วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

คนเจ้าชู้มากรัก...รู้จักไว้บ้างก็ดี !!

คนเจ้าชู้มากรัก...รู้จักไว้บ้างก็ดี !!

มีคนจำนวนมากไม่ว่าทั้งชายและหญิงมักประสบปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตคู่

ต้องอยู่ด้วยความหวาดผวาและหวาดระแวงว่าคู่ของตนจะนอกใจอยู่ร่ำไป

ส่วนใหญ่ไม่รู้จักวิธีแก้ปัญหา และมักจะลงเอยคล้ายๆ กัน เช่น การใช้ความรุนแรง ทะเลาะเบาะแว้ง

สุดท้ายจบลงด้วยน้ำตาแห่งความผิดหวัง...
คนมากรัก...กับคนเจ้าชู้
ความจริงแล้ว ความหมายของ 2 คำนี้ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไร คนที่เคยมีประสบการณ์จะรู้ว่า...

มีคำเรียกคนเจ้าชู้อีกหลายคำ เช่น “หลายใจ” “มากรัก” หรืออาจแย่ไปถึงคำว่า “สำส่อน” ก็ได้

ซึ่งล้วนหมายถึงคนที่ชอบหว่านเสน่ห์ คาดหวังกับการได้รับการชื่นชมกลับมาด้วยวิธีการต่างๆ ของตนเอง

มักจะอ้างแบบข้างๆ คูๆ ว่าหลงรักคนโน้น คนนี้เข้าแล้ว ประมาณว่าแจกรักไปทั่ว ซึ่งคำว่า “รัก” ที่คนเหล่านี้มีมากมาย

เผื่อแจกคนอื่นนั้น เป็นเพียงความรักจอมปลอมมากกว่า เป็นคำอ้างเพื่อหวังจะได้ความสุขหรือความพึงพอใจของตนเอง

หาใช่เป็นการมอบความรักหรือความสุขให้แก่คนอื่นด้วยความ จริงใจไม่ !!
ทำไมคนจึงเจ้าชู้มากรัก?
คนเจ้าชู้ หรือคนที่ไม่รู้จักพอในเรื่องความรักไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย โดยทั่วไปเรามักจะโยนความไม่ดีตรงนี้

ไปให้ฝ่ายชายทั้งที่ความจริงแล้วหญิงเจ้าชู้มากรักก็มีไม่น้อย คนเหล่านี้เป็นคนที่ต้องการความรักจากคนจำนวนมาก

มีคู่คนเดียวไม่พอหรืออย่างไร? เป็นประเด็นที่น่าขบคิดและน่าทำความเข้าใจ

คงไม่ใช่เจ้าชู้เพราะทำตามค่านิยมของสังคมอย่างเดียว หากแต่มีสาเหตุทางจิตวิทยาด้วยว่า

ความรู้สึกแบบนี้มันมีที่มาอย่างไร ตัวอย่างเช่น
• เกิดและเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบนี้ มีคนในครอบครัวทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเป็นประจำ

แม้ว่าตอนเด็กๆ อาจจะไม่ชอบหรือรังเกียจพฤติกรรมนี้ แต่เมื่อโตขึ้นกลับทำตามเพราะเกิดการเรียนรู้

และเปลี่ยนการรับรู้ใหม่ว่าใครๆ เขาก็ทำกันไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด จนในที่สุดก็มองพฤติกรรมเจ้าชู้มากรัก

เป็นเรื่องธรรมดา ลักษณะแบบนี้พบได้บ่อยในครอบครัวที่พ่อหรือแม่เป็นคนเจ้าชู้ หรือสำส่อน ขาดระเบียบวินัยในครอบครัว

ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่มีปัญหาซับซ้อน บางครอบครัวที่พ่อหรือแม่แสดงพฤติกรรมเหล่านี้ก็มักเป็นครอบครัวที่

ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ขาดคุณธรรม เห็นแก่ตัว และมีความมักมากในกามคุณ
• มองความเจ้าชู้มากรักเป็นเรื่องธรรมดาๆ ด้วยเหตุผลว่าเป็นค่านิยมที่ใครๆ ก็ทำกัน สร้างความกระชุ่มกระชวยหัวใจ

จึงทำซ้ำๆ บ่อยๆ จนในที่สุดเมื่อเจอสถานการณ์หรือคนมากระตุ้นก็อดใจไม่ไหว มีการตอบสนอง

และมองว่าถ้าไม่ได้ทำคงไม่สบายใจ เหมือนคนที่มีความต้องการทางเพศซึ่งมักคิดว่าต้องได้รับการตอบสนองทันท่วงที

จึงทำบ่อยจนเคยชิน พบมากในกลุ่มคนที่มีนิสัยคล้ายๆ กันมาคบหาสมาคมกัน ใช้ชีวิตเสเพลแบบเดียวกัน
• เป็นคนใจอ่อน ชอบสงสารผู้อื่น (แม้จะไม่สร้างสรรค์ก็ตาม) อยากให้เขาสมหวังมากกว่าผิดหวัง

ไม่กล้าปฏิเสธเมื่อมีคนมาหลงรักหรือชอบ จนอาจไม่สามารถแยกแยะระหว่าง “การให้” คือการช่วยเหลือแบบไม่หวัง

สิ่งตอบแทน กับการต้องยอมตามความต้องการของคนอื่นและตนเอง ในที่สุดจึงนำไปสู่การนอกใจคนรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า

โดยทั่วไปคนแบบนี้มักถูกเลี้ยงมาในครอบครัวที่ทำให้ไม่กล้าคิดกล้าตัดสินใจ และเมื่อมีปัญหาก็ใช้วิธีหลีกหนีปัญหาหรือ

เฉไฉไปเรื่อย จนสุดท้ายปัญหาคาราคาซังไม่ได้รับการแก้ไข
• ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ข้อนี้น่าจะสำคัญที่สุด เพราะถือว่าเป็นต้นตอของพฤติกรรมมากรักหรือเจ้าชู้ เช่น

ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง รอคอยการยอมรับจากคนอื่น ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะดีพอ และมักมองว่าการที่ตัวเองดีพอ

หรือไม่ขึ้นอยู่กับการที่มีคนมาสนใจหรือให้ความสำคัญกับตนเองเท่านั้น วิธีการพิสูจน์ตัวเองที่คนประเภทนี้คิดว่าดี

ก็คือการทำอย่างไรให้เห็นว่าตนเองมีค่า ด้วยการหว่านเสน่ห์ไปเรื่อยๆ เช็คเรตติ้งว่ามีใครมาสนใจหรือไม่

จนในที่สุดกลายเป็นคนที่มีแฟนหรือมีกิ๊กเต็มไปหมด ปัญหาก็อาจจะยุ่งเหยิงอีรุงตุงนัง ยิ่งแก้ยิ่งพันกันมั่ว
• สาเหตุทางจิตใจอีกอย่างหนึ่งที่พบบ่อย คือ เคยมีประสบการณ์ทางเพศที่ไม่ดี และเก็บสะสมเรื่องเหล่านี้

ไว้ในใจ เช่น เคยถูกลวนลามทางเพศ โดยสถานการณ์ตอนนั้นทำให้ทุกข์ทรมานใจไม่สามารถแก้ไขได้

มักมองตนเองเป็นคนผิดที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ การมีเพศสัมพันธ์สำส่อน เปลี่ยนคู่บ่อยๆ

จึงทำให้รู้สึกว่าตนอยู่เหนือคนอื่นๆ ที่เข้ามาในชีวิต ทดแทนปมด้อยในอดีต อยากให้ตนเองมีอำนาจควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง

โดยเฉพาะเรื่องที่ตนเองเคยทำไม่ได้ เป็นการย้ายความโกรธจากสถานการณ์หนึ่งในอดีตมาแก้แค้นผ่านคนอื่นหลายๆ คน

(ที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับในอดีตเลย) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลไกทางจิตที่ไม่เหมาะสม

ต่อกรกับคนเจ้าชู้อย่างไรดี?
..... วิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือกับคนเหล่านี้ คือ ....


• ค่อยๆ ทบทวนว่ามีสาเหตุมาจากที่กล่าวข้างต้นหรือไม่
ถ้าใช่ก็ควรแก้ไขให้ตรงสาเหตุ

ดีกว่าใช้อารมณ์ เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง หรือใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา
• ไม่สนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ในครอบครัวหรือชีวิตคู่ แม้กระทั่งในสังคม เช่น สมาชิกในครอบครัว

ควรแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่าไม่ยอมรับพฤติกรรมเจ้าชู้ รวมถึงสื่อต่างๆ ไม่ควรนำเสนอเรื่องราวของคนเจ้าชู้ว่าเป็น

ความเท่ทันสมัยยอมรับได้ หรือเป็นเรื่องตลกขบขันสบายๆ เพราะในความเป็นจริงคนที่เจอปัญหาแบบนี้กับตัวเอง

คงไม่มีวันสบายใจได้เป็นแน่
• วิธีการที่ดีที่สุด คือ การปรับใจยอมรับคนที่เป็นแบบนี้ และหาทางแก้ไข โดยทำให้คนที่มีพฤติกรรมเจ้าชู้

เหล่านั้นตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมา การเพิ่มความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับเขาน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดแม้จะไม่ง่ายนัก

อาจปรึกษากับจิตแพทย์ นักจิตวิทยาเพื่อทำจิตบำบัดร่วมด้วย แต่หากพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้วคนเหล่านั้นยัง

ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง คนที่เป็นคู่ก็ไม่ควรทนแบกรับความทุกข์ต่อไป การเลิกรากันคงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
• ในกรณีที่การกระทำเกิดจากนิสัยที่เห็นแก่ตัว ขาดศีลธรรมดังที่กล่าวมาข้างต้น มักแก้ไขได้ยากเกินเยียวยา

ใครที่เป็นคู่คนแบบนี้คงต้องกลับมาทบทวนตัวเอง เปลี่ยนที่ตัวเองให้ตัดใจเสียดีกว่าทนอยู่ต่อไป มิเช่นนั้นคงต้องเจอ

กับปัญหาอีกมากมายไม่รู้จบให้เสียสุขภาพจิตอย่างแน่นอน
คนเจ้าชู้อาจจะไม่ใช่คนที่เลวร้าย น่ากลัวเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนที่เป็นแบบนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

มีบางท่านกล่าวว่าโลกนี้อาจจะไม่มีคนเจ้าชู้มากรักก็เป็นได้ มีแต่คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเสียมากกว่า เมื่อเจอคนแบบนี้

หรือคุณเองที่เป็นคนแบบนี้ การกล่าวโทษ การรังเกียจเดียดฉันท์ หรือการใจอ่อนยอมทนอยู่กับคนเหล่านี้

คงไม่ใช่หนทางที่เหมาะสมสักเท่าไร
การทำความเข้าใจ รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตนเองหรือใครบางคนที่เป็นแบบนี้

จะช่วยให้ยอมรับและให้อภัยได้ อีกทั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเพื่อชีวิตคู่ที่มีความสุขอย่างแท้จริง

มิต้องมานั่งหวาดระแวง หงุดหงิดอารมณ์เสียกับความคาดหวังในผู้อื่นที่มีข้อจำกัดมาก

ซึ่งมักจะลงเอยด้วยความช้ำใจในที่สุด ในเดือนแห่งการส่งเสริมสถาบันครอบครัว

บทความนี้คงช่วยสร้างความเข้าใจและเป็นสื่อประสานความสัมพันธ์ในครอบครัวของคุณ

อย่างน้อยการเริ่มรู้จักและเข้าใจคนประเภทนี้คงจะช่วยให้การแก้ปัญหาสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้วค่ะ
ที่มา .... Health Today




กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]


โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคีและชนชั้นวรรณะพราหมณ์
เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน
โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ( Hatha Yoga )
ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา



ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหารร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ
เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้
หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี



โยคะท่าพื้นฐาน

ท่านมัสการ




ความหมาย


• นมัสการ หมายถึง ทำความเคารพ



วิธีปฏิบัติ


• ยืนหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เท้าชิด พนมมือ

• หายใจเช้าและยกแขนขึ้น ค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง ยื่นแขนเหนือศีรษะ

• หายใจออกช้าๆ เอนตัวไปข้างหน้า ให้มือที่พนมอยู่สัมผัสพื้นจนกระ ทั่งมืออยู่ในแนวเดียวกับเท้าศีรษะสัมผัสหัวเข่า

• หายใจเข้า ก้าวเท้าขวาถอยหลังมา 1 ก้าว ให้มือและเท้า ยังคงอยู่กับพื้น เท้าซ้ายอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• ขณะหายใจออก ยกเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา แขนตรงยกสะโพกขึ้นให้ศีรษะ และแขนอยู่ในแนวเดียวกัน ทำท่าเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าและค่อยๆ ลดสะโพกลงมาที่พื้น (ให้สะโพกอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย) ก้มตัวลงไปข้างหลังให้มากที่สุด

• หายใจออก และลดตัวลงมาที่เท้า เข่า มือ และอก สัมผัสพื้น

• หายใจเข้า และค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยศีรษะไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด และโค้งกระดูกสันหลังไปให้ได้มากที่สุด เหมือนท่านาคอาสนะ

• ขณะหายใจออกช้าๆ และให้แขนอาสนะ ยกสะโพกขึ้น และให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกับแขน ทำเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าช้าๆ และงอเข่าซ้าย ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือยังคงอยู่ที่พื้น วางเท้าซ้ายลงบนพื้นระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• หายใจออกช้าๆ ให้มืออยู่ที่เดิม ดึงเท้าทั้งสองเข้ามาชิดกัน ให้อยู่แนวเดียวกับมือถ้าเป็นไปได้ ให้ศีรษะสัมพันธ์กับหัวเข่า

• หายใจเข้าช้าๆ และยกแขนขึ้น ค่อยๆเอนตัวไปข้างหลัง โดยยื่นแขนขึ้นเหนือศีรษะ ย้อนกลับไปตำแหน่งยังข้อ 1



ท่าชวังคอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต ชว หมายถึง ทั้งหมด หรือ ทุกๆ อังคะ หมายถึง ร่างกาย ชวังคะ จึงหมายถึง ทำทั้งร่างกาย

ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นท่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน ท่านี้มักเรียกกันว่า ท่ายืนบนไหล่

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงายในท่า ศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้นขณะงอเข่าและดึงเข่าเข้ามาที่ท้อง หายใจออก

• หายใจเข้าช้าๆ กดฝ่ามือลง ยกลำตัวตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นจากพื้น งอกระดูกสันหลังไปข้างหลัง และทำท่อนแขนให้ตรง ให้สะโพกอยู่บนพื้น

• หายใจเข้าแล้วในขณะหายใจออก ให้ยกขาตั้งฉากกับพื้น อาจใช้มือพยุงสะโพกไว้ หรือวางแขนไว้ลงกับพื้นตามถนัด

• ขาดชิด เข่าตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น ศีรษะตรงไม่หันไปด้านใดด้านหนึ่ง เก็บคางให้ชนหน้าอก

• หายใจเข้า ออก ช้าๆ ขณะคงท่านี้ไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 6 จนกลับสู่ท่าศพอาสนะ



ท่าตรีโกณอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ตรี ในภาษาสันสกฤตหมายถึง สาม โกณ หมายถึง เหลี่ยมหรือมุม

ดังนั้น ท่านี้จึงเรียกว่า ท่าสามมุม หรือท่าสามเหลี่ยม

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิดแขนแนบลำตัว

• แยกเท้าออกจากกัน ให้ระยะห่างมากกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย

• หายใจเข้าและยื่นแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้น ฝ่ามือคว่ำลง

• หายใจออกช้าๆ หันลำตัวไปทางซ้าย งอตัวที่ช่วงเอว ให้มือขวาลงไปที่แข้งซ้าย ฝ่ามือขวา วางไว้ข้างนอกของหน้าแข้งซ้าย

แขนซ้ายควรยื่นออกไปด้านบนขาและแขนทั้งสองข้างตรง โดยไม่ต้องงอเข่าและข้อศอก


• หันศีรษะขึ้นไปทางซ้าย มองไปที่ปลายนิ้วมือซ้าย หายใจเข้า และกลับไปสู่ท่าเดิม คือท่ายืน ให้แขนกางออก

• คงท่านี้ไว้ เท่ากับช่วงหายใจออก หายใจออกและทำซ้ำ ขั้นตอนที่ 4-7 สลับซ้าย



ศีรษะอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ศีรษะ หมายถึง หัว ในภาษาสันสกฤต ท่านี้คือ ท่ายืนด้วยศีรษะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการฝึกอาสนะ ไม่แพ้ท่าปทมอาสนะ

ด้านบนคือภาพโมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพโยคีขณะทำท่าศีรษะอาสนะ

วิธีปฏิบัติ


• นั่งคุกเข่า ให้สะโพกอยู่บนส้นเท้า

• เอนตัวไปข้างหน้า วางแขนลงบนพื้น ให้ศอกห่างกัน 1 ช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน

• วางศีรษะลงบนพื้น ให้ท้ายทอยสัมผัสมือที่ประสานไว้

• ให้ปลายเท้าจิกพื้น ขณะยกส้นเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น

• คงท่านี้ไว้เป็นระยะเท่ากับการหายใจเข้า ถ้าไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ให้ค่อยๆ หายใจออก และนอนราบกับพื้น กางขาออก กลับไปสู่ท่าศพอาสนะ



หลอาสนะ



ความหมาย

• หล แปลว่า คันไถ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย แบบท่าศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำที่พื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้น งอเข่าเข้ามาจรดท้องขณะหายใจออก

• หายใจเข้า ขณะหายใจออกให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับพื้น คุณอาจใช้มือพยุงสะโพก หรือวางแขนราบไปกับพื้นแล้วแต่ถนัด

• หายใจออก แล้วยกขาขึ้นเหนือศีรษะ งอขาตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ยกหลังและสะโพก จนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นด้านหลังของศีรษะ รักษาเท้าให้ชิดกัน

หากใช้มือพยุงหลังให้ลองวางแขนราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง ถ้าไม่สามารถวางแขนลงที่พื้นได้ให้ใช้มือพยุงหลังส่วนล่างไว้


• เข่าตรง หายใจช้าๆ และคงท่านี้ไว้สักครู่ ถ้านิ้วเท้าสัมผัสพื้นไม่ได้ ก็พยายามให้นิ้วเท้าอยู่ต่ำที่สุด

• ทำท่าย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 5 ถึง 1 จนกลับไปสู่ท่าศพอาสนะเหมือนเดิม




ธนูอาสนะ




ความหมาย

• คำว่าธนู ในภาษสันสกฤต หมายถึง มีรูปร่างเหมือนคันศร โค้ง หรือ งอ คันศร

ในที่นี้หมายถึง คันศรที่ใช้กับลูกธนู ท่าอาสนะนี้ มีชื่อแบบนี้เนื่องจาก ร่างกายมีท่าทางคล้ายคันศรที่โก่งพร้อมยิงธนู

วิธีปฏิบัติ


• นอนคว่ำหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนราบไปกับลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น

• หันหน้ามาเพื่อวางคางไว้บนพื้น หายใจออก งอเข่า เอื้อมแขนไปข้างหลัง จับข้อเท้าขวาไว้ด้วยมือขวา จับข้อเท้าซ้ายด้วยมือซ้าย

• ขณะหายใจเข้า ค่อยๆ ยกขาขึ้นโดยดึงข้อเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น และยกอกขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน

กลั้นลมหายใจเข้าเอาไว้ ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนหน้าท้อง


• ยื่นศีรษะให้ไกลที่สุด คงท่านี้ไว้ขณะกลั้นหายใจ

• หายใจออกช้าๆ วางเข่าลงบนพื้น ปล่อยข้อเท้า ค่อยๆ วางขาและแขนลงบนพื้น หันหน้าไปข้างหนึ่ง ทำเหมือนท่าเริ่มต้น



ท่าพิจิกอาสนะ



ความหมาย

• ท่าพิจิกหรือท่าแมงป่อง ในท่านี้ ร่างกายจะดูเหมือนแมลงป่อง ที่ยกหางโค้งขึ้นเหนือหัว พร้อมจะต่อยคู่ต่อสู้

แม้ท่านี้จะดูยากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

วิธีปฏิบัติ


• คุกเข่าลงที่พื้น โน้มตัวไปข้างหน้า วางศอกและแขนด้านในราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง แขนควรห่างกันประมาณ 1ช่วงไหล่

• ยื่นศีรษะไปข้างหน้าและยกให้สูงที่สุด

• ยกสะโพกขึ้น วางเท้าให้มั่นคง

• หายใจเข้าและแกว่งขาขึ้นไปเหนือศีรษะ รักษาสมดุลของร่างกายไว้ ยกขาตรงขึ้นเหนือศีรษะ

• ค่อยๆ งอเข่าและปล่อยขาลงมาทางด้านศีรษะ ระวังอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และอย่าทิ้งขาลงไปไกลเกินไปขณะรักษาสมดุลของร่างกายไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 5 จนกลับไปสู่ท่าคุกเข่า

* ข้อควรระวัง ไม่ควรลองท่าแมงป่อง จนกว่าคุณจะสามารถทำท่าที่ต้องใช้สมดุลของร่างกายอื่นๆ และไม่เหมาะกับสตรีมีรอบเดือน



ท่าพฤกษอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต พฤกษะหมายถึง ต้นไม้ ท่านี้จึงเรียกว่าท่าต้นไม้

"ยืนตรงบนขาซ้าย งอขาขวาและวางขาขวาไว้บนโคนขาซ้าย ยืนเหมือนต้นไม้ ยืนอยู่บนพื้นดิน นี่คือท่าพฤกษอาสนะ"

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิด แขนแนบลำตัว

• งอเข่าขวา ยกต้นขาขวา และยก ส้นเท้าขวาไปบนต้นขาซ้ายด้าน ในให้โกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้

• ทรงตัว บนเท้าซ้าย ยกแขนทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ และให้ฝ่ามือประชิดกัน

คงท่านี้ไว้ขณะค่อยๆ หายใจ ประมาณ 10 ช่วงหายใจเข้าออก


• ลดแขนและขาขวาลง และกลับไปสู่ตำแหน่งในข้อ 1 คือการยืนหน้าชิด แขนแนบลำตัว หยุดพักสักครู่ และทำซ้ำด้วยขาข้างหนึ่ง



ศพอาสนะ



ความหมาย

• ความหมาย คำว่า ศพ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ร่างที่ตายไปแล้ว

"การนอนลงที่พื้นเหมือนศพ เรียกว่า ศพอาสนะ ช่วยกำจัดความเหนื่อยล้าและให้จิตใจได้พักผ่อน" จากหัตถโยคะปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย อย่าให้ขาแตะกัน แขนราบไปกับลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น

• หลับตาลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

• งอข้อศอก วางฝ่ามือบนพื้นใต้ไหล่ ให้นิ้วชี้ไปด้านหลัง

• มุ่งความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย จากหัวถึงเท้า แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน

• คงท่านี้ไว้ 10-15 นาที หากรู้สึกง่วงนอนขณะทำท่านี้ ให้หายใจเร็วและลึกขึ้น

• ครั้งแรกที่ฝึก ให้คงท่าศพอาสนะไว้ 10 หรือ 15 นาที กลับมาทำซ้ำเป็นระยะๆ ในช่วงฝึกท่าต่างๆ เพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นร่างกาย / จิตใจ

คำแนะนำ

บางคนคิดว่าท่านี้ง่ายมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จุดประสงค์ของศพอาสนะ คือ ให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นอกจากร่างกายจะต้องนิ่งและผ่อนคลายแล้ว จิตใจยังต้องนิ่งราวกับผิวน้ำที่ปราศจากการรบกวนอีกด้วย

ผลที่ได้คือการผ่อนคลายอย่างล้ำลึกและนิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิต่อไป

การฝึกศพอาสนะนั้นต้องใช้เวลา การกำหนดความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนและ กำหนดลมหายใจล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการฝึกท่านี้อย่างยิ่ง

อุปสรรค 2 อย่างที่อาจลดคุณค่าการฝึกศพอาสนะ ก็คือ ความง่วงและจิตใจที่ฟุ้งซ่าน หากรู้สึกง่วงขณะฝึก ให้กำหนดลมหายใจให้ลึกขึ้น

หากจิตใจไม่นิ่ง ให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กำหนดจิตไปที่พื้นหรือที่จังหวะลมหายใจของคุณเอง

การฝึกศพอาสนะควรทำก่อนและหลังการฝึกอาสนะเป็นประจำ


ข้อมูลจาก
Practice 01





------------------------------------------------------------------------------

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons