วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

26 วิธีดูแลคนรอบข้างอย่างได้ผล

26 วิธีดูแลคนรอบข้างอย่างได้ผล

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะเคยเจอเหตุการณ์ที่คนใกล้ตัวกำลังตกอยู่ในภาวะเศร้า เหงา ซึม จนทำให้ที่ปรึกษา หรือคนรับฟังปัญหาอย่างเรา ๆ เป็นกังวลว่าจะมีวิธีการดูแลความรู้สึกของพวกเขาได้อย่างไรให้หายจากเรื่องทุกข์โศก ซึ่งก็ไม่ต้องคิดมากกันต่อไปนะจ๊ะ เพราะวันนี้เราได้นำข้อแนะนำดี ๆ จากเว็บไซต์ Dragosroua.com มาฝากกัน ลองมาดูกันว่า 26 วิธีดูแลคนรอบข้าง จะต้องทำอย่างไรกันบ้าง
1. ให้การสนับสนุน
พูดง่าย ๆ ก็เอาใจเขามาใส่เรานั่นแหละ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีเรื่องทุกข์ร้อนให้ไม่สบายใจ เราก็ต้องการที่จะมีใครสักคนมาคอยรับฟังเราและเข้าใจในปัญหาที่เราได้เจอะเจอ ดังนั้น ให้การสนับสนุนเขาด้วยการเป็นที่ปรึกษาที่ดี ใช้คำพูดที่ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และช่วยเหลือเท่าที่คุณจะทำได้ จะเป็นอะไรที่ดีมาก ๆ
2. อย่ายึดความโกรธเป็นที่ตั้ง
หลาย ๆ ครั้งเมื่อเราได้รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้าง มีไม่น้อยเลยทีเดียวที่มีอารมณ์ร่วมไปกับผู้ที่เผชิญกับปัญหานั้น ๆ ไม่ว่าจะโกรธ หมั่นไส้ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอให้นึกเอาไว้อยู่เสมอว่าคุณเป็นคนกลาง คุณแค่รับฟังปัญหาของเขา ไม่ใช่คนที่มีปัญหาซะเอง อย่าบุ่มบ่ามหรือตัดสินใจใด ๆ เพียงเพราะมีอารมณ์ร่วมเท่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้ไม่บานปลายในภายหลัง
3. ให้คำปรึกษาเท่าที่จำเป็น
อีกหนึ่งข้อที่คุณในฐานะของที่ปรึกษาและผู้รับฟังปัญหาควรจะตระหนักเอาไว้เสมอ ก็คือการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่าได้ช่วยเหลือเขาเสมือนว่าเป็นปัญหาที่เกิดกับตัวคุณเองโดยตรง ไม่อย่างงั้นเรื่องยุ่ง ๆ และเรื่องชวนเครียดจะมาหาคุณโดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว
4. อย่ามองเป็นเรื่องเล่น ๆ
ใครที่มีนิสัยติดเล่น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ก็มักจะมองเป็นเรื่องเล่น ๆ อยู่เสมอ จงหยุดไว้ก่อน เพราะคนที่เขามีปัญหากับชีวิต เขาย่อมไม่อยู่ในอารมณ์จะเล่นกับคุณด้วยแน่ ๆ แสดงให้เขาเห็นว่าคุณเป็นห่วงเขาจริง ๆ เพื่อที่เขาจะได้สบายใจมากยิ่งขึ้น

5. แบ่งปันเรื่องราวดี ๆ อยู่เสมอ
ถ้าคุณมีคำพูดดี ๆ ประโยคโดน ๆ ที่ฟังแล้วช่วยให้เกิดกำลังใจที่ดีมากขึ้น ก็ให้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ซะตอนนี้เลย เพราะอย่างน้อย ๆ ก็เป็นการแบ่งเบาความรู้สึกที่ย่ำแย่ของเขาได้อย่างดีเลยทีเดียว แถมยังจะช่วยให้เขาได้ลืม ๆ เรื่องราวอันเลวร้ายที่เกิดได้อีกด้วยนะ จะบอกให้
6. เลี่ยงคำพูดที่จะนำไปสู่การทะเลาะวิวาท
ต่างคนต่างก็มีภาวะทางอารมณ์ที่แตกต่างกันไป และยิ่งถ้ามีเรื่องให้ต้องเครียดหรือคิดมากด้วยแล้วล่ะก็ เรื่องของอารมณ์นี่ยากจะเข้าถึงจริง ๆ และในเมื่อเราไม่รู้ว่าอารมณ์เขา ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร ขอให้ระมัดระวังในเรื่องของการใช้คำพูดให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทที่มีเหตุมาจากเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
7. รู้จักตอบแทน
ถ้าคุณได้รับคำพูดดี ๆ หรือของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ขอให้นำสิ่งดี ๆ เหล่านั้นไปให้กับคนอื่น ๆ ต่อไป การทำแบบนี้จะถือเป็นการแบ่งปันความสุขที่มีให้แก่คนรอบข้าง และจะกลายเป็นลูกโซ่แห่งความสุขที่จะมีการส่งต่อ ๆ กันไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด
8. ไม่ปากสว่าง
คนที่เขามีปัญหา เขามาปรึกษาคุณก็เพราะเห็นว่าคุณเป็นคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ ฉะนั้นอย่าปากสว่างหรือนำเรื่องทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นไปป่าวประกาศให้คนอื่น ๆ ได้รู้เป็นอันขาด ไม่อย่างนั้นคุณจะกลายเป็นบุคคลอันตรายที่ไม่น่าคบหาด้วยเอาซะเลย

9. เป็นผู้ฟังที่ดี
สิ่งหนึ่งที่ควรทำอย่างมากถึงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้นั่นก็คือ การเป็นผู้ที่รับฟังปัญหาที่ดี รับฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจและมีเหตุมีผล ไม่ใช้อารมณ์ร่วมในการตัดสินเรื่องราวที่เกิดขึ้น อย่างน้อย ๆ ให้คิดซะว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะถ้าเป็นเราที่มีปัญหาบ้าง ก็คงจะย่ำแย่อยู่ไม่น้อย.. จริงไหม ?
10. รู้จักให้อภัย
เรื่องอะไรที่แล้ว ๆ มาซึ่งผิดใจกันหรือเข้าใจไม่ต้องกันก็ขอให้ปล่อย ๆ ไปบ้าง อย่าถือสาหรือเก็บเอามาเป็นความเครียดแค้นให้หนักสมองและหมองใจ จะไม่มีสิ่งใดติดค้างในใจเราอีกต่อไป การรู้จักให้อภัยเป็นสิ่งที่ทำให้โลกสดใส เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดี ๆ ถ้าโกรธใครหรือมีความคิดในแง่ลบกับใครก็ลืม ๆ ไปบ้าง อย่าเก็บมาคิดให้เสียความรู้สึกเลย ปล่อยไปเถอะ แล้วคุณจะมีความสุขเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว
11. ไม่เป็นครูที่หวงวิชา
เรื่องไหนที่เขาไม่ถนัด หรือยังทำได้ไม่คล่องมือ แต่คุณคุ้นเคยและชำนาญการก็ลองสอน ๆ เขาไว้บ้าง คนเราเกิดมาไม่ได้รอบรู้ไปซะทุกด้าน ในมุมกลับกันคุณเองก็อาจจะมีเรื่องที่คุณไม่รู้แต่เขารู้ก็เป็นได้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนความรู้กันไป จะเข้าท่าเป็นที่สุด
12. มีแรงบันดาลใจดี ๆ
การมีแรงบันดาลใจดี ๆ จะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ช่วยให้สามารถจัดการเรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงกระตุ้นให้ตัวเองได้มีความรู้สึกที่ดี ๆ อยู่เสมอ ๆ ฉะนั้นแล้ว มองหาสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิตและลองเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ดี ๆ อยู่เสมอ ๆ แล้วแรงบันดาลใจพร้อมแรงกระตุ้นดี ๆ จะตามคุณเข้ามาเอง
13. มีสมาธิ
ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ การมีสติ มีสมาธิอันแน่วแน่ ก็จะนำมาซึ่งความประสบความสำเร็จอยู่เสมอ ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ทั้งเรื่องการเรียน หน้าที่การงาน และอื่น ๆ อีกสารพัดสารเพ ก็ขอให้ทำอย่างเต็มที่ มุ่งมั่น ตั้งใจ มีสติ จดจ่อและแน่วแน่เข้าไว้ รับรองเลยว่าความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน
14. รู้จักจดจำในเรื่องสำคัญ ๆ
ในชีวิตนี้มีเรื่องราวมากมายให้ต้องจดจำกันมากมาย ไหนจะวันเกิดของคนสำคัญ เรื่องสำคัญที่ต้องทำ และเรื่องอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน ฉะนั้นแล้วจดจำให้ดี ถ้ากลัวลืมจดบันทึกไว้ หรือจะเมมใส่ในโทรศัพท์ไว้ก็ได้ จะได้เป็นเครื่องช่วยจำเพื่อที่คุณจะได้ไม่พลาดเรื่องสำคัญ ๆ ในชีวิต
15. ซื่อสัตย์กับตนเอง
หลาย ๆ คนอาจจะบอกว่าทุกวันนี้ก็ซื่อสัตย์กับตัวเองดีอยู่แล้ว จะมาบอกกล่าวกันทำไม แต่เชื่อได้เลยว่า กว่า 80 % มักจะหลง ๆ ลืม ๆ และไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองอยู่บ่อยครั้ง ยกตัวง่าย ๆ เช่น การปฏิญาณกับตัวเองว่าจะไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่พอมีเงินเข้าหน่อย หรือเจอของลดราคาถูกใจ ก็อดใจไม่ไหวเป็นอันต้องเสียเงินไปจนได้ ดังนั้นแล้วพยายามซื่อสัตย์กับตัวเองเข้าไว้ เพราะถ้าคุณทำได้ คุณก็จะสามารถให้ความซื่อสัตย์กับคนอื่น ๆ ได้ต่อไป
16. มีความอดทน
การมีความอดทนกับทุกสิ่งอย่าง ถือเป็นเรื่องดีที่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ แม้ว่าจะรู้สึกย่ำแย่หรืออึดอัดมากเพียงใดก็ตาม การมีความอดทนจะช่วยให้คุณได้มองเห็นปัญหาในมุมมองที่มากขึ้น ซึ่งนั่นจะช่วยให้คุณหาทางออกในการแก้ไขเรื่องราวต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

17. ตอบกลับด้วย อย่าเพิกเฉย
ถือเป็นข้อสำคัญที่ต้องใส่ใจและห้ามเมินเฉยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าที่การงาน การเรียน หรือเรื่องที่ต้องติดต่อสื่อสารกับผู้คนอื่น ๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการติดต่อกัน ข้อควรระวังที่ต้องหลีกเลี่ยงคือการเพิกเฉย เพราะการเพิกเฉยไม่เคยส่งผลดีอะไรเลย อาจจะทำให้อีกฝ่ายไม่รู้เรื่องหรือทุกข์ร้อนกระวนกระวายใจขึ้นได้ ตอบกลับไปบ้าง เพื่อให้อีกฝ่ายได้รู้เรื่องราวและความเป็นไปที่เกิดขึ้น ห้ามนิ่งเฉยเป็นอันขาด...จำไว้ !!
18. เรื่องไหนไม่สำคัญก็ปล่อย ๆ ไปบ้าง
ชีวิตนี้มีเรื่องให้คิดให้ทำมากมาย ฉะนั้นแล้ว คัดกรองเรื่องที่จะทำไว้บ้าง เรียงลำดับความสำคัญให้ดีว่าเรื่องไหนควรจจะจัดการก่อนหลัง ส่วนเรื่องไหนที่เป็นเรื่องไม่สำคัญอะไรมากมายนักก็ปล่อย ๆ ไปบ้าง อย่าเก็บมาทำให้เกิดความเครียดสะสม ชีวิตจะได้สบาย ๆ และลงตัวมากกว่าเดิม
19. สร้างสิ่งเซอร์ไพรส์
สร้างสีสันให้ชีวิตทั้งกับตัวคุณเองและคนรอบข้างด้วยการทำเซอร์ไพรส์ดี ๆ ขึ้นมาบ้าง อาจจะเป็นวันเกิด วันครบรอบ หรือวันสำคัญ ๆ ก็เข้าท่า การสร้างเรื่องเซอร์ไพรส์ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ช่วยให้คนอื่น ๆ ได้รู้ว่า อย่างน้อย ๆ ก็ยังมีคุณที่ยังคงให้ความสนใจกับตัวเขาอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อย่าได้มีเซอร์ไพรส์ให้บ่อยครั้งไปนัก ไม่งั้นจะกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อไปโดยปริยาย
20. มีความคิดแง่บวก
การมีความคิดในแง่ลบมักเป็นเรื่องที่ชวนหงุดหงิดอยู่เสมอ ฉะนั้นแล้ว คิดแง่บวกเข้าไว้ มองเรื่องต่าง ๆ ในแง่ดี ๆ อยู่เสมอ จะเป็นสิ่งที่เข้าท่ากว่ากันเยอะเลย เมื่อคุณมีความคิดหรือมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในด้านที่ดีแล้ว จะทำให้คุณมีความสุขตามมาด้วยอย่างแน่นอน
21. มีการวางแผนในเรื่องต่าง ๆ
การจะช่วยเหลือใครสักคนให้มีประสิทธิภาพและเป็นขั้นเป็นตอนก็ควรที่จะมีการวางแผนไว้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น การไปที่นู่นที่นี่ กินอาหารร้านนั้น ช้อปปิ้งร้านนี้ หรืออื่น ๆ อีกเยอะแยะมากมาย วางแผนสักนิด จะช่วยให้จัดสรรชีวิตได้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ลงตัวและเป็นประโยชน์มากขึ้นตามไปด้วย
22. พูดคุยแบบปากเปล่า
การพูดคุยกันโดยตรงแบบปากเปล่าถามไถ่ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น จะเป็นวิธีการที่ดีที่ช่วยให้เข้าใจได้อย่างง่าย ๆ และรวดเร็วที่สุด แต่ถ้าหากไม่สะดวกเจอหน้าพูดคุยหรือยังไม่พร้อมก็เขียนเป็นจดหมายหรือโน้ตเล็ก ๆ ดูก็ได้ วิธีนี้ก็ให้ความรู้สึกที่ดีเหมือนกันนะ

23. โลกสวยด้วยรอยยิ้ม
ลืมกันไปแล้วหรือยังว่าประเทศไทยของเราเป็น "สยามเมืองยิ้ม" ถ้ายัง ก็ช่วยกันสานต่อคำกล่าวนั้นก็เยอะ ๆ เถอะครับ ยิ้มเข้าไว้ ชีวิตนี้จะได้มีความสุข คิดง่าย ๆ เวลาที่เราเห็นใครสักคนยิ้มให้ เราก็จะรู้สึกดีและก็ยิ้มตามไปด้วยถูกไหมครับ ยิ้มเข้าไว้ เพราะยิ้มไม่เคยทำเรื่องเสีย ๆ หาย ๆ ให้ ลองยิ้มด้วยความเต็มใจก็จะพบว่ามันช่างแฮปปี้ที่สุดเลย
24. ทำอาหารให้ทาน
ถ้าใครที่มีฝีมือหรือเสน่ห์ปลายจวักด้านการทำอาหาร ก็ลองลงมือทำเมนูจานเด็ดไปฝากคนรอบข้างดูสักมื้อ ทำอาหารที่เขาชอบและเป็นประโยชน์ เพื่อให้เขารู้ว่ามีคุณที่แคร์เขาอยู่ รับรองเลยว่า เขาจะต้องทานอาหารฝีมือคุณอย่างมีความสุขและหมดเกลี้ยงในชั่วพริบตาเลยทีเดียว
25. ติเพื่อก่อ
บางครั้งถ้าคุณมีความคิดที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้น ๆ ก็ลองเสนอมุมมองของคุณให้เขาได้ทราบบ้างก็ได้ หรือหากมีเรื่องไหนที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรก็ควรที่จะติเตียน เพื่อเขาได้รู้ตัวและนำไปปรับปรุงต่อไป
26. อย่าคาดหวังให้มากจนเกินไป
เคยคาดหวังกับอะไรบางอย่างแบบมาก ๆ จนผลสุดท้ายก็เจ็บเพราะสิ่งนั้นไม่เป็นดังที่หวังกันไหม ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ขอให้ชีวิตแบบพอดี ๆ อยู่กับความเป็นจริงให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะการคาดหวังกับบางสิ่งแบบมาเกินไป ไม่เคยช่วยให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ขึ้นเลย ค่อยเป็นค่อยไปจะดีเสียกว่า
ทั้ง 26 ข้อที่ได้กล่าวไปนั้น ถือเป็นเคล็ด (ไม่) ลับดี ๆ ที่เราขอยืนยันว่าจะช่วยให้คุณสามารถดูแลและเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นของคนรอบข้างคุณได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่นจะเป็นผลดีทั้งกับตัวคุณและคนรอบข้างของคุณมาก ๆ เลยด้วย

http://albumvote.postjung.com/itf59.html




กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]


โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคีและชนชั้นวรรณะพราหมณ์
เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน
โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ( Hatha Yoga )
ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา



ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหารร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ
เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้
หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี



โยคะท่าพื้นฐาน

ท่านมัสการ




ความหมาย


• นมัสการ หมายถึง ทำความเคารพ



วิธีปฏิบัติ


• ยืนหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เท้าชิด พนมมือ

• หายใจเช้าและยกแขนขึ้น ค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง ยื่นแขนเหนือศีรษะ

• หายใจออกช้าๆ เอนตัวไปข้างหน้า ให้มือที่พนมอยู่สัมผัสพื้นจนกระ ทั่งมืออยู่ในแนวเดียวกับเท้าศีรษะสัมผัสหัวเข่า

• หายใจเข้า ก้าวเท้าขวาถอยหลังมา 1 ก้าว ให้มือและเท้า ยังคงอยู่กับพื้น เท้าซ้ายอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• ขณะหายใจออก ยกเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา แขนตรงยกสะโพกขึ้นให้ศีรษะ และแขนอยู่ในแนวเดียวกัน ทำท่าเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าและค่อยๆ ลดสะโพกลงมาที่พื้น (ให้สะโพกอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย) ก้มตัวลงไปข้างหลังให้มากที่สุด

• หายใจออก และลดตัวลงมาที่เท้า เข่า มือ และอก สัมผัสพื้น

• หายใจเข้า และค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยศีรษะไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด และโค้งกระดูกสันหลังไปให้ได้มากที่สุด เหมือนท่านาคอาสนะ

• ขณะหายใจออกช้าๆ และให้แขนอาสนะ ยกสะโพกขึ้น และให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกับแขน ทำเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าช้าๆ และงอเข่าซ้าย ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือยังคงอยู่ที่พื้น วางเท้าซ้ายลงบนพื้นระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• หายใจออกช้าๆ ให้มืออยู่ที่เดิม ดึงเท้าทั้งสองเข้ามาชิดกัน ให้อยู่แนวเดียวกับมือถ้าเป็นไปได้ ให้ศีรษะสัมพันธ์กับหัวเข่า

• หายใจเข้าช้าๆ และยกแขนขึ้น ค่อยๆเอนตัวไปข้างหลัง โดยยื่นแขนขึ้นเหนือศีรษะ ย้อนกลับไปตำแหน่งยังข้อ 1



ท่าชวังคอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต ชว หมายถึง ทั้งหมด หรือ ทุกๆ อังคะ หมายถึง ร่างกาย ชวังคะ จึงหมายถึง ทำทั้งร่างกาย

ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นท่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน ท่านี้มักเรียกกันว่า ท่ายืนบนไหล่

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงายในท่า ศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้นขณะงอเข่าและดึงเข่าเข้ามาที่ท้อง หายใจออก

• หายใจเข้าช้าๆ กดฝ่ามือลง ยกลำตัวตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นจากพื้น งอกระดูกสันหลังไปข้างหลัง และทำท่อนแขนให้ตรง ให้สะโพกอยู่บนพื้น

• หายใจเข้าแล้วในขณะหายใจออก ให้ยกขาตั้งฉากกับพื้น อาจใช้มือพยุงสะโพกไว้ หรือวางแขนไว้ลงกับพื้นตามถนัด

• ขาดชิด เข่าตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น ศีรษะตรงไม่หันไปด้านใดด้านหนึ่ง เก็บคางให้ชนหน้าอก

• หายใจเข้า ออก ช้าๆ ขณะคงท่านี้ไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 6 จนกลับสู่ท่าศพอาสนะ



ท่าตรีโกณอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ตรี ในภาษาสันสกฤตหมายถึง สาม โกณ หมายถึง เหลี่ยมหรือมุม

ดังนั้น ท่านี้จึงเรียกว่า ท่าสามมุม หรือท่าสามเหลี่ยม

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิดแขนแนบลำตัว

• แยกเท้าออกจากกัน ให้ระยะห่างมากกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย

• หายใจเข้าและยื่นแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้น ฝ่ามือคว่ำลง

• หายใจออกช้าๆ หันลำตัวไปทางซ้าย งอตัวที่ช่วงเอว ให้มือขวาลงไปที่แข้งซ้าย ฝ่ามือขวา วางไว้ข้างนอกของหน้าแข้งซ้าย

แขนซ้ายควรยื่นออกไปด้านบนขาและแขนทั้งสองข้างตรง โดยไม่ต้องงอเข่าและข้อศอก


• หันศีรษะขึ้นไปทางซ้าย มองไปที่ปลายนิ้วมือซ้าย หายใจเข้า และกลับไปสู่ท่าเดิม คือท่ายืน ให้แขนกางออก

• คงท่านี้ไว้ เท่ากับช่วงหายใจออก หายใจออกและทำซ้ำ ขั้นตอนที่ 4-7 สลับซ้าย



ศีรษะอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ศีรษะ หมายถึง หัว ในภาษาสันสกฤต ท่านี้คือ ท่ายืนด้วยศีรษะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการฝึกอาสนะ ไม่แพ้ท่าปทมอาสนะ

ด้านบนคือภาพโมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพโยคีขณะทำท่าศีรษะอาสนะ

วิธีปฏิบัติ


• นั่งคุกเข่า ให้สะโพกอยู่บนส้นเท้า

• เอนตัวไปข้างหน้า วางแขนลงบนพื้น ให้ศอกห่างกัน 1 ช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน

• วางศีรษะลงบนพื้น ให้ท้ายทอยสัมผัสมือที่ประสานไว้

• ให้ปลายเท้าจิกพื้น ขณะยกส้นเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น

• คงท่านี้ไว้เป็นระยะเท่ากับการหายใจเข้า ถ้าไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ให้ค่อยๆ หายใจออก และนอนราบกับพื้น กางขาออก กลับไปสู่ท่าศพอาสนะ



หลอาสนะ



ความหมาย

• หล แปลว่า คันไถ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย แบบท่าศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำที่พื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้น งอเข่าเข้ามาจรดท้องขณะหายใจออก

• หายใจเข้า ขณะหายใจออกให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับพื้น คุณอาจใช้มือพยุงสะโพก หรือวางแขนราบไปกับพื้นแล้วแต่ถนัด

• หายใจออก แล้วยกขาขึ้นเหนือศีรษะ งอขาตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ยกหลังและสะโพก จนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นด้านหลังของศีรษะ รักษาเท้าให้ชิดกัน

หากใช้มือพยุงหลังให้ลองวางแขนราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง ถ้าไม่สามารถวางแขนลงที่พื้นได้ให้ใช้มือพยุงหลังส่วนล่างไว้


• เข่าตรง หายใจช้าๆ และคงท่านี้ไว้สักครู่ ถ้านิ้วเท้าสัมผัสพื้นไม่ได้ ก็พยายามให้นิ้วเท้าอยู่ต่ำที่สุด

• ทำท่าย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 5 ถึง 1 จนกลับไปสู่ท่าศพอาสนะเหมือนเดิม




ธนูอาสนะ




ความหมาย

• คำว่าธนู ในภาษสันสกฤต หมายถึง มีรูปร่างเหมือนคันศร โค้ง หรือ งอ คันศร

ในที่นี้หมายถึง คันศรที่ใช้กับลูกธนู ท่าอาสนะนี้ มีชื่อแบบนี้เนื่องจาก ร่างกายมีท่าทางคล้ายคันศรที่โก่งพร้อมยิงธนู

วิธีปฏิบัติ


• นอนคว่ำหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนราบไปกับลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น

• หันหน้ามาเพื่อวางคางไว้บนพื้น หายใจออก งอเข่า เอื้อมแขนไปข้างหลัง จับข้อเท้าขวาไว้ด้วยมือขวา จับข้อเท้าซ้ายด้วยมือซ้าย

• ขณะหายใจเข้า ค่อยๆ ยกขาขึ้นโดยดึงข้อเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น และยกอกขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน

กลั้นลมหายใจเข้าเอาไว้ ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนหน้าท้อง


• ยื่นศีรษะให้ไกลที่สุด คงท่านี้ไว้ขณะกลั้นหายใจ

• หายใจออกช้าๆ วางเข่าลงบนพื้น ปล่อยข้อเท้า ค่อยๆ วางขาและแขนลงบนพื้น หันหน้าไปข้างหนึ่ง ทำเหมือนท่าเริ่มต้น



ท่าพิจิกอาสนะ



ความหมาย

• ท่าพิจิกหรือท่าแมงป่อง ในท่านี้ ร่างกายจะดูเหมือนแมลงป่อง ที่ยกหางโค้งขึ้นเหนือหัว พร้อมจะต่อยคู่ต่อสู้

แม้ท่านี้จะดูยากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

วิธีปฏิบัติ


• คุกเข่าลงที่พื้น โน้มตัวไปข้างหน้า วางศอกและแขนด้านในราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง แขนควรห่างกันประมาณ 1ช่วงไหล่

• ยื่นศีรษะไปข้างหน้าและยกให้สูงที่สุด

• ยกสะโพกขึ้น วางเท้าให้มั่นคง

• หายใจเข้าและแกว่งขาขึ้นไปเหนือศีรษะ รักษาสมดุลของร่างกายไว้ ยกขาตรงขึ้นเหนือศีรษะ

• ค่อยๆ งอเข่าและปล่อยขาลงมาทางด้านศีรษะ ระวังอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และอย่าทิ้งขาลงไปไกลเกินไปขณะรักษาสมดุลของร่างกายไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 5 จนกลับไปสู่ท่าคุกเข่า

* ข้อควรระวัง ไม่ควรลองท่าแมงป่อง จนกว่าคุณจะสามารถทำท่าที่ต้องใช้สมดุลของร่างกายอื่นๆ และไม่เหมาะกับสตรีมีรอบเดือน



ท่าพฤกษอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต พฤกษะหมายถึง ต้นไม้ ท่านี้จึงเรียกว่าท่าต้นไม้

"ยืนตรงบนขาซ้าย งอขาขวาและวางขาขวาไว้บนโคนขาซ้าย ยืนเหมือนต้นไม้ ยืนอยู่บนพื้นดิน นี่คือท่าพฤกษอาสนะ"

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิด แขนแนบลำตัว

• งอเข่าขวา ยกต้นขาขวา และยก ส้นเท้าขวาไปบนต้นขาซ้ายด้าน ในให้โกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้

• ทรงตัว บนเท้าซ้าย ยกแขนทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ และให้ฝ่ามือประชิดกัน

คงท่านี้ไว้ขณะค่อยๆ หายใจ ประมาณ 10 ช่วงหายใจเข้าออก


• ลดแขนและขาขวาลง และกลับไปสู่ตำแหน่งในข้อ 1 คือการยืนหน้าชิด แขนแนบลำตัว หยุดพักสักครู่ และทำซ้ำด้วยขาข้างหนึ่ง



ศพอาสนะ



ความหมาย

• ความหมาย คำว่า ศพ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ร่างที่ตายไปแล้ว

"การนอนลงที่พื้นเหมือนศพ เรียกว่า ศพอาสนะ ช่วยกำจัดความเหนื่อยล้าและให้จิตใจได้พักผ่อน" จากหัตถโยคะปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย อย่าให้ขาแตะกัน แขนราบไปกับลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น

• หลับตาลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

• งอข้อศอก วางฝ่ามือบนพื้นใต้ไหล่ ให้นิ้วชี้ไปด้านหลัง

• มุ่งความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย จากหัวถึงเท้า แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน

• คงท่านี้ไว้ 10-15 นาที หากรู้สึกง่วงนอนขณะทำท่านี้ ให้หายใจเร็วและลึกขึ้น

• ครั้งแรกที่ฝึก ให้คงท่าศพอาสนะไว้ 10 หรือ 15 นาที กลับมาทำซ้ำเป็นระยะๆ ในช่วงฝึกท่าต่างๆ เพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นร่างกาย / จิตใจ

คำแนะนำ

บางคนคิดว่าท่านี้ง่ายมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จุดประสงค์ของศพอาสนะ คือ ให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นอกจากร่างกายจะต้องนิ่งและผ่อนคลายแล้ว จิตใจยังต้องนิ่งราวกับผิวน้ำที่ปราศจากการรบกวนอีกด้วย

ผลที่ได้คือการผ่อนคลายอย่างล้ำลึกและนิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิต่อไป

การฝึกศพอาสนะนั้นต้องใช้เวลา การกำหนดความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนและ กำหนดลมหายใจล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการฝึกท่านี้อย่างยิ่ง

อุปสรรค 2 อย่างที่อาจลดคุณค่าการฝึกศพอาสนะ ก็คือ ความง่วงและจิตใจที่ฟุ้งซ่าน หากรู้สึกง่วงขณะฝึก ให้กำหนดลมหายใจให้ลึกขึ้น

หากจิตใจไม่นิ่ง ให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กำหนดจิตไปที่พื้นหรือที่จังหวะลมหายใจของคุณเอง

การฝึกศพอาสนะควรทำก่อนและหลังการฝึกอาสนะเป็นประจำ


ข้อมูลจาก
Practice 01





------------------------------------------------------------------------------

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons