บทที่ ๔
เปรียบเทียบจริยธรรมที่ปรากฎในพุทธภาษิตกับผญาภาษิตอีสาน
การศึกษาพุทธภาษิตและผญาภาษิตอีสานนั้นความสำคัญที่สุดคือคติธรรมคำสอนของพุทธภาษิตและผญาภาษิตอีสานซึ่งมีระบบความคิดของนักปราชญ์โบราณอีสานแต่ละคนมีระบบและวิธีการในการคิดเสนอคติธรรมที่สอดคล้องกับหลักพุทธศาสนาอย่างไร หรือว่าพุทธภาษิตได้มีบทบาทอิทธิพลต่อผญาภาษิตอีสาน อันหมายถึงหลักการแยกศึกษาส่วนย่อย ในความหมายของการวิเคราะห์นี้ นอกจากวิเคราะห์แล้วผู้เขียนยังต้องมีการสังเคราะห์หมายถึง การนำเอาสิ่งที่วิเคราะห์นั้นมารวมกันซึ่งจะได้องค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้น และยังมีวิธีการอื่นๆ ที่ใช้เป็นหลักมาตรฐานในการเปรียบเทียบ ซึ่งมี ๙ วิธีการ* เช่น การใช้หลักอัตนัยหรือปรัชญาของตนเพิ่มอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลตรงตามที่ได้ตั้งจุดประสงค์เอาไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงกระทำได้
การศึกษาเปรียบเทียบทัศนะในพุทธภาษิตและในผญาภาษิตอีสาน มิได้มีความมุ่งหมายเพื่อยกพุทธภาษิตให้สูงกว่า ดีกว่า มีคุณค่ามากกว่า หรือให้ต่ำกว่า ดีน้อยกว่า และมีคุณค่าน้อยกว่าผญาภาษิตแต่อย่างใด เพียงแต่ประสงค์จะทราบถึง ทรรศนะส่วนใดที่เหมือนกัน คล้ายหรือใกล้เคียงกัน หรือทัศนะใดที่แตกต่างกันในความเหมือนกัน เพราะทั้งความเหมือนกันและแตกต่างกันนั้น สามารถที่จะให้ทัศนะทางความคิด และความลึกซึ้งของคำสอนนั้นอย่างเท่าเทียมกัน การเปรียบเทียบนั้นย่อมจะปรากฏผลทั้งเหมือนกัน และแตกต่างกัน
ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงต้องเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า การทำจิตให้เป็นกลางอย่างอิสระไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นคุณธรรมของทั้งผู้ศึกษาและผู้อ่านที่ถูกต้อง การนำหลักการมาเปรียบเทียบ จึงเป็นการทำหน้าที่ในการจะทำให้เหตุผลทำหน้าที่ของเหตุผลได้อย่างอิสระแท้จริง ซึ่งอาจแตกต่างหรือเหมือนกันนั้นขึ้นอยู่กับหลักของเหตุผลของสุภาษิตทั้งสองสายนั้น ๆ ในกรณีอย่างนี้ พระเมธีธรรมาภรณ์กล่าวถึงการเปรียบเทียบว่าจะต้องมีใจที่เป็นกลางนั้นต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า
การนำเอาปรัชญามาเปรียบเทียบกันไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วย ความเห็นเหมือนกันเสมอไป คนส่วนมากมีความเข้าใจผิดว่า การเปรียบเทียบปรัชญา ใด ๆ ก็ตามมุ่งที่จะค้นหาว่าปรัชญานั้น ๆ เหมือนกันอย่างไรบ้าง อันเป็นทัศนะที่ผิด ( อันเป็นความหวังที่ไม่มีทางเลือก ) เพราะแท้ที่จริงนั้น การเปรียบเทียบปรัชญาอาจเป็นการแสวงหาความแตกต่าง ในปรัชญาที่ดูเผิน ๆ แล้วเหมือนกัน๒
จากข้อความที่ยกมานี้ จึงต้องอาศัยความเป็นกลางโดยให้ปัญญาเดินไปพร้อมกับเหตุผล และบางครั้งจะต้องยกตัวอย่างมาอธิบายให้เกิดความเข้าใจ ผู้ศึกษาจึงต้องมีจิตใจกว้าง๓ กล่าวคือ ถ้าได้รับรู้ ความรู้ที่ผิดไปจากความเชื่อเดิม ๆ การศึกษาที่ผ่านมาแล้วนั้น ต้องทำใจให้เป็นคนใหม่ ศึกษาของใหม่ ด้วยจิตใจใหม่ สติปัญญาใหม่ ๆ และพยายามค้นหาให้พบ หรือเข้าใจให้ได้ว่า จุดมุ่งหมายที่แท้จริงนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร
ดังนั้น ในการเปรียบเทียบจึงต้องรู้ข้อมูลที่ลึกซึ้ง ทั้งพุทธภาษิตและผญาภาษิตอีสาน โดยเฉพาะการวางใจให้เป็นกลางในการศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลให้ได้และนำมาเปรียบเทียบนั้น นับว่าเป็นปฐมเหตุที่จะทำให้รู้ความจริงแท้ ทั้งความเหมือนกันและแตกต่างกัน
ในทัศนะโดยทั่วไปของพุทธศาสนานั้น เป็นกรรมวาที กิริยาวาที และวิริยวาที คือเป็นพุทธปรัชญาที่ยืนยันหลัก กรรม คือการกระทำ และความเพียรพยายามสม่ำเสมอเป็นสาเหตุให้เกิดผลแห่งประโยชน์ และความสุข ซึ่งการกระทำนั้นจะต้องประกอบด้วยความตั้งใจหรือเจตนาจึงจะทำให้ได้รับผลสมบูรณ์อย่างเต็มที่ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ทั้งนี้สาเหตุคือผัสสะ”๔จากพุทธภาษตินี้แสดงว่า การกระทำที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และความสุข มีอิทธิพลต่อหลักศีลธรรมของมนุษย์จะต้องมีความตั้งใจเป็นหลักสำคัญต่อการแสดงออกมาทางวาจา และทางกาย จะต้องเกี่ยวโยงกับสังคมในทางที่ดี
พุทธภาษิตได้ตระหนักในเรื่องของการกระทำนี้เป็นอย่างดี การกระทำกรรมหรือการแสดงออกของพฤติกรรมมนุษย์จึงต้องอาศัยหลักธรรมที่สำคัญยิ่งคือความมีสติ ที่เรียกว่า ความไม่ประมาท และใช้ความเพียรพยายาม ที่ถูกต้องเป็นธรรมจึงทำให้มนุษย์เป็นผู้ที่มีความสุขได้ เพราะความสุขนั้นไม่ได้จำกัดแต่เพียงตระกูลสูง ชนชั้นสูง มียศสูง หรือมีโภคะมากมายหามิได้ แต่ความสุขและความทุกข์นั้น เกิดจากการกระทำกรรมของบุคคลนั้น ๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า “บุคคลไม่เป็นคนถ่อย (คนชั่ว)เพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์( คนดี) เพราะชาติ แต่เป็นคนถ่อย (คนชั่ว )เพราะกรรม เป็นพราหมณ์(คนดี)เพราะกรรม (การกระทำ หรือ พฤติกรรม)”๕จากพุทธพจน์นี้ จึงเป็นการเน้นหลักจริยธรรมที่การกระทำอย่างชัดเจน และเด่นชัดยิ่ง อันเป็นเครื่องชี้ชัดเจนว่าการที่มนุษย์จะเป็นคนดีมีความสุขทั้งกายและใจนั้น อยู่ที่การกระทำ และยังต้องได้รับผลแห่งการกระทำนั้นด้วย
พระพุทธองค์ตรัสย้ำกับ สุมาณพ โตเทยบุตร ณ วัดพระเชตวันเอาไว้ความว่า “ ดูก่อนมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลว และประณีตได้”๖ จากพระพุทธดำรัสที่ยกมานี้ จึงเป็นการชี้ชัดว่า พุทธปรัชญาเน้นสอนให้มนุษย์มีความเข้าใจในเหตุและผล ด้วยปัญญาที่อิสระ การกระทำนั้นจะนำประโยชน์และความสุข มาสู่ตนและบุคคลอื่น ไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น อันเป็นการให้แนวทางที่เป็นกลางเอาไว้ มนุษย์สามารถเลือกปฏิบัติตามได้ การสอนก็มิได้บังคับให้เชื่อโดยขาดการพิจารณา การไตร่ตรอง แต่สอนให้รู้และเลือกที่จะปฏิบัติได้ด้วยสติปัญญาเองอย่างถูกต้อง
๔.๑ อิทธิพลของพุทธภาษิตที่มีต่อผญาอีสาน
พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อจิตใจของคนไทยชาวอีสานมาเป็นเวลาช้านานซึ่งเป็นแบบฉบับและเป็นหลักที่พึ่งของคนไทย ทั้งเป็นประทีปให้ความสว่างในการดำเนินชีวิต ดังนั้น การแสดงออกของคนไทยภาคอีสานจึงมีเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันและเนื่องจากผญาอีสานได้บันทึกเหตุการณ์ของสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย ฉะนั้นอิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าพุทธภาษิตจึงปรากฎอยู่ในคำผญาภาษิตอีสานเป็นจำนวนมากซึ่งอาจแยกออกเป็น
๑ ) อิทธิพลของหลักคำสอนที่มีในสุภาษิตอีสาน
๒ ) อิทธิพลของหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
๓ ) อิทธิพลของศรัทธาและความเชื่อที่มีในสุภาษิตอีสาน
๔) อิทธิพลของจริยธรรมที่มีต่อวิถีชีวิต
๕ ) อิทธิพลของคติคำสอนที่ได้เกิดจาก พุทธศาสนสุภาษิต
๖ ) อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีผลต่อแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง
ประเทศไทยเป็นประเทศพระพุทธศาสนา คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาและนับถือมานานนับพันปี คนไทยสมัยโบราณหันหน้าเข้าหาวัด ใกล้ชิดวัด สนิทกับวัดมากและวัดก็ทำหน้าที่ที่สำคัญเพื่อชาวบ้านไม่น้อย(สวัสดิ์) และเพราะคนไทยใกล้ชิดวัดนี่เอง แรงอิทธิพลของพระพุทธศาสนาจึงอยู่เหนือจิตใจของชาวไทยทุกคน และเพราะคนไทยมีชีวิตแนบแน่นกับพระพุทธศาสนามากเช่นนี้ พระพุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมในภาคอีสานมากมาย รวมไปถึงวรรณกรรมคำสอนต่างๆที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภาคอีสาน ๆ ซึ่งวิวัฒนาการมาจากวรรกรรมในพุทธศาสนา ดังนั้นพระพุทธศาสนาก็มีอิทธิพลในคำสอนของภาคอีสานเช่นเดียวกัน
๑) มีอิทธิพลต่อลักษณะนิสัยจิตใจ เพราะคนอีสานมีนิสัยเยือกเย็นโอบอ้อมอารี เมตตากรุณา เคารพ อ่อนน้อม ถ่อมตน กตัญญูกตเวที ขยันอดทน สุภาพ และไม่เห็นแก่ตัว เป็นต้น ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
๒) มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมต่าง ๆ ของชาวภาคอีสานที่สำคัญมากก็เกี่ยวเนื่องกับนิทานชาดกทางพระพุทธศาสนาแทรกอยู่ในวรรณกรรมอีสานทั้งหมด
๓) มีอิทธิพลต่อขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ของภาคอีสาน อันสืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนาได้อาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวปฏิบัติ คือ ไม่ลุอำนาจ เช่น โลภ โกรธ หลง เป็นต้น
๒ พระเมธีธรรมาภรณ์ ( ประยูร ธมฺมจิตฺโต ),เปรียบเทียบแนวคิดพุทธทาส-ซาตร์, (กรุงเทพฯ: ศยาม บริษัทเคล็ดไทยจำกัด,๒๕๓๖ ) หน้า ๓-๔.
๓ พุทธทาสภิกขุ,. สูตรเว่ยหล่าง,. ( กรุงเทพฯ:ธรรมสภา,๒๕๓๐ ) หน้า คำ-อนุโมทนา.