๓.๒ พุทธภาษิตกับการดำเนินชีวิตในสังคม
การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นของยาก ดังพุทธภาษิตว่า “กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การได้อัตตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก”
๓.๒.๑ พุทธภาษิตกับการปกครอง
การปกครองตามแนวพุทธวิธี เรียกว่าอธิปไตยสาม คือ ตามแนวคำสอนของพระพุทธองค์ทรงชี้ให้ทราบถึงหลักการของการปกครอง คือ ความเป็นธรรมในสังคม การปกครองจะต้องยึดธรรมเป็นหลัก มีธรรมเป็นเครื่องควบคุม หลักธรรมตามแนวทางของพุทธวิธี ที่เหมาะสมกับการปกครอง มีอยู่เป็นจำนวนมาก อธิปไตย ๓ ก็เป็นหลักสำคัญที่ควรยึดถือเป็นแนวทางในการปกครอง หากการปกครองได้ดำเนินไปตามหลักธรรม คือ อธิปไตย ๓ แล้ว ก็ย่อมเป็นที่หวังได้ว่าการปกครองนั้น จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมอย่างสมประสงค์ อธิปไตย หมายถึง ความเป็นใหญ่ ความสำคัญยิ่งใหญ่มี ๓ ประการด้วยกัน คือ.
๑) อัตตาธิปไตย ความถือตนเป็นใหญ่ ถือตนเป็นสำคัญ ในการปกครอง ต้องสำรวจดูตนเองก่อน เมื่อพบว่าตนเองบกพร่องอะไรต้องรีบแก้ไข ต้องรีบปรับปรุงตนเองให้ก่อน จึงจะปกครองคนอื่นได้ เช่นเมื่อประสงค์จะให้สังคมมีระเบียบวินัย ตนเองก็ต้องมีระเบียบวินัยก่อน ต้องการให้สังคมมีความซื่อสัตย์ ตนเองก็ต้องเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ต้องการให้สังคมมีศีลธรรม ตนเองก็ต้องมีศีลธรรมด้วย โดยถือว่าผู้ที่ตนจะต้องปกครองคนแรกนั้นคือตนเอง เมื่อปกครองตนเองไม่ได้ ก็อย่าหวังคนอื่นเขาจะเชื่อฟัง ตามวิธีทางพุทธศาสนามีทรรศนะ เกี่ยวอัตตาธิปไตยอย่างนี้ว่า บุคคลที่ประสงค์จะยึดเอาหลัก อัตตาธิปไตย เป็นแนวทางในการปกครองจึงต้องมีสติ ต้องใช้สติให้มาก เพื่อจะได้ไม่ประมาทจะได้ไม่หลงผิด ไม่ถือผิดและปฏิบัติผิด สมด้วยพุทธวจนะที่มาใน ขุททกนิกาย ธัมมปทัฏฐกถา ว่า " จงเตือนตนด้วยตน " 184
๒) โลกาธิปไตย หมายถึงการถือเอาเสียงชาวโลกเป็นใหญ่ หมายความว่าในการปกครองนั้น เมื่อตนเองยังมีข้อบกพร่องอยู่ ยังไม่ได้แก้ไขปรับปรุง จะต้องสำนึกว่า ในโลกนี้ย่อมจะมีคนดี มีความสามารถ มีสติปัญญาอยู่เป็นจำนวนมาก ตลอดถึงเทวดาอารักษ์ซึ่งมองไม่เห็นอยู่มากมาย ซึ่งท่านเหล่านั้นย่อมจะรู้ว่าใครทำอะไรผิด หรือถูก ชั่วหรือดี ถ้าตนเองมัวประมาทอยู่ ไม่รีบแก้ไข ไม่รีบปรับปรุงตนเองให้ดี ให้มีความรู้ความสามารถ เมื่ออยู่ในฐานะของผู้ปกครองก็ย่อมจะดำเนินการไปอย่างผิดพลาด เพราะตนเองก็ยังปกครองตนเองไม่ได้ จะปกครองให้คนอื่นดีได้อย่างไร ท่านผู้รู้ทั้งหลาย เทวดาอารักษ์ก็จะติเตียน ครั้นสำนึกถึงข้อที่ตนบกพร่องแล้วปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม การสำนึกในข้อที่ผู้รู้ทั้งหลายในโลกนี้ ที่เห็นการปฏิบัติของตนจะติเตียน เป็นทรรศนะของพุทธปรัชญา ในข้อที่ว่า โลกาธิปไตย ดังนั้น ผู้ประสงค์จะถือโลกาธิปไตย เป็นแนวทางในการปกครอง จะต้องมีปัญญาคุ้มครองตน ใช้การพินิจพิจารณาให้มาก เพื่อจะได้ไม่ผิดพลาด ไม่หลงผิด และปฏิบัติผิด สมด้วยพุทธภาษิตที่มาในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ว่า " ผู้มีปัญญาอยู่ครองเรือน เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนมาก " และที่มาในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า " ปัญญา ย่อมปกครองบุรุษนั้น " 185
๓) ธัมมาธิปไตย การถือธรรมเป็นใหญ่ ถือธรรมเป็นสิ่งสำคัญ หมายความว่า ในการปกครอง จะต้องคำนึงถึงธรรมเสมอ โดยสำนึกว่า ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ถูกต้องดีแล้ว สมบูรณ์บริบูรณ์ดีแล้ว ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดขาดตกบกพร่องเมื่อประพฤติปฏิบัติตาม ธรรมก็จะคุ้มครองให้เล็ดลอดปลอดภัย สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ไปการกระทำใดๆ ถ้าเป็นไปโดยชอบธรรมแล้ว การกระทำนั้นๆ ย่อมไม่ผิดพลาด และธรรมนั้นย่อมอำนวยผลเป็นประโยชน์ เป็นความสุข เป็นความปลอดภัย เฉพาะผู้ปฏิบัติตามเท่านั้น เปรียบเหมือนยาที่สามารถรักษาโรค ย่อมให้ผลก็แต่เฉพาะคนกินเท่านั้น ธรรมก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดปฏิบัติตาม ผู้นั้นก็ย่อมได้รับผลแห่งการปฏิบัติเอง ดังพุทธภาษิตที่มาในขุททกนิกาย ชาดก ทสกนิบาต ว่า " ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม " และที่มาใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า " ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว นำสุขมาให้ " 186 นี้เป็นผลของการประพฤติธรรมถูกต้อง เมื่อสำนึกอย่างนี้แล้ว ตนเองก็เป็นผู้ประพฤติตามธรรม เคารพธรรมถือเอาธรรมเป็นหลักการในการปฏิบัติ สิ่งใดชั่วก็ไม่ปฏิบัติ สิ่งใดเป็นความดีก็ประพฤติปฏิบัติตามนั้น เมื่อทำได้อย่างนี้ก็เป็นแบบอย่างที่ดี สามารถปกครองสังคมได้อย่างเรียบร้อยการยึดหลักการนี้พุทธปรัชญา เรียกว่า ธัมมาธิปไตยประชาธิปไตย ที่หมายถึง การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่นับได้ว่าดีที่สุดในปัจจุบัน ก็มีหลักการที่สอดคล้องกับหลักอธิปไตย ๓ ในพุทธปรัชญา ซึ่งจะขอนำมากล่าวพอเป็นแนวทาง ในการพิจารณาตามลำดับโดยสังเขปดังต่อนี้.
๑.๑ หลักประชาธิปไตยตามนัยแห่งพุทธภาษิต
เป็นระบอบที่ยกย่องความเป็นมนุษย์ ของบุคคล มนุษย์ทุกคนมีค่าสมบูรณ์ในตนเอง มิใช่ถือว่าบุคคลเป็นแต่เพียงเครื่องมือ ที่จะนำไปใช้เพื่อบรรลุผลใดๆ ตามแนวทางของพุทธศาสนานั้น ถือว่าเป็นแบบอย่างของประชาธิปไตยทีเก่าแก่ที่สุดในโลก พระพุทธเจ้า ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้สิทธิแก่พระสงฆ์ มีอำนาจในการบริหารหมู่คณะ มีสิทธิในการคัดค้านในเมื่อไม่เห็นด้วยโดยไม่มีข้อจำกัดว่าใน ชาติ ชั้น วรรณะ ของสมาชิก ทุกคนเมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกโดยการบวชแล้วก็มีสิทธิเท่าเทียมกัน หากแต่ให้ความเคารพกันตามลำดับบวชก่อนหลัง ตามพุทธวิธีนี้มีหลักการที่เป็นประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่นวิธีอุปสมบท ที่ประชุมประกอบด้วยสมาชิก คือหมู่สงฆ์ มีอุปัชฌาย์เป็นผู้รับรอง นำตัวผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกใหม่เสนอต่อที่ประชุม การรับสมาชิกใหม่ ก็ต้องทำโดยมีสมาชิกเก่าซึ่งเป็นผู้ฉลาดสามารถเป็นตัวแทนของสงฆ์ ทำหน้าที่เป็นกรรมวาจาจารย์ และอนุสาวนาจารย์ ดำเนินการตรวจสอบว่าบุคคลนั้น มีคุณสมบัติครบถ้วนตามบทบัญญัติหรือไม่ แล้วจึงขอมติต่อที่ประชุม เมื่อที่ประชุมรับรอง ไม่มีผู้คัดค้าน จึงจะรับผู้นั้นเข้าเป็นสมาชิกในหมู่คณะได้
๑.๒ การให้ความอิสระเสรีแก่ตัวเองและผู้อื่นตามนัยแห่งพุทธภาษิต
พุทธศาสนามีคำสอนที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างมาก คือว่าทุกคนที่เกิดมามีเสรีภาพอยู่แล้วตามธรรมชาติ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับความคิดเห็น ความเชื่อถือ และการกระทำ แต่เสรีภาพนี้ก็มีขอบเขตจำกัด กล่าวคือ จะต้องไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตัวเอง หรือผู้อื่น ตามหลักการของพระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุมีทาสไว้คอยรับใช้ นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังชี้ว่า ให้บุคคลเป็นอิสระจากความเป็นทาสภายใน ได้แก่ความเป็นทาสของตัณหา ความทะยานอยาก ที่มีอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ และโมหะ เป็นตัวบังคับบัญชา พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความเป็นทาสภายในด้วยวิธีการ ตามหลักไตรสิกขา หรืออริยมรรคมี ๘ ประการ ๓ ขั้นตอน คือ.
๑) ให้เป็นอิสระพ้นจากความเป็นทาสอย่างหยาบ คือความโลภ โกรธ และหลงอย่างรุนแรงที่เป็นเหตุให้ประกอบกายทุจริตและวจีทุจริต โดยให้เปลื้องด้วยศีล งดเว้นจากอกุศลกรรมบท ๑๐ เป็นต้น
๒) ให้เป็นอิสระให้พ้นจากความเป็นทาสอย่างกลาง คือความโลภ โกรธ และหลงอย่างกลาง โดยให้เปลื้องสิ่งเหล่านี้ด้วย สมาธิ ให้อบรมความดี มีจิตประกอบด้วยเมตตากรุณา มีสติสำรวม ทำใจให้สงบระงับ
๓) ให้เป็นอิสระพ้นจากความเป็นทาสอย่างละเอียด ได้แก่กิเลสที่แฝงตัวอย่างลึกซึ้ง จนเราไม่อาจทราบว่าเราเองตกเป็นทาสของมัน ในข้อนี้พุทธปรัชญาชี้ว่าต้องเปลื้องกิเลสเหล่านี้ด้วยปัญญาเท่านั้น พิจารณาให้ประจักษ์แจ้งถึงความเป็นจริงด้วยปัญญา
๑.๓ ความเสมอภาคตามนัยแห่งพุทธภาษิต
พุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในอินเดียถือได้ว่า เป็นการปฏิวัติคำสอนระบบชนชั้นวรรณะในประเทศอินเดียเป็นครั้งแรกที่สอนให้มนุษย์เลิกการดูถูกเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องการถือชาติ ชั้น วรรณะ โดยให้ถือความประพฤติเป็นสำคัญ ใครจะเกิดในตระกูลอย่างไรไม่เป็นประมาณ ถ้าหากตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นคนที่ควรยกย่องสรรเสริญ ถ้าตรงกันข้าม คือล่วงละเมิดศีลธรรม ข้อบัญญัติ แม้จะเกิดในตระกูลสูงส่งอย่างไรก็นับได้ว่าเป็นคนพาล ควรแก่การตำหนิ ในหลักการปกครองคณะสงฆ์นั้น ครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ทรงบัญญัติให้ใช้หลักเสมอภาค บุคคลไม่ว่าจะเกิดในชาติ ชั้น วรรณะใด เมื่อเข้ามาบวชย่อมมีความเสมอภาคกันหมด ไม่มีความเลื่อมล้ำต่ำสูงแต่อย่างใด ดังพุทธดำรัสที่ปรากฏใน ปหาราทสูตร ความว่า : -
" ดูกรปหาราทะ แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดีสรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทร แล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเองฉันใดดูกรปหาราทะฉันนั้นเหมือนกัน วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัย ที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าสมณศากยบุตรทั้งนั้น ” 187
ทุกคนย่อมมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันโดย ชาติ ชั้น วรรณะมิได้เป็นอุปสรรคในการกระทำความดี และรับผลของกรรมของแต่ละบุคคล พระพุทธเจ้าทรงคัดค้าน การยึดมั่นในความเลื่อมล้ำกันในเรื่องชาติกำเนิด หรือยศศักดิ์อื่นใด พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่ามนุษย์ทุกคนต่างก็เป็นเพื่อนร่วมสุขและทุกข์ร่วมกันด้วยกัน ตลอดทั้งสรรพสัตว์ก็ล้วนตกอยู่ในอำนาจของ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจริงกับทุกชีวิต ดังนั้นพระพุทธองค์จึงเน้นสอนว่า มนุษย์เราควรจะปฏิบัติดีต่อทุกชีวิตฉันท์เป็นญาติมิตรกัน อันประกอบด้วยคุณธรรม คือความเมตตาปราณี อย่าได้คิดมุ่งร้ายทำลายกันและกันอย่าผูกอาฆาต พยาบาท จองเวรกัน เหตุที่มนุษย์ ตลอดถึงสรรพชีวิต ต่างก็วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ มาเป็นเวลานานจนนับภพชาติไม่ได้ การเกิดเป็นบิดามารดา เป็นบุตรธิดา หรือเผ่าพันธุ์ฉันญาติกัน ทุกสรรพชีวิตต้องเคยเป็นมาก่อนแล้วทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าทรงสั่งเรื่องหลักภราดรภาพ ความเป็นญาติพี่น้องกัน ไม่เฉพาะแต่ในปัจจุบันชาติเท่านั้น หากสอนว่าคนเราเคยเป็นพี่น้องกันมาแล้วในชาติก่อนๆ และจะต้องเป็นอีกในอนาคตอันยาวไกล ตราบใดที่ยังไม่สามารถตัดกระแสแห่งการเกิดคือกิเลสได้ พุทธปรัชญาจึงสอนให้มีเมตตากรุณาไม่ให้เบียดเบียน ให้ปฏิบัติในสิ่งที่จะเอื้อประโยชน์ต่อทุกสรรพชีวิต เสมือนหนึ่งเป็นญาติกัน ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค ทุติยวรรคที่ ๒ ว่า :-
" ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่า สัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา...ไม่เคยเป็นบิดา...ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย...ไม่เคยเป็นพี่น้องสาว...ไม่เคยเป็นบุตร...ไม่เคยเป็นธิดาโดยกาล นานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้นมีตัณหา เป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ที่สุดเบื้องย่อมไม่ปรากฏ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศได้เพิ่มพูนปฐพี ที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียว เพื่อจะเบื่อหน่าย ในสังขารทั้งปวงพอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น " 189
มนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นคณะ ย่อมมีนิสัยรักหมู่รักคณะของตน มีสัญชาตญาณในการป้องกันตนเองและหมู่คณะให้อยู่รอดปลอดภัย ต้องการดำเนินชีวิตด้วยความอิสระเสรี ชอบกระทำอะไรตามตามอำนาจใจของตน เพราะมนุษย์ยังมีกิเลส ก็ต้องอยู่ในอำนาจของกิเลส ถูกกิเลสบังคับใจให้เป็นไปต่างๆนานา คนที่มีกิเลสตัวโลภะมากก็จะเกิดความโลภไม่มีที่สิ้นสุด คิดหาทางเบียดเบียนคนอื่น กล้าประกอบอาชญากรรมในการลักขโมยของคนอื่น หรือฉ้อโกงกันและกันและอื่นๆอีกมากมายสำหรับผู้มีโลภะเป็นเจ้าเรือน ดังนั้นมนุษย์ผู้ที่มีกิเลสตัวตัวนี้จัดว่าเป็นศัตรูร้ายกาจของสังคม
ส่วนคนที่มีกิเลสตัวโทสะมากก็จะขาดเมตตาปรานี ไม่มีการเคารพยำเกรงใครไม่รู้จักเกรงอกเกรงใจใคร จะชอบใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงผู้อื่นตามใจชอบ กล้าประกอบอาชญากรรมในการฆ่า การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่น การอิจฉาริษยาคนอื่นการกีดกันและกลั่นแกล้งผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย คนที่มีโทสะจึงเป็นศัตรูร้ายของสังคม
ส่วนคนที่มีโมหะเป็นเจ้าเรือน ก็จะมีความโง่เขลาเบาปัญญา เป็นคนที่เห็นผิดเป็นชอบได้ง่าย เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี เห็นบาปเป็นบุญ เห็นคุณเป็นโทษ จึงมักจะประพฤติผิดเสมอ จัดเป็นคนมิจฉาทิฏฐิ ทำให้ลบหลู่ดูหมิ่นหรือประพฤติล่วงเกินผู้มีพระคุณคนที่มีโมหะจึงเป็นคนที่เป็นศัตรูร้ายกาจของสังคม คนมีกิเลสถ้าไม่มีธรรมะมายับยั้งชั่งใจ มีสติระลึกได้อยู่เสมอว่า ตนรักสุขเกลียดทุกข์ รักชีวิตและทรัพย์สินของตน รักสิ่งที่เกี่ยวกับตน รักญาติ รักมิตรของตน รักลูกรักสามี และรักภรรยาของตน ฉันใดคนอื่นก็มีความรักอย่างเดียวกัน คือท่านที่เป็นผู้ใหญ่ในแผ่นดินหรือผู้นำและผู้ปกครองรัฐตั้งแต่พระเจ้าจักรพรรดิ์ พระมหากษัตริย์ ตลอดจนนักปกครองโดยทั่วไป มีหลักธรรมที่เป็นคุณสมบัติ ดังพุทธภาษิตว่า
“พระราชา เป็นเครื่องปรากฏของแว่นแคว้น ราชา รฏฺฐสฺส ปญฺญานํ๑ “พระราชาเป็นประมุขของประชาชน (ราชา มุขํ มนุสฺสานํ )๒“ถ้าพระราชาเป็นผู้ทรงธรรม ราษฏรทั้งปวงก็เป็นสุข ( สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ โหติ ราชา เจ โหติ ธมฺมิโก)๓
“พระราชาจงรักษาประชาราษฏร์ ให้เหมือนบิดารักษาบุตรทุกเมื่อ ( ปุตฺตกํ วิย ราชาโน ปชํ รกฺขนฺตุ สพฺพทา)๔ “พระมหากษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุด ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยสกุล (ขตฺติโย เสฏฺโฐ ชเนตสฺมี เย โคตฺตปฏิสาริโน )๕
จากพุทธพจน์นี้ชี้ให้เห็นว่าผู้นำประเทศ หรือรัฐควรมีคุณสมบัติที่เต็มไปด้วยบารมีธรรม กล่าวคือ ทศพิธราชธรรม190 คือ มีคุณธรรมของผู้ปกครองหรือราชธรรม(ธรรมของพระราชา) 10 ประการ ๑) ทาน การให้ปันช่วยเหลือประชาชน คือ การบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้โดยมุ่งปกครองหรือทำงานเพื่อให้เขา มิใช่จะเอาประโยชน์จากเขา เอาใจใส่อำนวยบริการ จัดสรรความสงเคราะห์ อนุเคราะห์ให้ประชาราษฎร์ได้รับประโยชน์สุข ความสะดวกปลอดภัย ตลอดจนให้ความสนับสนุนแก่คนที่ทำคุณแก่ประเทศชาติ
๒) ศีล รักษาความสุจริต คือ ประพฤติดีงาม สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษาเกียรติคุณ ประพฤติให้เป็นแบบอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์มิให้มีข้อที่ผู้ใดจะดูแคลน
๓) ปริจจาคะ บำเพ็ญกิจด้วยการเสียสละ คือสามารถเสียสละความสุขสำราญด้วยตัวเพื่อความสุขของประชาราษฏร์เป็นต้น ตลอดจนแม้ชีวิตของตนเองได้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
๔) อาชชวะ ปฏิบัติภาระโดยซื่อตรง คือซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มายา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน
๕) มัททวะ ทรงความอ่อนโยนเข้าถึงคน คือ มีอัธยาศัยไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือพระองค์ มีความสง่างามเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวลละมุนละไม ควรได้รับความรักภักดีแต่มิขาดความยำเกรง
๖) ตปะ พ้นมัวเมาด้วยเผากิเลส คือแผดเผากิเลส ตัณหามิให้เข้ามาครอบงำจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่หลงไหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและการปรนเปรอ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆสามัญ มุ่งมั่นแต่บำเพ็ญเพียรทำกิจในหน้าที่ให้สมบูรณ์
๗) อักโกธะ ถือเหตุผลไม่โกธา คือไม่ทรงเกรี้ยวกราด ไม่วินิจฉัยคดีความด้วยลุอำนาจแก่ความโกรธ มีเมตตาประจำใจไว้ ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันสุขุมราบเรียบตามความยุติธรรม
๘) อวิหิงสา มีอหิงสานำความร่มเย็น คือไม่หลงระเริงอำนาจ ไม่บีบคั้นกดขี่ มีความกรุณา ไม่หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาญา แก่ประชาราษฎร์ผู้ใด ด้วยความอาฆาตเกลียดชัง
๙) ขันติ ชำนะเข็ญด้วยขันติ คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ อดทนต่อความเหนื่อยยากถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยถ้อยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ละทิ้งกิจกรณืย์ที่ทรงบำเพ็ญมาโดยชอบธรรม
๑๐) อวิโรธนะ มิปฏิบัติคลาดจากธรรม คือประพฤติมิให้ผิดจากประศาสนธรรม อันถือประโยชน์สุขความดีงามของรัฐและราษฎร์เป็นที่ตั้ง อันใดประชาราษฎร์ปรารถนาโดยชอบธรรมก็ไม่ทรงขัดขืน การใดเป็นไปโดยชอบธรรมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนก็ไม่ขัดขวาง วางพระองค์เป็นหลัก มีความหนักแน่นในธรรม คงที่ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ่อยคำดีร้าย ลาภสักการะหรืออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรมทั้งส่วนยุติธรรมคือความเที่ยงธรรม และหลักนิติธรรมคือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป
184.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า, กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พุทธภาษิต เล่ม ๑ , พิมพ์ครั้งที่ ๓๒, (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย), ๒๕๓๘, หน้า ๓.
185 เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๒ , ๔๓.
186.เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๘ , ๒๙.
187 องฺ. อฎฺฐก. ๒๓ / ๑๐๙ / ๑๕๔.
189 สํ. นิ. ๑๖ / ๔๕๐ - ๔๕๕ / ๑๘๗ - ๑๘๙.
๑ สํ. ส. 15/57
๒ วิ. มหา. 5/124/ม.ม. 13/556/ขุ.ส. 25/446
๓ องฺ จตุกฺก. 21/99/ ขุ. ชา. จตุกฺก. 27/152
๔ นัย. สํ. ส.
๕ ที. ปาฏิ. 11/107 , ม.ม. 13/32 , สํ. สํ. 15/ 225/ สํ. นิ. 16/331
190 ขุ.ชา. ๒๘ /๒๔๐ / ๘๖