การศึกษาเปรียบเทียบพุทธภาษิตกับสุภาษิตอีสาน
A Comparative Study of the Buddhism Proverbs and Esan Saying
บ่าวริมโขง
วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต
๒๕๔๑
A Comparative Study of the Buddhism Proverbs and Isan Saying
baorimkhong
บทที่ ๓
พุทธภาษิตเบื้องต้น
๓.๑ ความเบื้องต้น
พุทธศาสนสุภาษิตเกิดจากพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผลอันเกิดมาจากการค้นพบความจริงแท้ของสรรพสิ่ง จนรู้ถึงความเป็นเหตุและผลของเหตุปัจจัยต่างๆอย่างแท้จริง ตลอดระยะเวลา ๖ ปีที่พระองค์ทรงแสวงหาคำตอบทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเปิดสิ่งที่ปิดบัง (อวิชชา) อันเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์หลงอยู่ในวัฎฎสงสาร วิชชาที่พระองค์ทรงค้นพบและนำมาประกาศแก่ชาวโลกนั้นควรแต่ควรนำมาเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิตให้พบความสุขได้ทั้งสิ้น
การหลีกเว้นสิ่งอันเป็นโทษต่อตัวเอง กล่าวคือความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นทางแห่งความทุกข์ ทางสายนี้ไม่ควรดำเนินตาม เพราะเป็นเหตุให้ชีวิตตกอยู่ในวังวนของความทุกข์ตลอดกาล แต่กระนั้นพระองค์ทรงแนะให้ชาวโลกดำเนินรอยตามทางที่พระองค์ทรงแสดงเอาไว้นั้นคือ อริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งเป็นเส้นทางของชีวิตที่โปร่งใส่และมีความสุขได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
พุทธศาสนาสอนเสมอว่าผลทั้งหลายย่อมออกมาจากเหตุเสมอ กล่าวคือชีวิตจะสุขหรือเป็นทุกข์ย่อมมีหลายปัจจัยส่งผลมาให้เสมอ ดังนั้นผลอันดีย่อมเกิดจากเหตุที่ดีด้วยเพระาฉะนั้นพระพุทธศาสนเน้นให้ชาวโลกมองชีวิตตามความเป็นจริง ตลอดถึงการปรับเปลี่ยนชีวิตที่ไม่ดีให้เดินไปในเส้นทางที่ดีและปลอดภัย นี้คือคุณค่าที่แท้จริงของพุทธภาษิตว่ากันแล้วพุทธภาษิตเสนอแนะให้ชาวโลกได้รู้ว่าชีวิตมนุษย์นั้นไม่มีใครมาลิขิตเส้นทางเดินให้มนุษย์ได้ หากแต่เป็นเพราะมนุษย์นั้นเองลิขิตวิถีชีวิตของตัวเอง ถ้ามนุษย์มีความปรารถนาสิ่งใดก็ควรเลือกสรรหลักการที่ดีให้กับตนเองได้ เพราะหลักการต่างๆของพุทธธรรมย่อมยืนอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามตลอดถึงกฏเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ชีวิตทั้งหลายในสากลโลกนี้ ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามแรงกรรมของตนเอง จากสูงลงสู่ต่ำหรือจากมียศกลับเสื่อมยศ จากมนุษย์สู่สวรรค์ย่อมเกิดจากการกระทำของเจ้าของชีวิตนั้นเอง
๓.๑ ความหมายของคำว่า “ภาษิต”
ภาษิต คือถ้อยคำ,คำพูดที่ออกมาดี เป็นคำพูดที่ถือเป็นคติได้หมายถึงความที่เป็นคติสอนใจให้กระทำความดี คำพูดถ้อยคำที่กล่าวออกมาสุภาษิตนั้นเป็นคำพูดดี ตามนัยแห่งพุทธภาษิตนั้นได้กล่าวถึงลักษณะแห่งคำพูดที่ดี จะต้องเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น คำภาษิตทั้งหลายยังเป็นคติเตือนใจ สำหรับนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน๒ คำพูดที่เรียก “สุภาษิต” มีคุณลักษณะของวาจา ๔ ประการ ๒คือ
(๑) พูดดี
(๒) พูดเป็นธรรม
(๓) พูดน่าฟัง
(๔) พูดเป็นจริง
วาจาสุภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษบัณฑิตไม่ตำหนิ คำพูดที่ดีและมีประโยชน์นั้นประกอบด้วยองค์คุณ ๕ ประการ ๓ คือ
๑) พูดถูกกาล
๒) พูดคำจริง
๓) พูดไพเราะอ่อนหวาน
๔) พูดมีประโยชน์
๕) พูดด้วยจิตเมตตา
๑) พูดถูกกาลเวลา ในอภัยราชกุมารสูตร๑๒๘ ได้แสดงวาจาที่ควรพูดและไม่ควรพูด และคำพูดที่ควรพูดนั้นต้องพูดอย่างไร โดยแสดงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพูดไว้ ๕ ประการ ดังนี้
๑.) วาจาใด ไม่จริงไม่แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น วาจานั้นไม่ควรพูด
๒.) วาจาใด จริงแท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นวาจานั้นไม่ควรพูด
๓.) วาจาใด จริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนอื่น วาจานั้นต้องรู้กาลเวลาเสียก่อนแล้วจึงกล่าววาจานั้น
๔.) วาจาใด ไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น วาจานั้นไม่ควรพูด และ
๕.) วาจาใด จริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนอื่น วาจานั้นต้องรู้กาลเวลาเสียก่อนจึงกล่าว
๒) พูดคำจริง หรือวาจาสัตย์ เป็นคำพูดที่เป็นจริงและพูดถูกกาลอันควรย่อมมีแต่ประโยชน์ ซึ่งตรงข้ามกับคำพูดเท็จย่อมมีแต่ความเดือดร้อนเป็นผล คนพูดจริงถ้าไม่เลือกกาลเทศะบุคคลชุมชนและโยชน์แล้วอาจกลายเป็นการพูดคำเพ้อเจ้าและก้าวร้าวอันจะเป็นอันตรายแก่ผู้พูดได้ ผู้มีปกติพูดจริง มีอานิสงส์ที่จะเห็นได้ในปัจจุบันก็คือ เป็นคนน่าเชื่อถือ มีกิริยาวาจาน่าไว้วางใจ แม้จะโผงผางไปบ้างในบางคราวคนอื่นก็ยังเคารพเกรงใจเป็นมีจิตมั่นคง ปากกับใจตรงกันดังพุทธพจน์ตรัสว่า “สจฺจํ เว อมตา วาจา สัจจวาจาไม่ตายตรงนี้หมายถึงสัจธรรมเป็นธรรมเก่า สัตบุรุษย่อมตั้งอยู่ในสัจจะที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมคือยุติธรรม”
๓) พูดคำไพเราะอ่อนหวาน คือการพูดนุ่มนวล น่ารัก ฟังแล้วสบายหูใคร่ได้ยินย่อมชื่นชอบ ตรงกันข้ามกับคำหยาบ การพูดคำอ่อนหวาน เป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของการพูดดีหรือสัมมาวาจา หมายถึงวาจาชอบ วาจาหมายถึงคำพูหรือการพูด เป็นคำกลาง ๆ ซึ่งอาจจะหมายถึงการพูดผิดไม่ถูกต้อง (มิจฉาวาจา) ก็ได้ หรืออาจจะหมายถึงการพูดถูก (สัมมาวาจา) ก็ได้สัมมาวาจาในพระบาลีนั้น มีความหมาย ดังนี้ “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวาจาเป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย เจตนางดเว้นการพูดเท็จเจตจำนงเว้นการจากการพูดส่อเสียด เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่าสัมมาวาจา”๑๒๕
องค์ประกอบของสัมมาวาจาตามนัยสูตรนี้ แบ่งส่วนประกอบของวาจาได้เป็น ๔ ประการ คือ (๑) จริงหรือแท้ (๒) มีประโยชน์ (๓) เป็นที่รักเป็นที่พอใจของคนอื่น และ (๔) เหมาะกับกาลเวลา ในองค์ประกอบของสัมมาวาจาทั้ง ๔ ประการนี้ องค์ประกอบคือ มีประโยชน์มีความสำคัญมากที่สุด ส่วนประการอื่นมีความสำคัญรองลงไป แต่ถึงอย่างไรก็ตาม วาจาแม้จะเป็นคำจริงมีประโยชน์ เป็นทีพอใจของคนอื่นแล้วก็ตาม แต่การพูดวาจาเช่นนั้นก็ต้องคำนึงถึงกาลเวลา คือให้เหมาะสมกับกาลเวลาด้วย ควรเหมาะสมกับกาลเวลานั้นนับว่าเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้การพูดนั้นเกิดผลหรือประโยชน์ได้อย่างเต็มสมบูรณ์
๔ พูดมีประโยชน์ คือประสานสามัคคี ตรงกันข้ามกับพูดส่อเสียด ทำให้คนที่กำลังจะแตกกันสมานกัน ประสานผู้ที่แตกกันแล้วให้เข้ากันได้ใหม่ คนชั่วเหมือนหม้อดินแตกแล้วประสานกันได้ยาก ส่วนคนดีกับคนดีเหมือนหม้อทองเหลือง แตกแล้วประสานให้เข้ากันได้ง่าย คุณค่าของการพูดมีประโยชน์นี้เป็นที่รักของคนทั้งหลาย มีคนต้องการคบหาสมาคม และไม่แตกจากมิตรโดยง่าย มีคนด้วยกันแม้จะขาดไมตรีกันบ้างในบางครั้งบางคราว ก็ยังมีจิตเมตตาต่อกัน เหมือนก้านบัวแม้จะหักออกจากกันก็ยังมีใยติดอยู่
๕ พูดด้วยจิตเมตตา มีกล่าวไว้ในทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย๑๒๙ ได้แสดงถึงคำพูดที่พูดไว้ ๑๐ อย่าง คือ (๑) อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย (๒) สันตำฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ (๓) ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สงัดกายสงัดใจ (๔) อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำไม่ให้ระคนด้วยหมู่ (๕) วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้กระทำความเพียร (๖) สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล (๗) สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้สงบ (๘) ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา (๙) วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลส
ในดิรัจฉานกถาสูตร๑๓๐ ได้แสดงถึงคำพูดที่ไม่ควรพูด เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลาไม่ได้ประโยชน์อะไร และไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในด้านจริยธรรมแต่อย่างไร คำพูดดังกล่าวในพุทธปรัชญาเรียกว่าดิรัจฉานกถา ดิรัจฉานกถานั้นมีหลายอย่าง เช่น การพูดถึงเรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรืองกองทัพ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องนิคม เรื่องชนบท เรื่องท่าน้ำ เรื่องบุรุษ เรื่องสตรี เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องทะเล เป็นต้น
ลักษณะวาจาทุพภาษิต ๔ อย่าง
๑) มุสาวาท การพูดไม่ตรงตามความจริง คือ คนทั้งหลายย่อมกล่าวแต่สิ่งที่ไม่เป็นจริง ให้เห็นว่าเป็นจริงด้วยเจตนานั้น ฉะนั้นเจตนาที่เป็นเหตุให้กล่าวไม่จริงนั้นชื่อว่ามุสาวาท ซึ่งมีลักษณะ ๔ อย่าง คือเรื่องนั้นเป็นเรื่องไม่จริง มีจิตคิดจะกล่าวเท็จ มีความพยายามเพื่อพูดเท็จโดยวิธีใดก็ตาม คนฟังเชื่อตามที่ตนพูดออกไป การตัดสิน
ลักษณะทั่วไปของพุทธศาสนสุภาษิตนั้นจัดแบ่งได้ ๒ ลักษณะ คือ ๑. ลักษณะทางฉันทลักษณ์ ๒. ลักษณะทางเนื้อหา
๑. ลักษณะทางฉันลักษณ์ เป็นคำร้อยกรองในภาษาบาลีเรียกว่า ฉันทลักษณะ เป็นคำประพันธ์ที่กำหนด ครุ ลหุ กำหนดจำนวนคำตามข้อบังคับของฉันท์แต่ละชนิด ฉันท์ ๑ บท เรียกว่า ๑ คาถา ฉันท์ ๑ คาถา มี ๔ บาท ฉันท์ ๑ บาทมี ๘ คำ ไม่เกิด ๑๑ คำ หรือ ๑๔ คำ ตามประเภทของฉันท์ นี้เป็นฉันท์ประเภทหนึ่งที่เรียนรู้และรู้จักกันเป็นอย่างดีในวงการภาษาบาลีในประเทศไทย ๖ ชนิด๕ คือ (๑ ) ปัฐยาวัตรฉันท์ (๒) อินทรวิเชียรฉันท์ (๓) อุเปนทรวิเชียรฉันท์ (๔) อินทรวงศ์ฉันท์ (๕) วังสัฏฐฉันท์ (๖) วสันตดิลกฉันท์
อีกนัยหนึ่งแบ่งตามลักษณะของวิธีการสอนของพระพุทธเจ้า ลักษณะเนื้อหาของพุทธศาสนสุภาษิต ผู้เชียวชาญทั้งหลายได้แบ่งเนื้อหาของสุภาษิตในพระพุทธศาสนาออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะของรูปแบบคำสอนในพุทธศาสนาเรียกอีกอย่างว่า “นวังคสัตถุศาสตร์”๖ คือคำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ พุทธพจน์มีองค์ประกอบ ๙ อย่าง คือ
๑ ) สุตะ คือคำสั่งสอนที่เป็นพระสูตรและพระวินัย รวมทั้งคัมภีร์ทั้งสองด้วยโดยมีลักษณะเป็นสูตร ซึ่งประกอบไปด้วยระเบียบแบบแผนมีลำดับขั้นตอนต่างๆ อันมีข้อธรรมเป็นลักษณะคือ จากข้อหนึ่งถึงสิบข้อ
๒ ) เคยยะ คือ คำสอนที่เป็นลักษณะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน ได้แก่พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด
๓ ) เวยยากรณะ (ไวยากรณ์) คือคำสอนเป็นแบบร้อยแก้วล้วนได้แก่พระอภิธรรมปิฏกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถา
๔ ) คาถา คือ คำสอนแบบร้อยกรองล้วนๆ เช่น ธรรมบท, เถรคาถา, เถรีคาถา
๕ ) อุทาน คือ คำสอนที่เปล่งออกมาเป็นคำที่มีความหมายต่างๆตามสถานการณ์นั้นๆ เช่น สมัยเกิดความสังเวช , สมัยเกิดความปีติยินดีบ้าง ซึ่งเป็นพระคาถา ๘๒ สูตร
๖. ) อิติวุตตกะ เป็นเรื่อง อ้างอิง คือการยกมากล่าวอ้างของพระสังคีติกาจารย์ผู้รวบรวมโดยไม่บอกว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องเหล่านี้แก่ใคร ที่ไหนชื่อพระสูตรเหล่านี้มักขึ้นต้นด้วยคำว่า วุตตัง เหตัง ภควตา (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้) เหมือนกันหมด จึงเรียกว่า อิติวุตตกะ แบ่งเป็น ๔ นิบาตมีทั้งหมด ๑๑๒ สูตร
๗ ) ชาดก คือ คำสอนที่กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตทั้งที่เป็นเรื่องราวในอดีตของพระพุทธเจ้าบ้าง สาวกบ้าง เป็นธรรมภาษิตในลักษณะการเล่านิทานธรรมอยู่ในเรื่อง ส่วนมากจะเป็นนิบาตชาดก
๘. ) อัพภูตธรรม คือคำสอนที่เป็นเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ใจหรือเรื่องปาฏิหาริย์
๙. ) เวทัลละ คือคำสอนที่สูงขึ้นไปตามลำดับ อาศัยการวิเคราะห์แยกแยะความหมายอย่างละเอียด เช่นพระอภิธรรมเป็นต้น
๒ เสฐียนพงษ์ วรรณปก. พุทธศาสนสุภาษิต (กรุงเพทฯ ธรรมสภาจัดพิมพ์เผยแพร่) , ๒๕๓๔ , หน้า คำนำ
๒ ขุ. สุ ๒๕ / ๔๑๑/๓๕๗ , สํ. ส. ๑๕ /๒๗๗/๗๓๘
๓ องฺ ปญฺจก. ๑๒ / ๑๙๘ / ๒๒๙
๑๒๘ ม.ม. ๑๓ / ๙๔ / ๘๒
๑๒๕ ที. ม. ๑๐ /๒๙๙ / ๒๘๗ ม. มู. ๑๒ / ๑๙๔ / ๙๙ ม. อุ. ๑๔ / ๗๐๔ / ๓๘๕ อภิ. วิ. ๓๕ / ๑๖๕ ๑๒๒,
๑๒๙ องฺ. ทสก. ๒๔ / ๖๙ / ๑๓๔
๑๓๐ สํ. มหา. ๑๙ / ๑๖๖๓ / ๕๐๙
๕ พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์. ฉันทปรารมภ์ . (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์เลียงเชียง) , ๒๕๔๒ , หน้าคำนำ
๖ พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ประยุตโต) . พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. (กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ) , ๒๕๓๓ , หน้า ๑๑๖ -๑๑๗