วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เปรียบเทียบแนวคำสอนของพุทธภาษิตกับผญาภาษิตอีสาน

T251109_04CC
. เปรียบเทียบแนวคำสอนของพุทธภาษิตกับผญาภาษิตอีสาน

. คำสั่งสอนในด้ายจริยธรรม

พุทธภาษิตคือ คำสั่งสอนของพระบรมศาสดา มีจุดหมายไปยังวิธีการแก้ปัญหาของชีวิต คือแก้ทุกข์ จุดสุดท้ายของชีวิตคือความสุข ในชีวิตมีสุขมีทุกข์และอุเบกรมณ์สามสิ่งนี้ผสมผสานสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเป็นสันตติสืบต่อกันเป็นสายใยของชีวิต หมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้จะมีความสุขที่ถาวรอยู่ตลอดไปก็ไม่ได้ หรือจะมีความทุกข์ถาวรก็ไม่ได้ และมีอารมณ์เฉยๆต่อสรรพสิ่งตลอดกาลก็ไม่ได้อีกเช่นกัน ชีวิต อันมีสิ่งปรุงแต่งนี้มันคืออะไร อารมณ์ที่มาปรุงแต่งชีวิตนั้นคืออะไร

เปรียบเทียบพุทธภาษิตกับอีสานภาษิต

พุทธภาษิต

การบันทึกคำสั่งสอน

๑) ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ไม่มีการจารึกคำสั่งสอน เป็นแต่เพียงร้อยกรองคำสั่งสอนให้เป็นหมวดหมู่เพื่อง่ายในการท่องจำ โดยมีการแบ่งหน้าที่กันระหว่างพระสงฆ์ ให้ภิกษุฝ่ายหนึ่งท่องจำพระวินัย เรียกว่าพระวินัยธร ให้ภิกษุอีกฝ่ายหนึ่งรับหน้าที่ในการท่องพระสูตร เรียกว่าพระธรรมธร แม้ผู้จำพระสูตรก็ยังแบ่งออกเป็นสองพวกคือ ทีฆภาณกะ คือผู้ทรงจำพระสูตรขนาดยาว และ มัชฌิมภาณกะ คือผู้ทรงจำพระสูตรขนาดกลาง การสืบทอดพระพุทธพจน์คงมีมาในรูปแบบของ มุขปาฐะ( Oral tradition) นี้มาเป็นเวลาช้านาน

๒) ตามหลังฐานทางฝ่ายลังกาเท่าที่ปรากฏในคัมภีร์ทีปังสะ แต่งประมาณ ค.ศ. ๔๐๐ พระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถาได้รับการจารึกเป็นตัวอักษรใส่ไว้ในใบลานเป็นครั้งแรกในประเทศลังกา ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามีนีอภัย (๑๐๓–๑๐๔ ก่อนค.ศ.) การจารึกลงในใบลานครั้งแรกนี้เมื่อประมาณ ๔๓๓ ปีหลังพุทธปรินิพพาน 1

๓) มีการชำระพระไตรปิฎกและจารึกลงในใบลานที่เมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราชประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ โดยมีพระธรรมทินเถระเป็นประธาน โดยได้จารึกเป็นอักษรล้านนาไทย

๔. มีการจารึกในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ โดยทรงให้ชำระและแปลจากภาษาลาว ภาษารามัญ มาเป็นภาษาขอมด้วย โดยทรงโปรดให้ประชุมพระสงฆ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๒๑๘ รูป กระทำสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดมหาธาตุ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน และมีราชบัณฑิตจำนวน ๓๒ คนร่วมด้วย ใช้เวลาทำนานถึง ๕ เดือน และทรงโปรดให้จารึกลงในใบลานเย็บเป็นเล่มๆ แต่ละเล่มมีปกปิดทองทึบทั้งปกหน้าและปกหลัง จึงเรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ว่า “พระไตรปิฎกฉบับทอง” ส่วนพระองค์ทรงปฏิบัติวัตรทางพระศาสนาด้วยการทรงศีลบำเพ็ญทานและทรงธรรมอยู่เสมอดังที่ปรากฏในกฏหมายตราสามดวงตอนหนึ่งว่า

และให้ตั้งอยู่ในทศกุศลกรรมบท เป็นนิจวินัยศีล ครั้นถึงวาระ ๘ ค่ำ วัน ๑๔ ค่ำและวัน ๑๕ ค่ำ ให้รักษาพระอุโบสถศีลแปด ศีลสิบประการเป็นอดิเรกศีล ชวนกันทำบุญให้ทาน สดับฟังธรรมเทศนา จำเริญธรรมภาวนา ให้เป็นอาริยอุโบสถ จำเริญอานิสงส์ยิ่งขึ้นไป ทุกวันนี้ตั้งพระทัยแต่ที่จะทำนุบำรุงวรพระพุทธศาสนา ไพร่ฟ้าประชากรให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ตั้งอยู่ในคติธรรมทั้ง ๔ ดำรงจิตจัตุรัสบำเพ็ญศีลทาน จะได้สุคติภูมิ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติเป็นประโยชน์แก่ตน2

๕. มีการชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นรูปเล่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จำนวน ๓๙ เล่ม โดยแปลออกจากฉบับภาษาขอม มาเป็นภาษาไทยเป็นต้น ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ก็ได้จัดพิมพ์พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ และได้รับการสืบทอดจากฉบับที่พิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นฉบับ จนได้เป็นฉบับมาตรฐานที่ใช้ในการศึกษาอ้างอิงในปัจจุบันนี้ และมีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกในคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในปี ๒๕๐๐ ได้มีการทำเนินการจัดพิมพ์ขึ้นมาอีกให้ครบกับพระชนมายุของพระพุทธเจ้า จึงมี ๘๐ เล่มและเป็นฉบับภาษาบาลีไทยอีก ๔๕ เล่ม ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้พิมพ์เป็นฉบับภาษาไทย ๔๕ เล่มเท่ากับฉบับภาษาบาลี

ประเภทของพุทธศาสนสุภาษิตมี ๕ ชนิดคือ

๑. พุทธภาษิต เป็นพระพุทธดำรัสของพระพุทธเจ้าเองที่ทรงตรัสแสดงพระธรรมด้วยพระองค์เอง มีด้วยกัน ๔ ลักษณะคือ

๑.๑) อัตตัชฌาสยะ เป็นไปตามอัธยาศัยของพระองค์เอง เช่น พระธรรมจักกัปปวัตนสูตร เป็นต้น

๑.๒) ปรัชฌาสยะ เป็นไปตามอัธยาศัยของผู้อื่นเป็นหลัก คือทรงตรัสดูว่ามีใครบ้างที่มีอินทรีย์แก่กล้าพอที่จะสั่งสอนได้ พระองค์ก็จะทรงตรัสพระภาษิตนั้นๆเพื่อหวังให้ผู้ฟังได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลนี้เรียกว่าเป็นไปตามอัธยาศัยบารมีของผู้อื่น

๑.๓) ปุจฉาวสิกะ คือเป็นไปตามอำนาจของการถามของผู้อื่น เช่นพระสาวก พราหมณ์ และเทวดา เช่นมาใน เทวตาสูตร,พราหมสังยุต สักกปัญหสูตร เป็นต้น

๑.๔) อัตถุปปัตติกะ เป็นไปตามเหตุการณ์นั้นๆที่เกิดขึ้นแล้วพระองค์ทรงแสดงเหตุนั้นๆแล้วทรงตรัสเป็นพระภาษิต เช่น พรหมชาสูตร, ธรรมทายาทสูตร,จุลลสีหนาทสูตรเป็นต้น3

๒. โพธิสัตว์ภาษิต

พระโพธิสัตว์,คือบุคคลผู้ข้องอยู่ในญาณชื่อโพธิ์ เป็นคำเรียกท่านผู้ที่จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า และเป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระองค์เองเมื่อก่อนตรัสรู้ เช่นปรากฏในชาดกต่างๆมากมายถึง ๕๔๗ เรื่อง เป็นการสร้างบารมีให้เต็มบริบูรณ์ ดังนี้คือ

๒.๑) ทานบารมี ก็มี เวสสันดรชาดกทรงบริจาคบุตรธิดาและบริจาคภรรยาแก่พระอินทร์ซึ่งแปลงเป็นพราหมณ์ และนิโครธชาดกที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาเนื้อ ยอมสละชีวิตแทนนางเนื้อที่มีครรภ์แก่เป็นต้น

๒.๒) ศีลบารมี ก็มีมาในชาดกดังนี้คือ ภูริทัตตชาดก เสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อภูริทัต เป็นต้น

๒.๓) เนกขัมมบารมี ก็มีมาในชาดาเรื่องหัตถีปาลกุมาร พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นหัตถีปาลกุมารเห็นโทษแห่งทรัพย์สมบัติจึงพาคนทั้งหลายออกบวชเป็นฤาษี เป็นต้น

๒.๔) ปัญญาบารมี มีมาในชาดก คือ มโหสถชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต มีปัญญามากทรงแก้ปัญญาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และทรงช่วยให้กษัตรย์ ๑๐๑ พระองค์รอดพ้นจากการวงยาพิษ เป็นต้น

๒.๕) วิริยบารมี คือการสร้างบารมีในความเพียร เช่น มหาชนกชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติ เป็นพระชนกราชกุมาร เมื่อเรือแตกพระองค์ทรงว่ายน้ำอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรและนางเมฆขลาเทพธิดาทดลองใจให้ทอดอาลัยในชีวิตแต่พระองค์ไม่ทรงละความเพียรจนนางเมฆขลาเลื่อมใสและช่วยให้รอดพ้นจากมหาสมุทรได้ ต่อมาได้ครองราชที่เมืองมิถิลานคร และได้ทรงออกบวชเป็นฤาษีเป็นต้น

๒.๖) ขันติบารมี คือบารมีที่ใช้ความอดทน อดกลั้นต่อทุกสิ่งทุกอย่างเช่น ขันติวาทชาดก เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นดาบสที่ถือมั่นในขันติธรรมไม่ทรงโกรธตอบกับพระเจ้ากลามที่รับสั่งให้ทำโทษถึงอันตรายแก่ชีวิดก็ตาม

๒.๗) สัจจบารมี คือบารมีในการรักษาความสัตย์จริง เช่น มัจฉชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นปลา ตั้งสัตยาธิษฐานให้ฝนตก ฝนก็ตกลงมาให้ปลาทั้งหลายรอดพ้นจากความตาย เป็นต้น

๒.๘) อธิษฐานบารมี คือบารมีในการบำเพ็ญเพียรทางความตั้งใจมั่นในการทำความดี เช่น เตมีย์ชาดก เป็นต้น

๒.๙) เมตตาบารมี คือการบำเพ็ญเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย เช่น สุวรรณสามชาดกที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุวรรณสามกุมารเลี้ยงบิดามารดา ที่ตาบอดทั้งสองข้างและถูกพระเจ้าปิลยักษ์ยิงด้วยธนูก็ไม่ทรงโกรธตอบให้ความเมตตาต่อพระเจ้าปิลยักษ์จนลูกศรอาบยาพิษไม่ทำอันตรายต่อสุวรรณสามได้เป็นต้น

๒.๑๐) อุเบกขาบารมี คือบารมีในความวางเฉย เช่น สุกรชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นราชสีห์ถูกสุกรตัวหนึ่งมาท้าชวนให้ต่อสู้แต่ราชสีห์ไม่รบด้วยจึงทำให้สุกรแพ้ภัยตัวเอง เป็นต้น4

๓. เถรภาษิต

เป็นการแสดงพระธรรมเพื่อให้บุคคลได้เข้าใจในหลักคำสอนได้ดีขึ้น ดังนั้นพระเถระทั้งหลายจึงนำเอาพุทธพจน์มาแสดงโดยย่อเช่นที่ท่านพระอัสสชิแสดงธรรมแต่เพียงย่อๆแก่ พระสารีบุตรเมื่อครั้งที่บวชเป็นปริพาชกศิษย์ของพรามหณ์พาวรีดังนี้คือ

“เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต

เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํวาที มหาสมโณ”

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติสอนอย่างนี้ 5

๔. เถรีภาษิต เป็นลักษณะการอุทานของพระเถรีบ้าง เป็นการกล่าวธรรมบ้างเช่น

ทุกฺขเมว หิ สมฺโภติ ทุกฺขํ ติฏฐติ เวติ

นาญฺญตฺร ทุกฺขา สมฺโภติ นาญฺญตฺร ทุกฺขา

นิรุชฺฌติ.6

ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดและไม่มีอะไรดับฯ เป็นต้น

๕. เทวภาษิต คือคำภาษิตของเทวดาตลอดทั้งหมู่เทพทั้งหลายได้มาทูลถามพระพุทธเจ้า เช่น

ชรูปนีตสฺส น สนฺติ ตาณา7

ไม่มีใครป้องกันความแก่ชราได้

อีสานภาษิต

การบันทึกคำสอ

๑) ตำนานการบันทึกคำสอนของชาวอีสานนั้นมีมาในเชตุพน คือการไปสืบศาสนาจากวัดพระเชตุพน กรุงสาวัตถี โดยมีขุนไท ขุนลี่ล้ำ ขุนพล และขุนพายกับไพร่พลชาย ๕๐๐ คนและหญิง ๑๐๐ คนไปนำเอาพระไตรปิฎกและพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ดังข้อความดังนี้คือ

ขุนก็ลาจากเจ้าไปห้องแห่งสมณ์ เถิงสถานเจ้าราชครูบังคมหมอบ นบนอบนิ้ววอนให้เหนี่ยวขอ เอาธรรมเจ้าเจ็ดคัมภีร์เมือแผ่ ไว้สืบสร้างศีลส้อยศาสนา เมื่อนั้นมหาเถรเจ้าใจบุญบายยื่น ให้แก่หลานราชเจ้าเมื่อสร้างสืบสูตรเฮียนแท้แล้ว13

๒) ได้นำเอานิทานชาดกซึ่งเป็นชีวประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ เช่น พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ พระเจ้า ๕๐ ชาติ พระเจ้า ๑๐ ชาติ และชาดกต่างๆเหล่านี้กลับมาด้วยแล้วนำมาแต่งเป็นกาพย์ กลอน ขึ้นแล้วจารึกไว้ในใบลานด้วยตัวอักษรธรรมรวมเป็นหนังสือผูกต่างๆมากมาย เช่น จุลชยปริต เป็นต้น14

๓) ชาวอีสานได้รับเอาวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกับประชาชนในอาณาจักรล้านช้างมาตั้งแต่สมัยอดีต ฉะนั้นจึงมีลักษณะร่วมกันอยู่มากทางด้านวรรณคดีต่างๆ ตลอดถึงภาษาที่ใช้ก็มีสำเนียงเสียงที่คล้ายคลึงกัน ตลอดถึงคติความเชื่อต่างๆก็นับว่าคล้ายกันมาก

๔) อาณาจักรล้านช้าง(ลาว)ได้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอาณาจักรล้านนาในเชียงใหม่ในรัชสมัยราชวงศ์มังราย และได้เคยมีการสืบทอดวัฒนธรรมจากล้านนาไทย ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๔๐๐ มีเมืองที่สำคัญๆ ๓ เมืองคือ เมืองหริญภุญไชย เมืองเงินยาง เมืองพะเยา ได้รับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาในอาณาจักรล้านนาไทย ๓ คณะคือ (๑.)คณะพื้นเมืองที่พระนางจามเทวีนำไปจากเมืองละโว้ สมัยอาณาจักรทวาราวดียังมีอำนาจอยู่และ (๒) คณะรามัญหรือคณะบุบผาวาสี เป็นพระพุทธศาสนาที่พระสุมนเถระไปอุปสมบทที่เมืองเมาะตะมะ ในประเทศพม่านำมาเผยแพร่ และ (๓) คณะลังกา ได้เข้ามาในช่วงหลังและได้รับความนิยมแพร่หลายในอาณาจักรล้านนาไทย ในสมัยต่อมา ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์ว่า

ภิกษุสงฆ์ชาวล้านนาไปเล่าเรียนพระปริยัติธรรมรู้จนแตกฉานมาจากลังกาทวีป แล้วมาสั่งสอนกันที่ประเทศล้านนา จนมีผู้เชียวชาญแต่งหนังสือภาษามคธได้เช่นเรื่อง ชินกาลมาลินี และมงคลทีปนี ปัญญาสชาดก เป็นต้น และยังมีหนังสือที่ชาวล้านนาแต่งเป็นภาษามคธปรากฏอยู่จนทุกวันนี้มีมากกว่าสิบคัมภีร์15

๕) คำสอนของชาวอีสานได้จารึกไว้ด้วยภาษาของท้องถิ่นคือตัวอักษรธรรม ใช้จารึกเรื่องราวที่เป็นจริยวัตรของพระพุทธเจ้าและสรรพวิชาการต่างๆ ตัวอักษรไทยน้อย ใช้ในราชการบ้านเมือง และจารึกวรรณกรรมที่ปราชญ์โบราณอีสานแต่งขึ้นเอง เพื่อสอนคนให้ประกอบแต่คุณงามความดี และตัวอักษรขอมใช้จารึกเรื่องราวที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าล้วนๆ เช่นพระไตรปิฏก

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวบรวมหัวเมืองชายแดนที่เป็นประเทศราช ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เข้าเป็นประเทศสยามอันเดียวกัน และอิทธิพลของอักษรไทยแพร่เข้ามาในหัวเมืองอีสาน เริ่มแรกนั้นอักษรไทยก็ใช้เฉพาะในงานราชการเท่านั้น ส่วนชาวบ้านและชาววัดยังคงใช้อักษรพื้นเมืองอยู่ และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงจึงทำให้อักษรโบราณอีสานได้ลดความนิยมลง16

ประเภทของอีสานภาษิต

ชาวอีสานมีสำนวนโวหารในการพูดที่เป็นเอกลักษณะอยู่อย่างหนึ่งที่ทราบกันทั่วไปว่า “ผะหยา”หรือ “ผญา” มาจากคำว่า ปรัชญา หรือ ปัญญา เนื่องจากหน่วยเสียง ปร ในภาษาอีสานไม่มี จึงใช้หน่วยเสียง ผ แทน เช่น ปราสาท เป็น ผาสาท เป็นต้น ลักษณะสำนวนพูดแบบผญามีลักษณะเด่นๆอยู่ ๒ ประการคือ

๑) เป็นคำพูดที่หลักแหลม ได้สารัตถะ แสดงให้รู้ว่าเป็นคนมีสติปัญญาเฉียบแหลมของผู้พูด เช่น “เกลี้ยงแต่นอกทางในเป็นหมากเดื่อ หวานนอกเนื้อในส้มดั่งหมากหนาว” เรียกว่า หวานข้างนอกขมใจหรือตรงกับภาษิตว่า ปากหวานก้นเปรี้ยวนั้นเอง

๒) เป็นคำพูดที่ใช้ภาษาได้ไพเราะงดงามมีคุณค่าในด้านวรรณศิลป์ เป็นกลุ่มคำที่ไพเราะด้วยสัมผัสเสียง และยังมีคุณค่าในด้านการนำไปใช้ในเชิงอุปมาอุปไมยทำให้ผู้ฟังเกิดความคิดและมองเห็นภาพพจน์ ทำให้ได้ความหมายอย่างชัดเจนเมื่อนำมาเปรียบเทียบ เช่น

“ทุกข์เพิ่นบ่ว่าดี มีเพิ่นจั่งว่าพี่น้อง ลุงป้าเอิ้นว่าหลาน” หมายถึงว่าคนมีเงินมีทองรำรวย คนจึงยกย่องนำถือ แต่ถ้าคนจนๆแม้เครือญาติของตนเองก็ไม่อยากจะมาคบค้าสมาคมด้วย แต่ถ้าเขารำรวยเมื่อใดญาติๆก็จะหันมานับญาติกันอีก เป็นต้น17

ดังนั้นสุภาษิตอีสานจึงอาจนำมาจัดเป็นกลุ่มและประเภทได้ตามความหมายของกลุ่มคำและลักษณะที่นำไปใช้กับบุคคลอื่นๆแบ่งออกเป็น ๔ ชนิดใหญ่ๆคือ

๑. ผญาภาษิต เป็นบทผญาที่สั้นๆบ้างยาวบ้าง เน้นไปในการสั่งสอนให้คนตั้งอยู่ในคุณธรรมของตนเอง เช่นบทผญาภาษิตเหล่านี้คือ

๑.๑) แนวนามเซื้อเสือจำศีลอย่าฟ่าวเซื่อ

บาดห่าเห็นต่อนเนื้อศีลสิม้างแตกกะเด็น

หมายความว่า อย่าได้วางใจคนอื่นในคราบของคนมีศีลธรรมหรือคนที่แต่งตัวดีแต่ซ่อนความชั่วไว้ภานใจเมื่อเขามีโอกาสอาจจะทำลายเราได้ คล้ายกับสำนวนที่ว่า “ฤาษีกินเฮีย” เป็นต้น

๑.๒) เฮือคาแก้งเกวียนเห็นให้เกวียนแก่

บาดห่าฮอดแม่น้ำเฮือสิได้แก่เกวียน

หมายถึงหลักความสามัคคีกันพึ่งพาอาศัยกันระหว่างเรือกับเกวียน หมายถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนเราจะอยู่คนเดียวไม่ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องมีสักครั้งหนึ่งที่จะต้องช่วยกันตามอัตภาพ(น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่านั้นเอง)

๑.๓) จันทร์ใสแจ้งดวงเดียวบ่มีค่อง

บ่มีดาวแวดล้อมจันทร์เจ้าก็บ่เฮือง

หมายความว่าการพึ่งกันของนายกับบ่าวหรือขุนกับไพร่ นั้นต้องไปด้วยกันช่วยเหลือกันจึงจะทำให้งานนั้นสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะเจ้านายดีลูกน้องก็พลอยดีไปด้วยหรือนักปกครองมีคุณธรรมชาวบ้านก็มีศีลธรรมด้วยเรียกว่างามทั้งสองฝ่าย18

๑.๔) แนวหมากต้องบ่หล่นไกลกก

แนวผมดกบ่ห่อนมีหัวล้าน

หมายความว่าเชื่อเผ่าพันธ์เช่นใดก็ย่อมเป็นเช่นนั้น เหมือนปลูกพืชเช่นใดก็ย่อมได้ผลเช่นนั้น ไม่ยอมแตกแทวเป็นอย่างอื่นคนผมดกก็ย่อมมีลูกหลานที่ผมดกเช่นกับผู้เป็นพ่อแม่ แต่ยังมีความหมายแฝงอยู่คือลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น เปรียบด้วยบุคคลเช่นใดย่อมเป็นเหมือนพ่อแม่

๒. ผญาอวยพร ก็คือคำอวยพรให้แก่บุคคลต่างๆอาจจะนำเอาผญาภาษิตมีเป็นบทอวยพรก็ได้เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่บุคคลนั้นๆเช่น

๒.๑) ผญาอวยพรให้แก่คนทั่วๆไปเช่น

ขอให้หมู่เจ้าได้มีเงินคำแก้วไหลมาเฮืองเฮือ ให้มีเสื้อและผ้าไหลล้นหลั่งมา นอนหลับให้เจ้าได้เงินพัน นอนฝันให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แปนมือไปให้เจ้าได้แก้วมณีโชติ ผิวะทุกเข่าของเงินทองหลั่งลงมาหาหมู่เจ้า มื้อละล้านโกฏิแสนโกฏิ โทษฮ้ายอย่ามาพาล มารฮ้ายอย่าได้มาเบียดเจ้าเด้อ

๒.๒) ผญาอวยพรแก่ทายกทายิก คือ

หากเจ้าเป็นพ่อบ้านทายกทายิกา ได้นำพาซวนเซิญป่าวเตินซาวบ้านให้มาทำงานสร้างรักษาศีลฟังเทศน์ เพื่อเป็นเหตุนำสูสู่ซั้นฟ้าคราวหน้าบัดห่าตาย นับว่าเจ้านี้ได้เป็นฑูตเมืองสวรรค์ เป็นผู้ดันดึงจูงหมู่ลุงอาว์ป้า สาธุเด้อ ด้วยอำนาจสตางค์ที่เจ้าบริจาคแล้ว จงเป็นแก้วหน่วยใส ค่อยซี้ออกบอกให้ดังใจนึกตรองตรึก เป็นแก้วสารพันนึก ระลึกใดให้ไหลล้น อย่าได้จนเงินใช้ปัจจัยทั้งสี่ ให้มีสุขสวัสดีมีเงินทองมื้อนี้ เป็นเศรษฐีมื้อหน้าดั่งพรข้าได้กล่าวอวยพร ยามเจ้ามุดมอดม้วยให้บุญซ่วยซูสนอง ให้ได้เนาวิมานทองอยู่สวรรค์เมืองฟ้า ยามเจ้าลาจากห้องวิมารทองลงมาเกิด ให้ประเสริฐด้วยเกียรติฝูงขี้เดียดจังไฮ เวรภัยหมู่นั้นให้ผันพ่ายหนีละเด้อนา

๓. ผญาคำพังเพย19 คือเป็นกลุ่มผญาที่นำมาเป็นอุปมาอุปไมยเพื่อให้เกิดความสนใจก็มี หรือเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งโต้ตอบมาก็มี เช่น

๓.๑) ใช้น้ำมาเป็นอุปมาอุปไมยว่า

ใผว่าอีสานแล้งให้จูงแขนมันไปเบิ่ง

แม่น้ำโขงไหลอยู่จ่นๆมันสิแล้งได้จั่งใด

๓.๒) ใช้เมืองมาเป็นการเปรียบเทียบว่า

เห็นว่าเวียงจันทร์เศร้าสาวเอยอย่าฟ่าวว่า

มันสิโป้บาดหลาคือแตงซ้างหน่วยปลาย

๓.๓) ใช้หญิงมาเปรียบเทียบเช่น

เอาเมียสาวปานได้วัวซาวแม่

เอาเมียแก่ปานได้แม่ซาวคน

๔. ผญาเกี้ยว20 ที่คนหนุ่มสาวนำมาใช้พูดจากันตามแต่จะมีโอกาส เช่นงานประเพณีต่างๆหรืองานสาธารณประโยชน์อื่นๆก็ได้ เพื่อเกี้ยวพาราสีกันนั้นเองเช่น

๔.๑) ใช้ถามเมื่อมีหนุ่มมาเยือน

สาว แม่นเจ้าเนาหนห้องสถานถิ่นเมืองใด อ้ายเอย

ใจประสงค์สังนอจังด่วนมาทางนี้

หนุ่ม อ้ายก็เนาหนห้องหนองคายก้ำบ้านอยู่

ใจประสงค์อยากได้ชู้ก็เลยล้ำล่วงมาน้องเอย

๔.๒) ใช้ถามถึงคนรักของอีกฝ่ายหนึ่งเช่น

หนุ่ม อ้ายอยากถามข่าวน้ำถามข่าวถึงปลา

อ้ายอยากถามข่าวนาถามหาทางข้าว

ถามข่าวเจ้าว่ามีคู่แม่นแล้วบ่

หรือว่ามีแต่ชู้ผัวสิซ้อนก็บ่มี

สาว อ้ายเอยน้องนี้ปลอดอ้อยสร้อยเสมอดังตองตัด

ผัดแต่เป็นหญิงมาก็บ่มีชายเกี้ยว

ผัดแต่เป็นไม้ขึ้นเครือสิเกี้ยวก็บ่มี

(พี่เอ๋ย น้องนี้เปรียบเสมือนใบตองตัด ตั้งแต่เป็นหญิงมาก็ยังไม่มีใครเกี้ยว ตั้งแต่เป็นต้นไม้ขึ้นมาก็ไม่มีเครือเถาวัลย์เกี่ยวพันเลย

คุณค่าของพุทธภาษิต

๑. คุณค่าทางด้ายสัจธรรม

สพฺพุปาทานกฺขยา นตฺถิ ทุกฺขสฺส สมฺภโว

เพราะละความยึดมั่นถือมั่นได้ทั้งหมด ทุกข์จึงไม่เกิด 8

เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย, ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา9.

ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นที่ไปอันเอกเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงความเศร้าโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุถึงทางเดินที่ถูก เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง หนทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔

๒. คุณค่าทางด้านจริยธรรม

๒.๑)ในด้านศรัทธา

ยสฺเสเต จตุโร ธมฺมา สทฺธสฺส ฆรเมสิโน

สจฺจํ ทโม ธิติ จาโค สเว เปจฺจ น โสจติ10

ผู้ครองเรือนที่มีศรัทธา มีธรรม ๔ ประการคือ ความสัตย์ ความข่มใจ ความอดทน และความเสียสละ เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก

๒.๒) ในด้านหน้าที่การงาน

อุฏฺฐานวโต สติมโต สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน

สญฺญตฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ11

ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ควรแล้วจึงทำ ระวังดีแล้ว เป็นผู้อยู่โดยธรรม และไม่ประมาท

๓. คุณค่าในทางด้านผู้นำ

คุนนญฺจ ตรมานานํ อุชุ คจฺฉติ ปงฺคโว

สพฺพา ตา อุชุ คจฺฉติ เนตฺเต อุชุ คเต สติ

เอวเมว มนุสเสสุ โย โหติ เสฏฺฐสมฺมโต

โส เจ ธมฺมํ จรติ ปเคว อตร ปชา.

เมื่อฝูงโคกำลังว่ายข้ามฟากอยู่ ถ้าโคจ่าฝูงนำไปตรงโคทั้งปวงนั้นย่อมไปตรงกัน ฉันใด แม้ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าท่านผู้ที่ได้รับสมมติว่าเป็นหัวหน้าประพฤติธรรม คนนอกนี้ก็ประพฤติธรรมไปตามกัน

คุณค่าของอีสานภาษิต

๑. คุณค่าทางด้านสัจธรรม21

กาลสิมาภายหน้าอนิจจามันบ่เทียง

ต่างคนต่างสิหัวหงอกคือด้าวนกยาง

แขนขานับมื้อฮ้ายหูตานับมื้อบอด

ของสิ่งนี้มีแท้สู่คนแท้แล้ว

ชาติที่ความตายนี้เป็นกันทั้งโลก

มันหากเป็นแบบตั้งประจำแท้เทียงจริง

ทังหากเป็นเบิงเฒ่ามาตั้งแต่บูฮาม

คันหากไผเถิงคราวสิแหล่นหนีบ่มีพ้น

อันว่าโลกีย์นี้บ่มีแนวตั้งเทียง

มีแต่ตายแตกม้างทะลายล้มเกลื่อนหาย

อันว่าความตายม้างไกลกันเจียระจาก

คันบ่ม้มโอฆกว้างสิเทียวพ้ออยู่เลิง

๒. คุณค่าทางด้านจริยธรรม

๒.๑) ในด้านศรัทธา22

ใจบ่ศรัทธาเลื่อมแสนสิออยกะปานด่า

ใจบ่ศรัทธาดอมปากดีกะเป็นฮ้าย

คันหากศรัทธาแล้วแนวใดมันกะข่อง

มันหากหย่องๆข้วมเมืองฟ้าอยู่บ่ไกลฯ

๒.๒) ในด้านหน้าที่การงาน

ไผผู้มีบุญได้เป็นนายใช่แต่เพิ่น

คันแหม่นบุญบ่ให้เพิ่นสิใช่ตั้งแต่เฮา

ไผผู้มีบุญแล้วได้เป็นนายให้เขาเพิ่ง

คันแหม่นบุญบ่พร้อมแสนสิดิ้นก็เปล่าดายฯ

๓. ในด้านการเป็นผู้นำ

คันได้นั่งบ้านเป็นเอกสูงศักดิ์

อย่าได้โว้ๆเสียงลื่นคนทั้งค่าย

ซื่อว่าเป็นนายนี้ให้หวังดีดอมบ่าว

คันหากบ่าวบ่พร้อมซิเสียหน้าเมื่อเดินฯ

บัวอาศัยเพิ่งน้ำปลาเพิ่งวังตม

ไพร่กับนายก็เพิ่งกันโดยด้าม

ได้เป็นนายแล้วให้หลิงดูพวกไพร่แด่เดอ

ไพร่บ่ย้องสีหน้าบ่เฮืองได้แหล่วฯ

เป็นเจ้าให้ฮักพวกไพร่

เป็นนายใหญ่ให้ฮู้จักฮักบริวาร

เป็นสมภารให้ฮักจัวน้อย

เป็นนายพันนายฮ้อยให้ฮักพลทหาร


1 ร.ศ. แสง จันทรงาม, พุทธศาสนาจากพระโอษฐ์,(เชียงใหม่:โรงพิมพ์บรรณาคาร), ๒๕๒๓, หน้า ๔-๗

2 กรมวิชาการ, พระราชดำริเก้าราชกาล,(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว) ๒๕๒๕,หน้า ๑๕

3 โสภณคณาภรณ์(ระแบบ ฐิตญาโณ),พระ. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เล่ม ๑,(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย), ๒๕๒๓, หน้า ๓

4 ร.ศ. พัฒน์ เพ็งผลา, ชาดกกับวรรณกรรมไทย,(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ,๒๕๒๘,หน้า ๘๗–๙๓

5 วิ. มหา. ๔ / ๖๕/ ๗๔

6 ขุ. เถรี. ๔๕ / ๑๙๐

7 สํ. สํ. ๑๕ / ๓

13 จินดา ดวงใจ,นิทานวัดเชตพน,(ขอนแก่น:โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา),๒๕๐๕, หน้า ๑๕๖

14 จารุบุตร เรืองสุวรรณ,ของดีอีสาน,(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา) ,๒๕๒๐, หน้า

15 จิตรกร ตั้งเกษมสุข, ความเป็นมาของการศึกษาไทย,(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์เคล็ดไทย) ,๒๕๒๕, หน้า ๑๒

16 มนัส สุขสาย, ตำราเรียนอักษรโบราณไทยอีสาน,พิมพ์ครั้งที่ ๒,(อุบลราชธานี:โรงพิมพ์มูนมังไทยอีสาน) ,๒๕๔๐, หน้า ๒

17 จารุวรรณ ธรรมวัตร, คติชาวบ้านอีสาน,พิมพ์ครั้งที่ ๒ ,(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์อักษรวัฒนา) ๒๕๔๐,หน้า ๔๓–๔๔

18 อดิศร เพียงเกษ, วัฒนธรรมอีสาน,(ขอนแก่น:โรงพิมพ์ขอนแก่นการพิมพ์) ,๒๕๓๙,หน้า ๔๓

19 บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล, ผะหยา,(ขอนแก่น:โรงพิมพ์ขอนแก่นการพิมพ์), ๒๕๓๙, หน้า ๔-๕

20 ทรงศักดิ์ ปราวงค์วัฒนากุล, การศึกษาเปรียบเทียบคำอู้สาวล้านนาและผญาอีสาน,(เชียงใหม่:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ,๒๕๓๒, หน้า ๑๒๖–๑๒๗

8 ขุ. อุ. ๒๕ / ๘๔ / ๑๒๒

9 สํ. มหา. ๑๒ / ๓๖๗ / ๒๒๘

10 ขุ. สุ. ๒๔ / ๓๑๑ / ๓๖๑

11 ขุ. ธ. ๒๕ / ๑๘

21 ดร.ปรีชา พิณทอง, ย่าสอนหลาน,(อุบลราชธานี:โรงพิมพ์ศิริธรรมออฟเซท) ๒๕๓๔, หน้า ๖

22 นุ่ม เล่าหตระกูล, ภาษิตอีสาน,(อุบลราชธานี:โรงพิมพ์ศิริธรรมออฟเซท) ๒๕๒๐, หน้า๓๐–๓๑




กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]


โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคีและชนชั้นวรรณะพราหมณ์
เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน
โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ( Hatha Yoga )
ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา



ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหารร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ
เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้
หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี



โยคะท่าพื้นฐาน

ท่านมัสการ




ความหมาย


• นมัสการ หมายถึง ทำความเคารพ



วิธีปฏิบัติ


• ยืนหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เท้าชิด พนมมือ

• หายใจเช้าและยกแขนขึ้น ค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง ยื่นแขนเหนือศีรษะ

• หายใจออกช้าๆ เอนตัวไปข้างหน้า ให้มือที่พนมอยู่สัมผัสพื้นจนกระ ทั่งมืออยู่ในแนวเดียวกับเท้าศีรษะสัมผัสหัวเข่า

• หายใจเข้า ก้าวเท้าขวาถอยหลังมา 1 ก้าว ให้มือและเท้า ยังคงอยู่กับพื้น เท้าซ้ายอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• ขณะหายใจออก ยกเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา แขนตรงยกสะโพกขึ้นให้ศีรษะ และแขนอยู่ในแนวเดียวกัน ทำท่าเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าและค่อยๆ ลดสะโพกลงมาที่พื้น (ให้สะโพกอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย) ก้มตัวลงไปข้างหลังให้มากที่สุด

• หายใจออก และลดตัวลงมาที่เท้า เข่า มือ และอก สัมผัสพื้น

• หายใจเข้า และค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยศีรษะไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด และโค้งกระดูกสันหลังไปให้ได้มากที่สุด เหมือนท่านาคอาสนะ

• ขณะหายใจออกช้าๆ และให้แขนอาสนะ ยกสะโพกขึ้น และให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกับแขน ทำเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าช้าๆ และงอเข่าซ้าย ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือยังคงอยู่ที่พื้น วางเท้าซ้ายลงบนพื้นระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• หายใจออกช้าๆ ให้มืออยู่ที่เดิม ดึงเท้าทั้งสองเข้ามาชิดกัน ให้อยู่แนวเดียวกับมือถ้าเป็นไปได้ ให้ศีรษะสัมพันธ์กับหัวเข่า

• หายใจเข้าช้าๆ และยกแขนขึ้น ค่อยๆเอนตัวไปข้างหลัง โดยยื่นแขนขึ้นเหนือศีรษะ ย้อนกลับไปตำแหน่งยังข้อ 1



ท่าชวังคอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต ชว หมายถึง ทั้งหมด หรือ ทุกๆ อังคะ หมายถึง ร่างกาย ชวังคะ จึงหมายถึง ทำทั้งร่างกาย

ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นท่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน ท่านี้มักเรียกกันว่า ท่ายืนบนไหล่

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงายในท่า ศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้นขณะงอเข่าและดึงเข่าเข้ามาที่ท้อง หายใจออก

• หายใจเข้าช้าๆ กดฝ่ามือลง ยกลำตัวตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นจากพื้น งอกระดูกสันหลังไปข้างหลัง และทำท่อนแขนให้ตรง ให้สะโพกอยู่บนพื้น

• หายใจเข้าแล้วในขณะหายใจออก ให้ยกขาตั้งฉากกับพื้น อาจใช้มือพยุงสะโพกไว้ หรือวางแขนไว้ลงกับพื้นตามถนัด

• ขาดชิด เข่าตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น ศีรษะตรงไม่หันไปด้านใดด้านหนึ่ง เก็บคางให้ชนหน้าอก

• หายใจเข้า ออก ช้าๆ ขณะคงท่านี้ไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 6 จนกลับสู่ท่าศพอาสนะ



ท่าตรีโกณอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ตรี ในภาษาสันสกฤตหมายถึง สาม โกณ หมายถึง เหลี่ยมหรือมุม

ดังนั้น ท่านี้จึงเรียกว่า ท่าสามมุม หรือท่าสามเหลี่ยม

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิดแขนแนบลำตัว

• แยกเท้าออกจากกัน ให้ระยะห่างมากกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย

• หายใจเข้าและยื่นแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้น ฝ่ามือคว่ำลง

• หายใจออกช้าๆ หันลำตัวไปทางซ้าย งอตัวที่ช่วงเอว ให้มือขวาลงไปที่แข้งซ้าย ฝ่ามือขวา วางไว้ข้างนอกของหน้าแข้งซ้าย

แขนซ้ายควรยื่นออกไปด้านบนขาและแขนทั้งสองข้างตรง โดยไม่ต้องงอเข่าและข้อศอก


• หันศีรษะขึ้นไปทางซ้าย มองไปที่ปลายนิ้วมือซ้าย หายใจเข้า และกลับไปสู่ท่าเดิม คือท่ายืน ให้แขนกางออก

• คงท่านี้ไว้ เท่ากับช่วงหายใจออก หายใจออกและทำซ้ำ ขั้นตอนที่ 4-7 สลับซ้าย



ศีรษะอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ศีรษะ หมายถึง หัว ในภาษาสันสกฤต ท่านี้คือ ท่ายืนด้วยศีรษะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการฝึกอาสนะ ไม่แพ้ท่าปทมอาสนะ

ด้านบนคือภาพโมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพโยคีขณะทำท่าศีรษะอาสนะ

วิธีปฏิบัติ


• นั่งคุกเข่า ให้สะโพกอยู่บนส้นเท้า

• เอนตัวไปข้างหน้า วางแขนลงบนพื้น ให้ศอกห่างกัน 1 ช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน

• วางศีรษะลงบนพื้น ให้ท้ายทอยสัมผัสมือที่ประสานไว้

• ให้ปลายเท้าจิกพื้น ขณะยกส้นเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น

• คงท่านี้ไว้เป็นระยะเท่ากับการหายใจเข้า ถ้าไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ให้ค่อยๆ หายใจออก และนอนราบกับพื้น กางขาออก กลับไปสู่ท่าศพอาสนะ



หลอาสนะ



ความหมาย

• หล แปลว่า คันไถ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย แบบท่าศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำที่พื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้น งอเข่าเข้ามาจรดท้องขณะหายใจออก

• หายใจเข้า ขณะหายใจออกให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับพื้น คุณอาจใช้มือพยุงสะโพก หรือวางแขนราบไปกับพื้นแล้วแต่ถนัด

• หายใจออก แล้วยกขาขึ้นเหนือศีรษะ งอขาตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ยกหลังและสะโพก จนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นด้านหลังของศีรษะ รักษาเท้าให้ชิดกัน

หากใช้มือพยุงหลังให้ลองวางแขนราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง ถ้าไม่สามารถวางแขนลงที่พื้นได้ให้ใช้มือพยุงหลังส่วนล่างไว้


• เข่าตรง หายใจช้าๆ และคงท่านี้ไว้สักครู่ ถ้านิ้วเท้าสัมผัสพื้นไม่ได้ ก็พยายามให้นิ้วเท้าอยู่ต่ำที่สุด

• ทำท่าย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 5 ถึง 1 จนกลับไปสู่ท่าศพอาสนะเหมือนเดิม




ธนูอาสนะ




ความหมาย

• คำว่าธนู ในภาษสันสกฤต หมายถึง มีรูปร่างเหมือนคันศร โค้ง หรือ งอ คันศร

ในที่นี้หมายถึง คันศรที่ใช้กับลูกธนู ท่าอาสนะนี้ มีชื่อแบบนี้เนื่องจาก ร่างกายมีท่าทางคล้ายคันศรที่โก่งพร้อมยิงธนู

วิธีปฏิบัติ


• นอนคว่ำหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนราบไปกับลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น

• หันหน้ามาเพื่อวางคางไว้บนพื้น หายใจออก งอเข่า เอื้อมแขนไปข้างหลัง จับข้อเท้าขวาไว้ด้วยมือขวา จับข้อเท้าซ้ายด้วยมือซ้าย

• ขณะหายใจเข้า ค่อยๆ ยกขาขึ้นโดยดึงข้อเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น และยกอกขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน

กลั้นลมหายใจเข้าเอาไว้ ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนหน้าท้อง


• ยื่นศีรษะให้ไกลที่สุด คงท่านี้ไว้ขณะกลั้นหายใจ

• หายใจออกช้าๆ วางเข่าลงบนพื้น ปล่อยข้อเท้า ค่อยๆ วางขาและแขนลงบนพื้น หันหน้าไปข้างหนึ่ง ทำเหมือนท่าเริ่มต้น



ท่าพิจิกอาสนะ



ความหมาย

• ท่าพิจิกหรือท่าแมงป่อง ในท่านี้ ร่างกายจะดูเหมือนแมลงป่อง ที่ยกหางโค้งขึ้นเหนือหัว พร้อมจะต่อยคู่ต่อสู้

แม้ท่านี้จะดูยากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

วิธีปฏิบัติ


• คุกเข่าลงที่พื้น โน้มตัวไปข้างหน้า วางศอกและแขนด้านในราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง แขนควรห่างกันประมาณ 1ช่วงไหล่

• ยื่นศีรษะไปข้างหน้าและยกให้สูงที่สุด

• ยกสะโพกขึ้น วางเท้าให้มั่นคง

• หายใจเข้าและแกว่งขาขึ้นไปเหนือศีรษะ รักษาสมดุลของร่างกายไว้ ยกขาตรงขึ้นเหนือศีรษะ

• ค่อยๆ งอเข่าและปล่อยขาลงมาทางด้านศีรษะ ระวังอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และอย่าทิ้งขาลงไปไกลเกินไปขณะรักษาสมดุลของร่างกายไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 5 จนกลับไปสู่ท่าคุกเข่า

* ข้อควรระวัง ไม่ควรลองท่าแมงป่อง จนกว่าคุณจะสามารถทำท่าที่ต้องใช้สมดุลของร่างกายอื่นๆ และไม่เหมาะกับสตรีมีรอบเดือน



ท่าพฤกษอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต พฤกษะหมายถึง ต้นไม้ ท่านี้จึงเรียกว่าท่าต้นไม้

"ยืนตรงบนขาซ้าย งอขาขวาและวางขาขวาไว้บนโคนขาซ้าย ยืนเหมือนต้นไม้ ยืนอยู่บนพื้นดิน นี่คือท่าพฤกษอาสนะ"

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิด แขนแนบลำตัว

• งอเข่าขวา ยกต้นขาขวา และยก ส้นเท้าขวาไปบนต้นขาซ้ายด้าน ในให้โกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้

• ทรงตัว บนเท้าซ้าย ยกแขนทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ และให้ฝ่ามือประชิดกัน

คงท่านี้ไว้ขณะค่อยๆ หายใจ ประมาณ 10 ช่วงหายใจเข้าออก


• ลดแขนและขาขวาลง และกลับไปสู่ตำแหน่งในข้อ 1 คือการยืนหน้าชิด แขนแนบลำตัว หยุดพักสักครู่ และทำซ้ำด้วยขาข้างหนึ่ง



ศพอาสนะ



ความหมาย

• ความหมาย คำว่า ศพ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ร่างที่ตายไปแล้ว

"การนอนลงที่พื้นเหมือนศพ เรียกว่า ศพอาสนะ ช่วยกำจัดความเหนื่อยล้าและให้จิตใจได้พักผ่อน" จากหัตถโยคะปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย อย่าให้ขาแตะกัน แขนราบไปกับลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น

• หลับตาลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

• งอข้อศอก วางฝ่ามือบนพื้นใต้ไหล่ ให้นิ้วชี้ไปด้านหลัง

• มุ่งความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย จากหัวถึงเท้า แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน

• คงท่านี้ไว้ 10-15 นาที หากรู้สึกง่วงนอนขณะทำท่านี้ ให้หายใจเร็วและลึกขึ้น

• ครั้งแรกที่ฝึก ให้คงท่าศพอาสนะไว้ 10 หรือ 15 นาที กลับมาทำซ้ำเป็นระยะๆ ในช่วงฝึกท่าต่างๆ เพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นร่างกาย / จิตใจ

คำแนะนำ

บางคนคิดว่าท่านี้ง่ายมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จุดประสงค์ของศพอาสนะ คือ ให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นอกจากร่างกายจะต้องนิ่งและผ่อนคลายแล้ว จิตใจยังต้องนิ่งราวกับผิวน้ำที่ปราศจากการรบกวนอีกด้วย

ผลที่ได้คือการผ่อนคลายอย่างล้ำลึกและนิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิต่อไป

การฝึกศพอาสนะนั้นต้องใช้เวลา การกำหนดความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนและ กำหนดลมหายใจล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการฝึกท่านี้อย่างยิ่ง

อุปสรรค 2 อย่างที่อาจลดคุณค่าการฝึกศพอาสนะ ก็คือ ความง่วงและจิตใจที่ฟุ้งซ่าน หากรู้สึกง่วงขณะฝึก ให้กำหนดลมหายใจให้ลึกขึ้น

หากจิตใจไม่นิ่ง ให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กำหนดจิตไปที่พื้นหรือที่จังหวะลมหายใจของคุณเอง

การฝึกศพอาสนะควรทำก่อนและหลังการฝึกอาสนะเป็นประจำ


ข้อมูลจาก
Practice 01





------------------------------------------------------------------------------

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons