วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

ทำอย่างไรจะเป็นคนที่ใช่ ของกันและกันตลอดไป

ทำอย่างไรจะเป็นคนที่ใช่ ของกันและกันตลอดไป

ความรัก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
พบรัก...คบกัน...แต่งงานหวานชื่น และครองรักกันอย่างเป็นสุขไปจนแก่เฒ่า นี่มันพล็อตในนิยายเจ้าชายเจ้าหญิงชัด ๆ เรื่องราวความรักจริง ๆ ไม่ได้หวานชื่น และจบลงอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งเช่นนี้เสมอไป เพราะมีคู่รักที่จูงมือกันเข้าประตูวิวาห์บางคู่ ก็ไม่ได้ครองรักกันไปจนแก่เฒ่า
หลายคนคิดว่าเมื่อเรื่องราวของคนรักกันดำเนินไปสู่การแต่งงาน นั่นหมายความว่าคนที่อยู่ข้างกายของเราคือคนที่ "ใช่" แล้ว แต่เมื่อคราวกาลเวลาผันผ่าน กลับทำให้ได้รู้ว่าคนที่เคยคิดว่าใช่ กลับไม่เป็นอย่างที่คิด ทั้ง ๆ ที่ก่อนแต่งงานก็มั่นใจว่าศึกษากันและกันมาอย่างดีแล้ว นั่นทำให้คุณคิดว่าคงเลือกคนผิดไปตั้งแต่แรก ทั้งที่ความจริงการแต่งงานไม่ใช่เครื่องการันตีคนที่ใช่เท่านั้น แต่การปฏิบัติตัวต่อกันหลังแต่งงานต่างหาก ที่เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้คุณครองรักกับคนที่คิดว่าใช่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง
ถ้าอยากจะให้ชีวิตคู่ราบรื่น ไม่ว่าจะก่อนแต่งหรือหลังแต่ง ก็ยังคงรักและเข้าใจกันไม่ต่างจากเดิม นอกจากจะอาศัยการเลือกคนที่ "ใช่" มาเป็นคู่ชีวิตแล้ว ยังต้องรู้จักเลือกปฏิบัติสิ่งที่ "ใช่" แก่คนของเรา เพื่อรักษาความรักให้ดำเนินไปอย่างไร้ปัญหาด้วย ดังต่อไปนี้...
1. ให้เวลากับตัวเอง
ความรักคือการให้ เมื่อได้แต่งงานกันคุณก็ต้องให้เวลากับคู่รักด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การให้มากเกินไปกลับไม่ส่งผลดี หากคุณมีแต่ให้อีกฝ่ายจนไม่เหลือเวลาให้ตัวเอง แบ่งตารางเวลาในแต่ละวันให้มีช่วงเวลาที่เป็นของตัวเองบ้าง เวลาที่คุณสามารถทำอะไรตามใจชอบ ให้ตัวเองมีความสุขได้ อย่างเช่น ออกไปพบปะกับเพื่อน ๆ พักผ่อนเอกเขนก ออกกำลังกาย บางคนอาจคิดว่าเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ไม่สำคัญ แต่การแบ่งเวลาให้ได้ปรนเปรอตัวเอง ด้วยความสุขตามใจอยากบ้าง ก็จะทำให้คุณมีความสุข ๆ พร้อม ๆ กับแฮปปี้กับความรักด้วย
2. กำหนดเป้าหมายแล้วค่อย ๆ ก้าวไปให้ถึง
สำรวจความเป็นไปในชีวิตคู่ของคุณ ว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคใดบ้าง หรือมีสิ่งใดที่อยากแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม ลองกำหนดเป้าหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงที่คุณต้องการ แล้วจึงวางแผนว่าต้องทำอย่างไร จึงจะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้ นอกจากจะวางแผนหาหนทางแล้ว อย่าลืมระบุปัญหาที่ขัดขวางไม่ให้คุณไปสู่จุดหมายได้โดยง่ายด้วย ย่อยมันลงเป็นหัวข้อเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ พิชิตไปทีละประเด็น ในที่สุดคุณจะเอาชนะปัญหาและก้าวไปสู่จุดหมายที่หวังไว้ได้ โดยที่ไม่ทันรู้ตัวเลยล่ะ
3. วางแผนการเงินด้วยกัน
ไม่มีใครอยากให้ชีวิตคู่ต้องแตกกันเพราะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แม้จะเป็นของนอกกาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากเช่นกัน คุณควรหารือตกลงเรื่องรายรับรายจ่ายของครอบครัว โดยมีส่วนร่วมกันทั้งสองฝ่าย เงินส่วนไหนควรเป็นเงินออมสำหรับทั้งคู่ ส่วนไหนคือค่าใช้จ่ายสำหรับเรื่องทั่วไป เก็บเงินเพื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินสักเท่าไหร่ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ควรมีเงินส่วนหนึ่งที่เป็นของคุณเอง และสามารถใช้สอยได้ตามใจ โดยไม่ต้องรอความเห็นชอบหรือการตกลงใจจากอีกฝ่าย เพราะบางครั้งเราก็มีของที่อยากได้ หรือมีเรื่องที่อยากทำโดยใช้เงินส่วนตัวเช่นกัน การแบ่งเงินออกเป็นสัดส่วนชัดเจน และรับรู้ร่วมกันทั้งสองฝ่าย จะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
4. ไม่พูดจาเซ้าซี้
บางครั้งการพูดจาถึงเรื่องใด ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ก็ทำให้เรื่องนั้น กลายเป็นเรื่องเซ้าซี้ซ้ำซากที่น่าเบื่อและไม่น่าสนใจ แม้ว่าในความจริงมันอาจเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลก็ได้ เพราะฉะนั้น หากคุณอาจจะอ้อนขออะไรสักอย่าง โปรดจำไว้ว่าอย่าพูดเซ้าซี้เกิน 3 ครั้ง การพูดอย่างหนักแน่น แต่น้อยครั้ง จะทำให้คำพูดนั้นมีน้ำหนักและน่าฟัง ต่างกับคำเซ้าซี้ที่ใคร ๆ ก็เบือนหน้าหนี ทั้งนี้ จงพูดด้วยความจริงใจพร้อมรอยยิ้ม ไม่ใส่อารมณ์แง่งอน พูดจาน่ารัก มีเหตุผลน่าฟังแบบนี้ ใจคนฟังก็โอนอ่อนตามไปเกินครึ่งแล้วล่ะ
5. เลิกต่อปากต่อคำชวนทะเลาะ
เวลาขัดใจกันขึ้นมาเมื่อไร ผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเสียเปรียบ มักจะเถียงอย่างไม่ลดละ ต่อปากต่อคำอย่างไม่ยอมแพ้ บางครั้งก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ว่ากำลังอ้างเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ ไม่น่ารักขึ้นมาพูด กลายเป็นสงครามน้ำลาย ที่พาชีวิตคู่ดิ่งลงเหวไปเหวหลายคู่ ก่อนจะเอ่ยปากปะทะคารม ให้สงบจิตใจลงเสีย แล้วเดินหนีบรรยากาศคุกรุ่นนั้นไปก่อน รอจนกว่าอารมณ์เย็นลงแล้วทั้งสองฝ่ายจึงค่อย ๆ พูดจากันดี ๆ ดีกว่า
6. เซ็กส์ดี ๆ คืนหวานให้ชีวิตรัก
ใช่แล้ว การความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนรักนี่แหละ ที่ช่วยเติมความหวานให้กับชีวิตรักได้ แม้หลาย ๆ คนจะบอกว่าความรักคือเรื่องของความรู้สึก แต่เรื่องความสัมพันธ์ลึกซึ้งทางกาย ก็เป็นส่วนเติมเต็มให้ความรักเต็มตื้นจนอิ่มล้นได้เช่นกัน การจูบ โอบกอด และสัมผัสแนบชิดระหว่างกาย เป็นการสื่อสารเชิงบวกของร่างกายที่ช่วยเติมเต็มความรู้สึกรักใคร่ ความเข้าใจ และให้ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยได้
7. ชมคนรักของคุณบ้าง
อาจจะฟังดูน่าขัดเขินไปบ้าง แต่วิธีนี้เป็นการเติมหวานให้ความรักได้โดยไม่เลี่ยนนัก ลองนึกย้อนกลับไปคิดดูว่ามีอะไรบ้างที่เขาทำให้คุณดีใจ หัวเราะ หรืออมยิ้มได้ทุกครั้งที่นึกถึง ไม่ว่าสิ่งที่เขาทำจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ทำเซอร์ไพรส์ให้คุณประหลาดใจเล่น หรือว่าเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ อย่างซื้อขนมมาฝากก็ตาม จากนี้ไปอย่าลืมกล่าวคำขอบคุณ หรือชมว่า "น่ารักจัง", "คุณช่างรู้ใจฉันจริง ๆ" คำพูดเหล่านี้แสดงให้เขาได้รับรู้ว่า เขาเป็นคนสำคัญสำหรับคุณจริง ๆ
8. อย่ามั่นใจในความรักจนเกินเหตุ
การมั่นใจในความรักจนเกิดเหตุ กลายเป็นที่มาของรักล่มมานักต่อนักแล้ว เพราะยิ่งคนเรามั่นใจว่าความรักที่มีจะไม่จืดจางและอยู่ยืนยง ยิ่งทำให้เราลืมที่จะบำรุงรักษาเอาใจใส่ความรัก เช่นเดียวกับเมื่อไปสำรวจคู่แต่งงานใหม่ เมื่อถูกถามถึงความคิดเห็นต่อโอกาสอย่าร้าง ของผู้คนที่อาจเกิดขึ้นแม้แต่งงานกันไปแล้ว คำตอบที่ได้คือ คู่รักข้าวใหม่ปลาคิดว่าแม้คนที่แต่งงานแล้ว ก็มีโอกาสหย่าร้างกันได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
แต่เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่เหตุรักร้าวเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับตัว ทุกคู่รักต่างกล่าวว่าเรื่องแบบนี้ ไม่มีทางเกิดขึ้นกับคู่ของตัวเองเด็ดขาด ผลการสำรวจเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า คนที่ยังมั่นใจว่า ณ ปัจจุบันยังรักกันดีอยู่ จะไม่คำนึงหรือระแวดระวังถึงวันข้างหน้า ที่ปัญหาในความรักอาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้คนกลุ่มนี้ละเลยที่จะเอาใจใส่กันและกันได้ในที่สุด
9. ลืมความบาดหมางที่เคยเกิด
เหตุการณ์ชวนทะเลาะหลาย ๆ อย่าง เริ่มต้นจากบทสนทนาขุดคุ้ยเรื่องอดีตประเภทว่า "จำได้ไหมว่าเมื่อตอนนั้นน่ะคุณเคย..." แล้วก็ตามด้วยเรื่องราวความทรงจำที่ไม่น่าจดจำที่พรั่งพรูออกมา จะมีประโยชน์อันใดที่จะเอาเรื่องไม่ดีเก่า ๆ กลับขึ้นมาพูดอีก หากคุณยังคงขุ่นเคืองกับเรื่องราวเหล่านี้ ลองเขียนเรื่องราวไม่น่าจดจำต่าง ๆ ลงในกระดาษ จากนั้นให้เวลาตัวเองจะเพียงชั่วโมงหรือวันทั้งวัน ในการเกลียดชังโกรธขึ้งเรื่องราวทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อพอใจแล้ว ขยำหรือฉีกมันทิ้งซะ และให้เรื่องราวทั้งหลายและความคับข้องใจจบลงแค่เพียงในกระดาษ อย่าให้มันมารบกวนใจคุณอีก
10. คุณมีทางเลือกเสมอ
แม้ข้อสุดท้ายนี้จะเป็นข้อที่ไม่มีคู่รักคู่ไหนอยากก้าวมาถึง แต่เมื่อปัญหาในความรักระหว่างชีวิตคู่ได้เกิดขึ้นแล้ว การหาทางออกที่ดีให้กับปัญหา ย่อมดีกว่ามัวแต่คิดว่าตัวเองเลือกเดินทางผิด จึงต้องมาตกหล่มจมปลักอยู่กับคนที่ไม่ใช่ แล้วก็โทษอีกฝ่ายว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้มากมาย แต่ความจริงแล้วคุณเองก็มีทางเลือก เพื่อว่าจะให้ชีวิตคู่ดำเนินต่อไปในแบบใด
จะปล่อยปัญหาทิ้งเอาไว้แบบนั้นแล้วอยู่กับมันต่อไปเรื่อย ๆ จะเลือกเดินหน้าหาทางแก้ปัญหาและรักษาความรักที่เหลืออยู่เอาไว้ หรือจะจบความรักนี้ลงด้วยการหย่าร้าง มีทางเลือกให้คุณถึง 3 ทางแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับคุณว่าจะเลือกเดินทางไหน ที่สุดแล้วแม้มันอาจจบลงไม่สวยอย่างที่หวังไว้ แต่ก็ย่อมดีกว่าปล่อยตัวเองจมปลักอยู่กับปัญหาเรื่อยไป โดยไม่หาทางออก และคิดแต่ว่าตัวเองเลือกเดินทางมากับคนที่ไม่ใช่นะคะ
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งทีจะตัดสินว่าคนที่คุณคิดว่า "ใช่" นั้น คือคนที่เกิดมาคู่กับคุณจริง ๆ หรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของคุณเองด้วย เพราะการแต่งงานหรือการใช้ชีวิตคู่กัน ไม่ได้อาศัยแต่ความรักเพียงอย่างเดียว แต่มันต้องประกอบไปด้วย ความเข้าอกเข้าใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย และยอมรับในกันและกัน หากในวันนี้คุณและเขาต่างมั่นใจว่าเป็นคนที่ใช่ของกันและกัน การทนุถนอมความรักให้อยู่ไปตราบนานคงไม่ใช่เรื่องยาก ยังไงเราก็ขอเป็นกำลังใจให้คนที่รักกัน เป็นคนที่ใช่สำหรับกันและกันตลอดไปนะคะ




กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]


โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคีและชนชั้นวรรณะพราหมณ์
เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน
โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ( Hatha Yoga )
ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา



ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหารร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ
เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้
หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี



โยคะท่าพื้นฐาน

ท่านมัสการ




ความหมาย


• นมัสการ หมายถึง ทำความเคารพ



วิธีปฏิบัติ


• ยืนหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เท้าชิด พนมมือ

• หายใจเช้าและยกแขนขึ้น ค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง ยื่นแขนเหนือศีรษะ

• หายใจออกช้าๆ เอนตัวไปข้างหน้า ให้มือที่พนมอยู่สัมผัสพื้นจนกระ ทั่งมืออยู่ในแนวเดียวกับเท้าศีรษะสัมผัสหัวเข่า

• หายใจเข้า ก้าวเท้าขวาถอยหลังมา 1 ก้าว ให้มือและเท้า ยังคงอยู่กับพื้น เท้าซ้ายอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• ขณะหายใจออก ยกเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา แขนตรงยกสะโพกขึ้นให้ศีรษะ และแขนอยู่ในแนวเดียวกัน ทำท่าเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าและค่อยๆ ลดสะโพกลงมาที่พื้น (ให้สะโพกอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย) ก้มตัวลงไปข้างหลังให้มากที่สุด

• หายใจออก และลดตัวลงมาที่เท้า เข่า มือ และอก สัมผัสพื้น

• หายใจเข้า และค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยศีรษะไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด และโค้งกระดูกสันหลังไปให้ได้มากที่สุด เหมือนท่านาคอาสนะ

• ขณะหายใจออกช้าๆ และให้แขนอาสนะ ยกสะโพกขึ้น และให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกับแขน ทำเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าช้าๆ และงอเข่าซ้าย ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือยังคงอยู่ที่พื้น วางเท้าซ้ายลงบนพื้นระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• หายใจออกช้าๆ ให้มืออยู่ที่เดิม ดึงเท้าทั้งสองเข้ามาชิดกัน ให้อยู่แนวเดียวกับมือถ้าเป็นไปได้ ให้ศีรษะสัมพันธ์กับหัวเข่า

• หายใจเข้าช้าๆ และยกแขนขึ้น ค่อยๆเอนตัวไปข้างหลัง โดยยื่นแขนขึ้นเหนือศีรษะ ย้อนกลับไปตำแหน่งยังข้อ 1



ท่าชวังคอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต ชว หมายถึง ทั้งหมด หรือ ทุกๆ อังคะ หมายถึง ร่างกาย ชวังคะ จึงหมายถึง ทำทั้งร่างกาย

ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นท่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน ท่านี้มักเรียกกันว่า ท่ายืนบนไหล่

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงายในท่า ศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้นขณะงอเข่าและดึงเข่าเข้ามาที่ท้อง หายใจออก

• หายใจเข้าช้าๆ กดฝ่ามือลง ยกลำตัวตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นจากพื้น งอกระดูกสันหลังไปข้างหลัง และทำท่อนแขนให้ตรง ให้สะโพกอยู่บนพื้น

• หายใจเข้าแล้วในขณะหายใจออก ให้ยกขาตั้งฉากกับพื้น อาจใช้มือพยุงสะโพกไว้ หรือวางแขนไว้ลงกับพื้นตามถนัด

• ขาดชิด เข่าตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น ศีรษะตรงไม่หันไปด้านใดด้านหนึ่ง เก็บคางให้ชนหน้าอก

• หายใจเข้า ออก ช้าๆ ขณะคงท่านี้ไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 6 จนกลับสู่ท่าศพอาสนะ



ท่าตรีโกณอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ตรี ในภาษาสันสกฤตหมายถึง สาม โกณ หมายถึง เหลี่ยมหรือมุม

ดังนั้น ท่านี้จึงเรียกว่า ท่าสามมุม หรือท่าสามเหลี่ยม

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิดแขนแนบลำตัว

• แยกเท้าออกจากกัน ให้ระยะห่างมากกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย

• หายใจเข้าและยื่นแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้น ฝ่ามือคว่ำลง

• หายใจออกช้าๆ หันลำตัวไปทางซ้าย งอตัวที่ช่วงเอว ให้มือขวาลงไปที่แข้งซ้าย ฝ่ามือขวา วางไว้ข้างนอกของหน้าแข้งซ้าย

แขนซ้ายควรยื่นออกไปด้านบนขาและแขนทั้งสองข้างตรง โดยไม่ต้องงอเข่าและข้อศอก


• หันศีรษะขึ้นไปทางซ้าย มองไปที่ปลายนิ้วมือซ้าย หายใจเข้า และกลับไปสู่ท่าเดิม คือท่ายืน ให้แขนกางออก

• คงท่านี้ไว้ เท่ากับช่วงหายใจออก หายใจออกและทำซ้ำ ขั้นตอนที่ 4-7 สลับซ้าย



ศีรษะอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ศีรษะ หมายถึง หัว ในภาษาสันสกฤต ท่านี้คือ ท่ายืนด้วยศีรษะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการฝึกอาสนะ ไม่แพ้ท่าปทมอาสนะ

ด้านบนคือภาพโมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพโยคีขณะทำท่าศีรษะอาสนะ

วิธีปฏิบัติ


• นั่งคุกเข่า ให้สะโพกอยู่บนส้นเท้า

• เอนตัวไปข้างหน้า วางแขนลงบนพื้น ให้ศอกห่างกัน 1 ช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน

• วางศีรษะลงบนพื้น ให้ท้ายทอยสัมผัสมือที่ประสานไว้

• ให้ปลายเท้าจิกพื้น ขณะยกส้นเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น

• คงท่านี้ไว้เป็นระยะเท่ากับการหายใจเข้า ถ้าไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ให้ค่อยๆ หายใจออก และนอนราบกับพื้น กางขาออก กลับไปสู่ท่าศพอาสนะ



หลอาสนะ



ความหมาย

• หล แปลว่า คันไถ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย แบบท่าศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำที่พื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้น งอเข่าเข้ามาจรดท้องขณะหายใจออก

• หายใจเข้า ขณะหายใจออกให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับพื้น คุณอาจใช้มือพยุงสะโพก หรือวางแขนราบไปกับพื้นแล้วแต่ถนัด

• หายใจออก แล้วยกขาขึ้นเหนือศีรษะ งอขาตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ยกหลังและสะโพก จนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นด้านหลังของศีรษะ รักษาเท้าให้ชิดกัน

หากใช้มือพยุงหลังให้ลองวางแขนราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง ถ้าไม่สามารถวางแขนลงที่พื้นได้ให้ใช้มือพยุงหลังส่วนล่างไว้


• เข่าตรง หายใจช้าๆ และคงท่านี้ไว้สักครู่ ถ้านิ้วเท้าสัมผัสพื้นไม่ได้ ก็พยายามให้นิ้วเท้าอยู่ต่ำที่สุด

• ทำท่าย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 5 ถึง 1 จนกลับไปสู่ท่าศพอาสนะเหมือนเดิม




ธนูอาสนะ




ความหมาย

• คำว่าธนู ในภาษสันสกฤต หมายถึง มีรูปร่างเหมือนคันศร โค้ง หรือ งอ คันศร

ในที่นี้หมายถึง คันศรที่ใช้กับลูกธนู ท่าอาสนะนี้ มีชื่อแบบนี้เนื่องจาก ร่างกายมีท่าทางคล้ายคันศรที่โก่งพร้อมยิงธนู

วิธีปฏิบัติ


• นอนคว่ำหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนราบไปกับลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น

• หันหน้ามาเพื่อวางคางไว้บนพื้น หายใจออก งอเข่า เอื้อมแขนไปข้างหลัง จับข้อเท้าขวาไว้ด้วยมือขวา จับข้อเท้าซ้ายด้วยมือซ้าย

• ขณะหายใจเข้า ค่อยๆ ยกขาขึ้นโดยดึงข้อเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น และยกอกขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน

กลั้นลมหายใจเข้าเอาไว้ ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนหน้าท้อง


• ยื่นศีรษะให้ไกลที่สุด คงท่านี้ไว้ขณะกลั้นหายใจ

• หายใจออกช้าๆ วางเข่าลงบนพื้น ปล่อยข้อเท้า ค่อยๆ วางขาและแขนลงบนพื้น หันหน้าไปข้างหนึ่ง ทำเหมือนท่าเริ่มต้น



ท่าพิจิกอาสนะ



ความหมาย

• ท่าพิจิกหรือท่าแมงป่อง ในท่านี้ ร่างกายจะดูเหมือนแมลงป่อง ที่ยกหางโค้งขึ้นเหนือหัว พร้อมจะต่อยคู่ต่อสู้

แม้ท่านี้จะดูยากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

วิธีปฏิบัติ


• คุกเข่าลงที่พื้น โน้มตัวไปข้างหน้า วางศอกและแขนด้านในราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง แขนควรห่างกันประมาณ 1ช่วงไหล่

• ยื่นศีรษะไปข้างหน้าและยกให้สูงที่สุด

• ยกสะโพกขึ้น วางเท้าให้มั่นคง

• หายใจเข้าและแกว่งขาขึ้นไปเหนือศีรษะ รักษาสมดุลของร่างกายไว้ ยกขาตรงขึ้นเหนือศีรษะ

• ค่อยๆ งอเข่าและปล่อยขาลงมาทางด้านศีรษะ ระวังอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และอย่าทิ้งขาลงไปไกลเกินไปขณะรักษาสมดุลของร่างกายไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 5 จนกลับไปสู่ท่าคุกเข่า

* ข้อควรระวัง ไม่ควรลองท่าแมงป่อง จนกว่าคุณจะสามารถทำท่าที่ต้องใช้สมดุลของร่างกายอื่นๆ และไม่เหมาะกับสตรีมีรอบเดือน



ท่าพฤกษอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต พฤกษะหมายถึง ต้นไม้ ท่านี้จึงเรียกว่าท่าต้นไม้

"ยืนตรงบนขาซ้าย งอขาขวาและวางขาขวาไว้บนโคนขาซ้าย ยืนเหมือนต้นไม้ ยืนอยู่บนพื้นดิน นี่คือท่าพฤกษอาสนะ"

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิด แขนแนบลำตัว

• งอเข่าขวา ยกต้นขาขวา และยก ส้นเท้าขวาไปบนต้นขาซ้ายด้าน ในให้โกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้

• ทรงตัว บนเท้าซ้าย ยกแขนทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ และให้ฝ่ามือประชิดกัน

คงท่านี้ไว้ขณะค่อยๆ หายใจ ประมาณ 10 ช่วงหายใจเข้าออก


• ลดแขนและขาขวาลง และกลับไปสู่ตำแหน่งในข้อ 1 คือการยืนหน้าชิด แขนแนบลำตัว หยุดพักสักครู่ และทำซ้ำด้วยขาข้างหนึ่ง



ศพอาสนะ



ความหมาย

• ความหมาย คำว่า ศพ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ร่างที่ตายไปแล้ว

"การนอนลงที่พื้นเหมือนศพ เรียกว่า ศพอาสนะ ช่วยกำจัดความเหนื่อยล้าและให้จิตใจได้พักผ่อน" จากหัตถโยคะปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย อย่าให้ขาแตะกัน แขนราบไปกับลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น

• หลับตาลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

• งอข้อศอก วางฝ่ามือบนพื้นใต้ไหล่ ให้นิ้วชี้ไปด้านหลัง

• มุ่งความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย จากหัวถึงเท้า แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน

• คงท่านี้ไว้ 10-15 นาที หากรู้สึกง่วงนอนขณะทำท่านี้ ให้หายใจเร็วและลึกขึ้น

• ครั้งแรกที่ฝึก ให้คงท่าศพอาสนะไว้ 10 หรือ 15 นาที กลับมาทำซ้ำเป็นระยะๆ ในช่วงฝึกท่าต่างๆ เพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นร่างกาย / จิตใจ

คำแนะนำ

บางคนคิดว่าท่านี้ง่ายมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จุดประสงค์ของศพอาสนะ คือ ให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นอกจากร่างกายจะต้องนิ่งและผ่อนคลายแล้ว จิตใจยังต้องนิ่งราวกับผิวน้ำที่ปราศจากการรบกวนอีกด้วย

ผลที่ได้คือการผ่อนคลายอย่างล้ำลึกและนิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิต่อไป

การฝึกศพอาสนะนั้นต้องใช้เวลา การกำหนดความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนและ กำหนดลมหายใจล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการฝึกท่านี้อย่างยิ่ง

อุปสรรค 2 อย่างที่อาจลดคุณค่าการฝึกศพอาสนะ ก็คือ ความง่วงและจิตใจที่ฟุ้งซ่าน หากรู้สึกง่วงขณะฝึก ให้กำหนดลมหายใจให้ลึกขึ้น

หากจิตใจไม่นิ่ง ให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กำหนดจิตไปที่พื้นหรือที่จังหวะลมหายใจของคุณเอง

การฝึกศพอาสนะควรทำก่อนและหลังการฝึกอาสนะเป็นประจำ


ข้อมูลจาก
Practice 01





------------------------------------------------------------------------------

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons