กองร้อยเบงกอล แลนเซอร์สเป็นขบวนคุ้มกันเคานต์ วอลเดอร์ซี หรืออัลเฟร็ด กราฟ ฟอน วอลเดอร์ซี (1832-1904) ในฐานะหัวหน้าคณะเสนาธิการแห่งจักรวรรดิเยอรมนี เมื่อเดินทางมาถึงกรุงปักกิ่งเบื้องหน้าประตูอู่เหมินเมื่อวันที่ 17 ต.ค.1900
ไชน่าเดลี - หลิว เซียงเฉิง ใช้เวลาเดินทางไปในหลายประเทศ เพื่อติดตามค้นหาอยู่นานถึงหนึ่งปีทีเดียว กว่าจะได้ภาพถ่ายต้นฉบับสำหรับหนังสือรวมภาพถ่ายแต่ครั้งสมัยการปฏิวัติซินไฮ่ ซึ่งมีชื่อว่า “ China in Revolution : The Road to 1911” (จีนในสมัยการปฏิวัติ : เส้นทางสู่ปีค.ศ.1911) หนังสือรวมภาพถ่ายเล่มล่าสุด ที่เขาบรรจงทำขึ้น เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 100 แห่งการปฏิวัติเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1911 ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช 2454 อันเป็นการสิ้นสุดการปกครองของฮ่องเต้ ที่ยาวนานมาหลายพันปี
ทหารฝ่ายปฏวัติเตรียมยิงปืนใหญ่ต่อสู้กับกองทัพจักรพรรดิในเมืองฮั่นโข่ว,ต.ค.1911
หน้าปกของหนังสือเล่มนี้เป็นภาพถ่ายของนายทหารแห่งขุนศึกภาคเหนือ (หรือกองทัพสมัยใหม่ของราชวงศ์ชิง) ซึ่งหาแทบไม่ได้แล้ว ผู้ช่วยของหลิวสืบเสาะ จนทราบว่าเป็นผลงานของคุณพ่อเลโอน นานี (Leone Nani) บาทหลวงนิกายคาทอลิก ซึ่งถ่ายในช่วงปี 1904-1914 (พ.ศ. 2447-2457) ในมณฑลส่านซี เขาพยายามโทรศัพท์ติดต่อไปยังสถาบันการเผยแพร่ศาสนาในต่างประเทศแห่งสมเด็จพระสันตะปาปา (Pontifical Institute of Foreign Missions) อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งได้มา
โรงผิ่นในเมืองชิงเต่าช่วงปี 1890-1910
เมื่อล่วงมาหนึ่งศตวรรษ หลิวจึงคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องค้นหาภาพถ่าย ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ และถ่ายทอดความลำบากทุกข์ยากในอดีต ที่จีนเคยประสบมาให้แก่คนรุ่นหนุ่มสาวได้รับรู้
มิสชันนารีหญิงนั่งเกี้ยวหามในเมืองเฉวียนโจว มณฑลฝู่เจี้ยน ปี 1894
“เรามองประวัติศาสตร์อย่างไรย่อมมีอิทธิพลต่อการมองปัจจุบัน และมีอิทธิพลต่อการที่คนอื่นมองเราว่าอย่างไรบ้างด้วย” หลิวระบุ
“ชาวจีนไม่ใช่เหยื่อของประวัติศาสตร์อีกแล้ว เราควรก้าวต่อไป และเผชิญกับอดีตด้วยการพิจารณาอย่างสุขุมและมีเหตุผล” เขากล่าว
สหรัฐฯ ให้การรับรองสาธารณรัฐจีน ภาพถ่ายหมู่มีหยวน ซื่อไข่ (แถวหน้าที่ 3 จากซ้าย) และเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนถ่ายรูปร่วมกับวิลเลี่ยม เจมส์ คัลฮูน รัฐมนตรีแห่งสหรัฐฯ (ถัดจากหยวน) วันที่ 2 พ.ค.1913 หยวนยังสวมเครื่องแบบนายพลเอกของราชวงศ์ชิง
หลิว วัย 60 ปีเป็นนักถ่ายภาพ ซึ่งมีรางวัลพูลิตเซอร์การันตีความสามารถด้วยผลงานเด่น ๆ เช่นภาพถ่ายของประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟแห่งสหภาพโซเวียต ขณะลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2534 อันเป็นเครื่องหมายการจบสิ้นของสหภาพโซเวียต และหนังสือรวมภาพถ่าย 3 เล่ม เล่มหนึ่งได้แก่ “China after Mao” และ “China, Portrait of a Country” เล่มนี้จำหน่ายได้มากกว่า 2 แสน 5 หมื่นเล่ม
สำหรับหนังสือเล่มล่าสุด รวบรวมภาพถ่ายกว่า 900 ภาพจากทั้งหมดกว่า 1 หมื่นภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เขาได้ตรวจสอบด้วยตนเองทั้งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และการสะสมส่วนบุคคลในหลายทวีป
หลิวคัดเลือกภาพ โดยดูจากคุณค่าเชิงเทคนิคการถ่าย และการสื่อเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ จากนั้น หลิวและคณะทำงานจัดการซ่อมแซมภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่นานราว 1,000 ชั่วโมง และเรียงลำดับภาพตามวันเวลาเกือบทั้งหมด พร้อมบทความประกอบ 4 บท
ในจำนวน 900 ภาพนี้ มี 300 ภาพ ไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ ที่ไหนมาก่อน เช่นภาพของโฮเมอร์ ลี ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ฝึกกองทัพสมัยใหม่ในปี 1904 (พ.ศ. 2447)
นอกจากนั้น ภาพถ่ายอีกมากมายเป็นภาพการดำเนินชีวิตประจำวันของสามัญชนทั่วไปเมื่อสมัยปี 1850 (พ.ศ.2393) - 1928 (พ.ศ.2471) ส่วนใหญ่บันทึกภาพโดยบาทหลวง นักธุรกิจ นักการทูต และนักเดินทาง
ผู้อ่านจะได้เห็นลักษณะการแต่งตัวของผู้คนในยุคนั้น การแต่งงาน ภาพชีวิตในตลาด หรือแม้กระทั่งภาพความตายบนลานประหาร ตลอดจนภาพถ่าย ที่แสดงให้เห็นถึงการสั่งสมพลังในการปฏิวัติ และผล ที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ
“ผมต้องการถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตไม่เฉพาะแค่เกี่ยวกับบุคคลมีชื่อเสียง 1,000 คนในเวลานั้น แต่เกี่ยวกับประชากร ที่มีอยู่ราว 400 ล้านคน” หลิวอธิบาย
หนังสือ “ China in Revolution : The Road to 1911” ซึ่งถ่ายทอดด้วยภาษาอังกฤษ ได้รับคำชมเชยจากนักประวัติศาสตร์หลายคน เช่นเบ็ท แม็กคิลลอป แห่งวิกทอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต มิวเซียมของสหราชอาณาจักรทั้งในแง่ฝีไม้ลายมือ การทำงานอย่างทุ่มเทของหลิว และในแง่ที่การปฏิวัติซินไฮ่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน
หลิว เซียงเฉิง กับหนังสือเล่มล่าสุด “ China in Revolution : The Road to 1911”
ทำไมถึงทำกับฉันได้- เติ้งลี่จวิน