี้
        เพิ่งเอาผัวให้หาแนวนักปราชญ์นั้นเนอ    ใจฉลาดฮู้คลองแท้สั่งสอน
        หญิงใดได้ผัวนามนักปราชญ์        เป็นที่กล่าวเว้ายอย่องทั่วแดน
    ๒)  สอนให้รู้จักการปฏิสันถาร
        ยามเมื่อวงศาเซื้อทางไกลมาฮอด        มักก็ปูสาดไว้จำให้นั่งเทิง
        แล้วค่อยเว้าต่างแม่มาดา            มันก็ทำกระบวนเหมือนพ่อบ้านใจกว้าง
    ๓) สอนให้รู้ลักษณะชายดีหรือเลว
        ชายใดใจโถงหลิ้นบ่มีหวนหาเมื่อ        ผมหมีดเกลี้ยงน้ำมันไล้ลูบเลิง
        แล้วเล่าบายเอาเหล้ามากินบ่มีเหือด    คำปากร้ายฟู่ฟู่ความเว้าแต่โต
        เฮ็ดเวียกให้เพิ่นย่องหาร่วมสาวเห็น    กลางคืนเป็นกลางเว็นเที่ยวละเลนอนค้าง
        มันก็โวโวเว้าคำจาบ่เห็นแก่ใผนั้น        ทำเพศเพียงสกุลเซื้อลูกเสือ
        ฝูงนี้นักปราชญ์เขาหลีกหนีเว็นไกล    แม่นว่าเซินเซอโสมให้ค่อยเอาใจเว้น
    ๔)  สอนหญิงให้รู้จักคุณค่าของเงิน
        ยามใดเข้ามีเงินเต็มถงอย่าฟ้าวอ่ง        ยามเมื่อทุกข์ขมอดไร้เงินนั้นจึงค่อยบาย
        ชาตที่เป็นสาวนี้แปลงเชิงให้มันคล่อง    ผ้าบ่ทันเก่าเกลี้ยงก็อย่าให้ขาดกลาง
        เงินหากหมดเสียขวัญยังดอมไถ่        อันว่าผ้าขาดแล้วแครงนั้นหากซิยัง
    ๕)  สอนให้รู้การทำบุญให้ทาน
        อันหนึ่งเจ้าลุกแต่เช้าประสงค์แต่งจังหัน    ยามเมื่อบายของทานให้ส่วยสีสรงล้าง
        ซื่อว่ากินทานนี้ทำตัวให้ประณีต        อันว่าผมเกศเกล้าเคียนไว้อย่าให้มาย
        ให้ค่อยทำเพียรตุ้มเสมอยุงซุมเหยือ    อย่าได้เฮ็ดตู้เตื้อตีนซิ่นไขว่พานั้นเนอ
        บาดว่าบาปซอกดั้นใผบ่ห่อนหวนเห็นลูกเอย
    ๖  สอนให้รู้จักรักนวลสงวนเพราะผู้หญิงเปรียบเหมือนข้าวสาร
        อย่าได้ทำการชู้หลายชายมักพาบกันนั้น    เป็นดังไซใส่แล้วปลายไม่ถืกลมนั่นแล้ว
        อันหนึ่งเป็นดังศาลากว้างทางหลวงหลังใหญ่  ซูคนสู่แวเข้าเซาแล้วก็เล่นหนีลูกเอย
        หญิงใดแฮงสงวนสู้ตัณหากามโลก    ฝูงหมู่เทพท่อนไท้เห็นแล้วถ่มน้ำลาย
        แม่นว่ามีของได้อันใดบ่ประเสริฐ        แม่นว่ามีลูกน้อยความไห้บ่เหือดคีง
    ๗  สอนให้รู้จักฟังธรรมด้วยใจศรัทธาอย่าไม่เล่นหูเล่นตากับชายหนุ่มเดียวบุญไม่ได้เต็มที่
        ยามเมื่อมหาเณรน้อยตั้งสูตรมหาชัย    ให้เจ้ายอกระพุ่มมือใส่หัวประสงค์น้อม
        ผายแผ่บุณโตสร้างสนองคุณพ่อแม่    อย่าได้เห็นแก่เว้าเชิงชู้สวากเสน่ห์
        คำปากยังกล่าวต้านเรียกว่าเอาบุญ        ใจเล่ายังพาโลกล่าวคำเซิงชู้
        บุญบ่มีหวังค้างคาตัวพอถองคีงแล้ว    อาบน้ำเจ้าบ่ตั้งต่ออันนั้นใจวอนแวนรีบ
        เอาบุญมาคว่าได้บาปร้ายกรรมต้องตื่มเลิง
    ๘)  สอนให้รู้จักทำสังฆทานและเปรียบเทียบไม่ให้หญิงเข้าใกล้ชิดพระดังนี้
        อันหนึ่งยามเจ้าบายของไปแจกทานนั้น    ใจอย่าคิดโลดเลี้ยวเห็นใกล้แก่สมณ์
        อย่าได้อคติด้วยของทานเสมอภาคกันเนอ อย่าได้เห็นแก่สังฆะเจ้าคีงเลื่อมจึงค่อยทาน
        อันหนึ่งอย่าได้เข้านั่งไกล้เคี้ยวหมากนานลุก  ชาติที่แนวมหาเถรดั่งกุญชโรย้อย
        เพิ่นหากลือซาช้างพลายสีดอตัวอาจ    ใผอยู่ลอนนั่งใกล้งาช้างซิเสียบแทงแล้ว
        อันหนึ่งอย่าได้ซำเซียแวมหาเถรยามค่ำ    บ่แม่นแนวลูกช้างคุมคล้องบาปซิกิน
    ๙)  สอนให้รู้จักเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
        อันหนึ่งยามใดเจ้าอยู่ห้องหนแห่งเฮือนตน    ให้ซ่างแปลงกระบวนให้สมสิ่งเฮือซ้าวค้า
        อย่าได้แปลงกระบวนให้สมคือเฮือซ่วง    ฝูงอยู่ใกล้เห็นพื้นเพิ่นซิซังเจ้าแล้ว
    ๑๐)  สอนในเชิงอุปมายกเอาลักษณะต่างของสัตว์มาสอนดังนี้คือ
        ๑๐.๑)    อันหนึ่งยามเมื่อวาจาต้านให้พอหูหอมม่วน
            อย่าได้ไขปากต้านแฮงพ้นเพิ่นหลายพ่อท้อน
            อันหนึ่งอย่าได้ทำตนเพี้ยงหัวเพียงอ้ายอึ่ง
            มันหากเหลือแต่ฮ้องตายย้อยปากโต นั้นแล้ว
        ๑๐.๒)  อันหนึ่งอย่าได้เทียมผู้ใบ้เป็นห่านหัวเขียวนั้นเนอ
            มันก็ไลลาปละไข่กลมกลางบ้าน
            มันก็ไลลาถิ้มเสียใจดอมเพื่อน
            ลูกแตกออกจากท้องมันเลี้ยงบ่เป็น
        ๑๐.๓)    เป็นหญิงนี้ทำเนียมนำไก่
            มันซ่างฟักป้องปองเลี้ยงให้ใหญ่สูง
            ซื่อว่าเป็นคนให้ทำเนียมนำเต่า
            มันหากเมี้ยนไข่ไว้ดีแล้วจึ่งค่อยไป
            ให้ค่อยทำเพียรตุ้มเสมอยูง ซุ่มเหยื่อ
            อย่าได้เฮ็ดตู้เตื้อตีนซิ่น ไขว่ภาช์นั้นเนอ
            อันหนึ่งเป็นคนให้ลักขณานามปลวก
            หากซ่างอยู่หางซ่างอ้นคูณขึ้นใหญ่สูง
ความหมายคำศัพท์
    ฮอด –ถึง    เทิง  -บน  ข้างบน    วาด  -ท่าทาง ชั้นเชิง    เวียก  -การงาน งาน
    โถง  -นักเลง    หลิ้น  - เล่น        หมีด  -ดำสนิท        เลิง  -เรื่อยๆ เสมอๆ
    บาย  -ลูบคลำ    กลางเว็น  -กลางวัน    ขะลำ  -อัปมงคล        คีง  ตัว ตน ร่างกาย
    ซูซ่อย  -ชูช่วย    อ่อยห่อย  -บริสุทธิ์     หุ้ม  คุ้มครอง  อุ้ม    อ่ง  -หยิ่ง ทะนงตัว
    ขมอด  -ยากเข็ญ    แครง  -ผ้านุ่ง        ส่วย  -ล้าง ชำระ         เคียน  -คาด ผูกมัด
    ถืก  -ถูก          ซุ  -ทุก              แว่  แวะ  เซา  หยุด    ภาช์  -สำรับอาหาร
    พาบ  -  รวม ร่วมกัน            แฮง  -มาก ยิ่ง  แรง    สวาก  -พูดใส่  กล่าวต้าน  -พูด  เจรจา                แปดคีง  -เปื้อนร่างกาย    แวน  -ยิ่ง  มาก
    คว่า  -ไขว่คว้า                ตื่ม  -เติม        เลิง  -เรื่อยๆ   
    ปละ  -ปล่อยทิ้ง                ปากโต  -ปากตัวเอง    ถิ้ม  -ทิ้ง       
    เมี้ยน  รักษา

bandonradio




กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]


โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคีและชนชั้นวรรณะพราหมณ์
เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน
โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ( Hatha Yoga )
ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา



ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหารร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ
เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้
หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี



โยคะท่าพื้นฐาน

ท่านมัสการ




ความหมาย


• นมัสการ หมายถึง ทำความเคารพ



วิธีปฏิบัติ


• ยืนหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เท้าชิด พนมมือ

• หายใจเช้าและยกแขนขึ้น ค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง ยื่นแขนเหนือศีรษะ

• หายใจออกช้าๆ เอนตัวไปข้างหน้า ให้มือที่พนมอยู่สัมผัสพื้นจนกระ ทั่งมืออยู่ในแนวเดียวกับเท้าศีรษะสัมผัสหัวเข่า

• หายใจเข้า ก้าวเท้าขวาถอยหลังมา 1 ก้าว ให้มือและเท้า ยังคงอยู่กับพื้น เท้าซ้ายอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• ขณะหายใจออก ยกเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา แขนตรงยกสะโพกขึ้นให้ศีรษะ และแขนอยู่ในแนวเดียวกัน ทำท่าเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าและค่อยๆ ลดสะโพกลงมาที่พื้น (ให้สะโพกอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย) ก้มตัวลงไปข้างหลังให้มากที่สุด

• หายใจออก และลดตัวลงมาที่เท้า เข่า มือ และอก สัมผัสพื้น

• หายใจเข้า และค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยศีรษะไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด และโค้งกระดูกสันหลังไปให้ได้มากที่สุด เหมือนท่านาคอาสนะ

• ขณะหายใจออกช้าๆ และให้แขนอาสนะ ยกสะโพกขึ้น และให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกับแขน ทำเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าช้าๆ และงอเข่าซ้าย ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือยังคงอยู่ที่พื้น วางเท้าซ้ายลงบนพื้นระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• หายใจออกช้าๆ ให้มืออยู่ที่เดิม ดึงเท้าทั้งสองเข้ามาชิดกัน ให้อยู่แนวเดียวกับมือถ้าเป็นไปได้ ให้ศีรษะสัมพันธ์กับหัวเข่า

• หายใจเข้าช้าๆ และยกแขนขึ้น ค่อยๆเอนตัวไปข้างหลัง โดยยื่นแขนขึ้นเหนือศีรษะ ย้อนกลับไปตำแหน่งยังข้อ 1



ท่าชวังคอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต ชว หมายถึง ทั้งหมด หรือ ทุกๆ อังคะ หมายถึง ร่างกาย ชวังคะ จึงหมายถึง ทำทั้งร่างกาย

ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นท่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน ท่านี้มักเรียกกันว่า ท่ายืนบนไหล่

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงายในท่า ศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้นขณะงอเข่าและดึงเข่าเข้ามาที่ท้อง หายใจออก

• หายใจเข้าช้าๆ กดฝ่ามือลง ยกลำตัวตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นจากพื้น งอกระดูกสันหลังไปข้างหลัง และทำท่อนแขนให้ตรง ให้สะโพกอยู่บนพื้น

• หายใจเข้าแล้วในขณะหายใจออก ให้ยกขาตั้งฉากกับพื้น อาจใช้มือพยุงสะโพกไว้ หรือวางแขนไว้ลงกับพื้นตามถนัด

• ขาดชิด เข่าตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น ศีรษะตรงไม่หันไปด้านใดด้านหนึ่ง เก็บคางให้ชนหน้าอก

• หายใจเข้า ออก ช้าๆ ขณะคงท่านี้ไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 6 จนกลับสู่ท่าศพอาสนะ



ท่าตรีโกณอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ตรี ในภาษาสันสกฤตหมายถึง สาม โกณ หมายถึง เหลี่ยมหรือมุม

ดังนั้น ท่านี้จึงเรียกว่า ท่าสามมุม หรือท่าสามเหลี่ยม

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิดแขนแนบลำตัว

• แยกเท้าออกจากกัน ให้ระยะห่างมากกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย

• หายใจเข้าและยื่นแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้น ฝ่ามือคว่ำลง

• หายใจออกช้าๆ หันลำตัวไปทางซ้าย งอตัวที่ช่วงเอว ให้มือขวาลงไปที่แข้งซ้าย ฝ่ามือขวา วางไว้ข้างนอกของหน้าแข้งซ้าย

แขนซ้ายควรยื่นออกไปด้านบนขาและแขนทั้งสองข้างตรง โดยไม่ต้องงอเข่าและข้อศอก


• หันศีรษะขึ้นไปทางซ้าย มองไปที่ปลายนิ้วมือซ้าย หายใจเข้า และกลับไปสู่ท่าเดิม คือท่ายืน ให้แขนกางออก

• คงท่านี้ไว้ เท่ากับช่วงหายใจออก หายใจออกและทำซ้ำ ขั้นตอนที่ 4-7 สลับซ้าย



ศีรษะอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ศีรษะ หมายถึง หัว ในภาษาสันสกฤต ท่านี้คือ ท่ายืนด้วยศีรษะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการฝึกอาสนะ ไม่แพ้ท่าปทมอาสนะ

ด้านบนคือภาพโมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพโยคีขณะทำท่าศีรษะอาสนะ

วิธีปฏิบัติ


• นั่งคุกเข่า ให้สะโพกอยู่บนส้นเท้า

• เอนตัวไปข้างหน้า วางแขนลงบนพื้น ให้ศอกห่างกัน 1 ช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน

• วางศีรษะลงบนพื้น ให้ท้ายทอยสัมผัสมือที่ประสานไว้

• ให้ปลายเท้าจิกพื้น ขณะยกส้นเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น

• คงท่านี้ไว้เป็นระยะเท่ากับการหายใจเข้า ถ้าไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ให้ค่อยๆ หายใจออก และนอนราบกับพื้น กางขาออก กลับไปสู่ท่าศพอาสนะ



หลอาสนะ



ความหมาย

• หล แปลว่า คันไถ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย แบบท่าศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำที่พื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้น งอเข่าเข้ามาจรดท้องขณะหายใจออก

• หายใจเข้า ขณะหายใจออกให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับพื้น คุณอาจใช้มือพยุงสะโพก หรือวางแขนราบไปกับพื้นแล้วแต่ถนัด

• หายใจออก แล้วยกขาขึ้นเหนือศีรษะ งอขาตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ยกหลังและสะโพก จนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นด้านหลังของศีรษะ รักษาเท้าให้ชิดกัน

หากใช้มือพยุงหลังให้ลองวางแขนราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง ถ้าไม่สามารถวางแขนลงที่พื้นได้ให้ใช้มือพยุงหลังส่วนล่างไว้


• เข่าตรง หายใจช้าๆ และคงท่านี้ไว้สักครู่ ถ้านิ้วเท้าสัมผัสพื้นไม่ได้ ก็พยายามให้นิ้วเท้าอยู่ต่ำที่สุด

• ทำท่าย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 5 ถึง 1 จนกลับไปสู่ท่าศพอาสนะเหมือนเดิม




ธนูอาสนะ




ความหมาย

• คำว่าธนู ในภาษสันสกฤต หมายถึง มีรูปร่างเหมือนคันศร โค้ง หรือ งอ คันศร

ในที่นี้หมายถึง คันศรที่ใช้กับลูกธนู ท่าอาสนะนี้ มีชื่อแบบนี้เนื่องจาก ร่างกายมีท่าทางคล้ายคันศรที่โก่งพร้อมยิงธนู

วิธีปฏิบัติ


• นอนคว่ำหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนราบไปกับลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น

• หันหน้ามาเพื่อวางคางไว้บนพื้น หายใจออก งอเข่า เอื้อมแขนไปข้างหลัง จับข้อเท้าขวาไว้ด้วยมือขวา จับข้อเท้าซ้ายด้วยมือซ้าย

• ขณะหายใจเข้า ค่อยๆ ยกขาขึ้นโดยดึงข้อเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น และยกอกขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน

กลั้นลมหายใจเข้าเอาไว้ ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนหน้าท้อง


• ยื่นศีรษะให้ไกลที่สุด คงท่านี้ไว้ขณะกลั้นหายใจ

• หายใจออกช้าๆ วางเข่าลงบนพื้น ปล่อยข้อเท้า ค่อยๆ วางขาและแขนลงบนพื้น หันหน้าไปข้างหนึ่ง ทำเหมือนท่าเริ่มต้น



ท่าพิจิกอาสนะ



ความหมาย

• ท่าพิจิกหรือท่าแมงป่อง ในท่านี้ ร่างกายจะดูเหมือนแมลงป่อง ที่ยกหางโค้งขึ้นเหนือหัว พร้อมจะต่อยคู่ต่อสู้

แม้ท่านี้จะดูยากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

วิธีปฏิบัติ


• คุกเข่าลงที่พื้น โน้มตัวไปข้างหน้า วางศอกและแขนด้านในราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง แขนควรห่างกันประมาณ 1ช่วงไหล่

• ยื่นศีรษะไปข้างหน้าและยกให้สูงที่สุด

• ยกสะโพกขึ้น วางเท้าให้มั่นคง

• หายใจเข้าและแกว่งขาขึ้นไปเหนือศีรษะ รักษาสมดุลของร่างกายไว้ ยกขาตรงขึ้นเหนือศีรษะ

• ค่อยๆ งอเข่าและปล่อยขาลงมาทางด้านศีรษะ ระวังอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และอย่าทิ้งขาลงไปไกลเกินไปขณะรักษาสมดุลของร่างกายไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 5 จนกลับไปสู่ท่าคุกเข่า

* ข้อควรระวัง ไม่ควรลองท่าแมงป่อง จนกว่าคุณจะสามารถทำท่าที่ต้องใช้สมดุลของร่างกายอื่นๆ และไม่เหมาะกับสตรีมีรอบเดือน



ท่าพฤกษอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต พฤกษะหมายถึง ต้นไม้ ท่านี้จึงเรียกว่าท่าต้นไม้

"ยืนตรงบนขาซ้าย งอขาขวาและวางขาขวาไว้บนโคนขาซ้าย ยืนเหมือนต้นไม้ ยืนอยู่บนพื้นดิน นี่คือท่าพฤกษอาสนะ"

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิด แขนแนบลำตัว

• งอเข่าขวา ยกต้นขาขวา และยก ส้นเท้าขวาไปบนต้นขาซ้ายด้าน ในให้โกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้

• ทรงตัว บนเท้าซ้าย ยกแขนทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ และให้ฝ่ามือประชิดกัน

คงท่านี้ไว้ขณะค่อยๆ หายใจ ประมาณ 10 ช่วงหายใจเข้าออก


• ลดแขนและขาขวาลง และกลับไปสู่ตำแหน่งในข้อ 1 คือการยืนหน้าชิด แขนแนบลำตัว หยุดพักสักครู่ และทำซ้ำด้วยขาข้างหนึ่ง



ศพอาสนะ



ความหมาย

• ความหมาย คำว่า ศพ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ร่างที่ตายไปแล้ว

"การนอนลงที่พื้นเหมือนศพ เรียกว่า ศพอาสนะ ช่วยกำจัดความเหนื่อยล้าและให้จิตใจได้พักผ่อน" จากหัตถโยคะปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย อย่าให้ขาแตะกัน แขนราบไปกับลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น

• หลับตาลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

• งอข้อศอก วางฝ่ามือบนพื้นใต้ไหล่ ให้นิ้วชี้ไปด้านหลัง

• มุ่งความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย จากหัวถึงเท้า แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน

• คงท่านี้ไว้ 10-15 นาที หากรู้สึกง่วงนอนขณะทำท่านี้ ให้หายใจเร็วและลึกขึ้น

• ครั้งแรกที่ฝึก ให้คงท่าศพอาสนะไว้ 10 หรือ 15 นาที กลับมาทำซ้ำเป็นระยะๆ ในช่วงฝึกท่าต่างๆ เพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นร่างกาย / จิตใจ

คำแนะนำ

บางคนคิดว่าท่านี้ง่ายมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จุดประสงค์ของศพอาสนะ คือ ให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นอกจากร่างกายจะต้องนิ่งและผ่อนคลายแล้ว จิตใจยังต้องนิ่งราวกับผิวน้ำที่ปราศจากการรบกวนอีกด้วย

ผลที่ได้คือการผ่อนคลายอย่างล้ำลึกและนิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิต่อไป

การฝึกศพอาสนะนั้นต้องใช้เวลา การกำหนดความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนและ กำหนดลมหายใจล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการฝึกท่านี้อย่างยิ่ง

อุปสรรค 2 อย่างที่อาจลดคุณค่าการฝึกศพอาสนะ ก็คือ ความง่วงและจิตใจที่ฟุ้งซ่าน หากรู้สึกง่วงขณะฝึก ให้กำหนดลมหายใจให้ลึกขึ้น

หากจิตใจไม่นิ่ง ให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กำหนดจิตไปที่พื้นหรือที่จังหวะลมหายใจของคุณเอง

การฝึกศพอาสนะควรทำก่อนและหลังการฝึกอาสนะเป็นประจำ


ข้อมูลจาก
Practice 01





------------------------------------------------------------------------------

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons