วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ตื่นตะลึงถ้ำพญานาค..เมืองหนองคาย - PaLungJit.com


โดย : ปิ่น บุตรี

หนองคายเมืองพญานาค

จังหวัดหนองคายได้ชื่อว่าเป็น“เมืองพญานาค” เพราะ มีความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่าขาน และเหตุการณ์ประหลาดเกี่ยวกับพญานาค(ตามความเชื่อของชาวบ้าน) เกิดขึ้นในเมืองนี้มากมาย ที่โด่งดังที่สุดคงจะหนีไม่พ้น ปรากฏการณ์“บั้งไฟพญานาค” อันลือลั่น
บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์สุดพิศวงที่ในทุกๆค่ำคืนวันออกพรรษากลางลำน้ำโขงในจังหวัด หนองคาย โดยเฉพาะที่ อ.โพนพิสัย จะเกิดลูกไฟประหลาดลักษณะกลมๆ สีแดงอมชมพู ไม่มีควัน ไม่มีกลิ่น พวยพุ่งขึ้นมาจากใต้น้ำ สร้างความฮือฮาให้กับผู้พบเห็น
ณ วันนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นจากอะไร ธรรมชาติ(ความเชื่อนี้ปัจจุบันได้รับการยอมรับในวงกว้าง) มนุษย์ทำ หรือ พญานาคทำ!?! แต่ในปัจจุบันปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคได้พ่นเม็ดเงินมหาศาลสู่จังหวัดหนองคาย ในช่วงเทศกาลวันออกพรรษา ที่นับได้ว่าพญานาคได้ให้คุณในงานบุญออกพรรษาอย่างแท้จริง

ปากทางเข้า(ลง)ถ้ำดินเพียง

นอกจากเรื่องบั้งไฟพญานาคแล้ว หนองคายยังมีความเชื่ออื่นๆออกมาตอกย้ำความเป็นเมืองพญานาคอีก ที่เด่นก็มี
-ความเชื่อว่า ใต้ลำน้ำโขงช่วงเขต จ.หนองคายและเมืองเวียงจันทน์ในสปป.ลาวลาวนั้น ในอดีตเป็นเมืองบาดาล สร้างและปกครองเมืองโดยพญานาค สามารถไปมาหาสู่กันได้
-ความเชื่อว่า ในเขต อ.โพนพิสัย จุดที่พบบั้งไฟมากที่สุด มีเมืองบาดาลอยู่และเป็นทางออกสู่เมืองมนุษย์ของพญานาค
-ความเชื่อว่า ที่แก่งอาฮง จ.บึงกาฬ(อ.บึงกาฬเดิม) เป็นเมืองหลวงของพญานาค เนื่องจากเป็น “สะดือแม่น้ำโขง”หรือส่วนที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง ที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกับ“วังนาคินทร์”เมืองพญานาคที่คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ได้
สำหรับเรื่องราวเหล่านี้ แม้จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่พิสูจน์ไม่ได้(ใครไม่เชื่อก็ไม่ควรหลบลู่) แต่ก็สามารถสร้างจุดขายทางการท่องเที่ยวให้กับหนองคายได้ดีพอสมควร ซึ่งในจังหวัดหนองคายมีวัดและธรรมชาติที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องผูกโยงกับพญา นาคอยู่หลายแห่งด้วยกัน

ลุงคำสิงห์ชี้ให้ชมหินในถ้ำ

นั่นรวมไปถึง “ถ้ำดินเพียง”หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “ถ้ำพญานาค” แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานในอำเภอสังคมด้วย
ถ้ำดินเพียง ตั้งอยู่ที่ วัดถ้ำศรีมงคล บ้านดงต้อง ต.ผาตั้ง อ.สังคม เหตุที่ถ้ำนี้มีชื่อว่าถ้ำดินเพียง ก็เพราะเป็นถ้ำใต้ดิน ปากทางเข้าอยู่เสมอดินในระดับปกติ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า“ถ้ำดินเพียง”
ส่วนเพตุที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า”ถ้ำพญานาค”นั้น ต้องไปฟังจากคำบอกเล่าของ ลุงคำสิงห์ เกศศิริ ผู้ที่นอกจากจะมาเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวชมภายในถ้ำแล้ว ยังเป็นผู้ค้นพบถ้ำแห่งนี้อย่างเป็นทางการอีกด้วย
“สมัยก่อนพวกล่าสัตว์เล่ากันว่า เวลาไล่ตามเก้งกวางมาถึงแถวนี้ จู่ๆพวกมันก็หายไป ตอนนั้นไม่มีใครกล้าตามต่อ เพราะกลัวสิ่งลี้ลับ เนื่องจากสมัยก่อนที่นี่เป็นป่ารก”
ลุงคำสิงห์ ก่อนรำลึกความหลังถึงประสบการณ์ตรงของแกว่า หลังจากแกเข้ามาถากถางทำไร่ในที่แห่งนี้ ในปี 2530 วันหนึ่งลุงเห็นสัตว์ออกมาหากิน พอเข้าไปใกล้ มันก็หายลงหลุมไป พร้อมๆกับที่มีค้างคาวบินออกมาจากหลุม ลุงคำสิงห์เอะใจว่า มันน่าจะมีถ้ำอยู่ข้างใน จึงชวนพรรคพวกลงไปสำรวจ เจอโพรงถ้ำเป็นห้องและคูหามากมาย
“ในถ้ำมีห้อง มีช่องทางเยอะมาก ซับซ้อนเหมือนเขาวงกต ทำให้หลงได้ง่ายๆ พวกจึงเราต้องขึ้นมาเตรียมตัว แล้วลงไปสำรวจใหม่ นำเชือกผูกโยงกันไป มีคนนึงคอยเฝ้าปากถ้ำ เพื่อกันหลง เพราะถ้าหลงก็ให้กลับมาตามเส้นเชือก”

มีคนนำรูปเคารพพญานาคมาไว้ตั้งให้บูชา

ลุงคำสิงห์เล่าให้ฟัง พร้อมกับบอกว่า หลังจากนั้นก็มีทีมพากันลงไปสำรวจ ลงไปติดไฟ เพื่อปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว และก็มีคนทยอยมาเที่ยวกันอยู่เรื่อยๆ
สำหรับสาเหตุที่มีคนเรียกถ้ำดินเพียงว่า“ถ้ำพญานาค”นั้น มาจากตำนานความเชื่อว่า ที่นี่เป็นทางเข้า-ออกของธิดาพญานาค ซึ่งมาหลงรักเจ้าชายของเมืองนี้บนโลกมนุษย์ แต่ครั้นพอถึงวันออกพรรษา ธิดาพญานาคต้องกลับสู่เมืองบาดาลเพื่อไปเล่นน้ำกับพญานาคด้วยกัน จนสุดท้าย
เจ้าชายตามมาพบ รู้ว่าคนรักของตนเป็นพญานาคจึงขอตัดขาดจากกันที่ถ้ำแห่งนี้
จากเรื่องเล่าโบราณมาถึงเรื่องเล่าปัจจุบันบ้าง
ลุงคำสิงห์บอกว่า หลังจากพบถ้ำแล้วลุงแกก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ วันหนึ่งมาทำไร่ งีบหลับแถวนี้ ก็ฝันว่ามีพญานาคตัวสีเหลืองใหญ่ ยาว ขึ้นมาจากแม่น้ำโขง บอกให้ลุงช่วยเฝ้าดูแลรักษาถ้ำ เพราะเคยเป็นคนเฝ้าถ้ำแห่งนี้มาก่อนเมื่อชาติที่แล้ว
“ตอนแรกลุงแกไม่เชื่อ ไม่กี่วันก็เป็นไข้ป่า รักษาหมอปัจจุบันไม่หาย ลุงเลยไปหาหมอนั่งทางใน เขาบอกให้ขอขมา พอลุงทำตามก็หาย เลยมาช่วยดูแลถ้ำ คอยพาคนลงไปเที่ยวชมถ้ำ” ลุงคำสิงห์เล่าให้ฟัง

เส้นทางลุยน้ำ มุด คลาน ภายในถ้ำ

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าถ้ำแห่งนี้เป็นเส้นทางสู่เมืองพญานาค ที่สามารถเดินทางไปใต้ลำโขง ไปๆมาๆระหว่างหนองคายกับเวียงจันทน์ได้ โดยมีเรื่องเล่าว่า ในถ้ำแห่งนี้เป็นเส้นทางที่พระธุดงด์จากลาวใช้ข้ามฝั่งลอดใต้แม่น้ำโขงเข้า มายังเมืองไทย เป็นถ้ำที่ต้องเป็นพระผู้ทรงศีลอันแก่กล้าเท่านั้นจึงจะเห็นเส้นทางสัญจรดัง กล่าว
อนึ่งในเรื่องเล่าเหล่านี้ใครจะเชื่อหรือไม่ก็สุดแท้แต่ แต่ว่าในสภาพธรรมชาตินั้น ถ้ำดินเพียงมีความประหลาดน่าสนใจอยู่มากโข โดยหลังจากที่ผมตามลุงคำสิงห์เข้าปากถ้ำแคบๆเสมอลงไปสู่ภายในถ้ำก็ตื่นตะลึง ในสิ่งที่เจอ

เดินลุยน้ำครึ่งแข้ง

ภายในถ้ำแห่งนี้ไม่ได้มีหินงอกหินย้อยหรือโถงกว้างใหญ่มากมาย แต่กลับมีห้อง โพรง ช่อง ซอก ซอย รู อันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดินที่เต็มด้วยส่วนโค้ง ส่วนเว้า จำนวนมากนับเป็นพันๆ ในหลายช่องทางให้เราสามารถใช้สัญจรทะลุเชื่อมถึงกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แต่ประทานโทษ!!! ช่องทางอันซอกซอนเหล่านี้มันมีขนาดแค่ใหญ่กว่าตัวคนเล็กน้อย ซึ่งดูๆไป มันช่างคล้ายเส้นทางการเลื้อยของพญานาคยิ่งนัก(ถ้าโลกนี้มีพญานาคจริง)

กองดินที่นักท่องเที่ยวทำขึ้นมา

เท่านั้นยังไม่พอ ส่วนใหญ่ของช่องทาง ห้อง คูหา มากมายเหล่านี้ ยังมีสายน้ำตื้นๆไหลเอื่อยๆหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด เหมือนให้สัตว์ประเภทงูใหญ่เลื้อยไปมาได้สะดวกและเย็นสบาย
และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมชาวบ้านถึงเรียกถ้ำดินเพียงว่า “ถ้ำพญานาค”

โพรง ห้อง ซอก ซอย มากมายคล้ายเส้นทางเลื้อยของพญานาคในถ้ำดินเพียง

สำหรับการเที่ยวถ้ำพญานาคไม่เหมาะต่อผู้เป็นโรคไขข้อ ข้อเสื่อม หัวใจ ความดัน แต่เหมาะสำหรับผู้มีสภาพร่างกายปกติ ไม่ถึงกับต้องแข็งแรงหรือฟิตมากมาย ที่ชื่นชอบความตื่นเต้น ท้าทาย เนื่องจากการเข้าถ้ำต้องย่อ หมอบ ลอด มุด คลานสูง คลานต่ำ และแถเถือกไถเลื้อยไปดังพญานาคกันในหลายๆช่วง

เจดีย์หินก่อนถึงทางออก

อย่างไรก็ดีในถ้ำพญานาคใช่ว่าจะมีเฉพาะเส้นทางให้แถกแถมุดคลานอย่าง เดียว แต่ในถ้ำแห่งนี้ยังมี จุดเด่นๆให้ชื่นชม สัมผัสกัน ไม่ว่าจะเป็น ห้องโถง ห้องหีบศพปู่อินทร์นาคราช ช้างสามเศียร บรรลังก์พญานาค ธิดาพญานาค 3 องค์ ฯลฯ รวมถึงเจดีย์หินในบริเวณใกล้ๆทางออก ที่นอกจากจะเชื่อกันได้สร้างไว้ถวายแก่พญานาคแล้ว ยังเป็นจุดสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนจะล่ำลาจากถ้ำพญานาคแห่งนี้ขึ้นมาสู่พื้นดินปกติในสภาพที่ทุกลักทุเลเอา เรื่อง

บันไดทางขึ้นสู่พื้น(บน)ดินปกติ

และด้วยความที่ถ้ำพญานาคแห่งนี้เพิ่งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ไม่ นาน ทำให้ระบบการจัดการยังไม่พร้อม ไม่ลงตัว แต่ก็มีความดิบของธรรมชาติรอไว้สำหรับผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบลุยนิดๆ ซึ่งแม้ว่าโลกนี้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าพญานาคมีอยู่จริง แต่การได้เลื้อย แถกไถ ไปในช่องแคบๆที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลาแบบพญานาคนั้น มันถือเป็นการพิสูจน์ความอดทนและจิตใจในการต่อสู้เอาชนะกับอุปสรรคและความ ยากลำบากของตัวเราได้เป็นอย่างดี
ตื่นตะลึงถ้ำพญานาค..เมืองหนองคาย - PaLungJit.com




กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]


โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคีและชนชั้นวรรณะพราหมณ์
เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน
โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ( Hatha Yoga )
ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา



ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหารร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ
เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้
หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี



โยคะท่าพื้นฐาน

ท่านมัสการ




ความหมาย


• นมัสการ หมายถึง ทำความเคารพ



วิธีปฏิบัติ


• ยืนหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เท้าชิด พนมมือ

• หายใจเช้าและยกแขนขึ้น ค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง ยื่นแขนเหนือศีรษะ

• หายใจออกช้าๆ เอนตัวไปข้างหน้า ให้มือที่พนมอยู่สัมผัสพื้นจนกระ ทั่งมืออยู่ในแนวเดียวกับเท้าศีรษะสัมผัสหัวเข่า

• หายใจเข้า ก้าวเท้าขวาถอยหลังมา 1 ก้าว ให้มือและเท้า ยังคงอยู่กับพื้น เท้าซ้ายอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• ขณะหายใจออก ยกเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา แขนตรงยกสะโพกขึ้นให้ศีรษะ และแขนอยู่ในแนวเดียวกัน ทำท่าเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าและค่อยๆ ลดสะโพกลงมาที่พื้น (ให้สะโพกอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย) ก้มตัวลงไปข้างหลังให้มากที่สุด

• หายใจออก และลดตัวลงมาที่เท้า เข่า มือ และอก สัมผัสพื้น

• หายใจเข้า และค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยศีรษะไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด และโค้งกระดูกสันหลังไปให้ได้มากที่สุด เหมือนท่านาคอาสนะ

• ขณะหายใจออกช้าๆ และให้แขนอาสนะ ยกสะโพกขึ้น และให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกับแขน ทำเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าช้าๆ และงอเข่าซ้าย ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือยังคงอยู่ที่พื้น วางเท้าซ้ายลงบนพื้นระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• หายใจออกช้าๆ ให้มืออยู่ที่เดิม ดึงเท้าทั้งสองเข้ามาชิดกัน ให้อยู่แนวเดียวกับมือถ้าเป็นไปได้ ให้ศีรษะสัมพันธ์กับหัวเข่า

• หายใจเข้าช้าๆ และยกแขนขึ้น ค่อยๆเอนตัวไปข้างหลัง โดยยื่นแขนขึ้นเหนือศีรษะ ย้อนกลับไปตำแหน่งยังข้อ 1



ท่าชวังคอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต ชว หมายถึง ทั้งหมด หรือ ทุกๆ อังคะ หมายถึง ร่างกาย ชวังคะ จึงหมายถึง ทำทั้งร่างกาย

ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นท่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน ท่านี้มักเรียกกันว่า ท่ายืนบนไหล่

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงายในท่า ศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้นขณะงอเข่าและดึงเข่าเข้ามาที่ท้อง หายใจออก

• หายใจเข้าช้าๆ กดฝ่ามือลง ยกลำตัวตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นจากพื้น งอกระดูกสันหลังไปข้างหลัง และทำท่อนแขนให้ตรง ให้สะโพกอยู่บนพื้น

• หายใจเข้าแล้วในขณะหายใจออก ให้ยกขาตั้งฉากกับพื้น อาจใช้มือพยุงสะโพกไว้ หรือวางแขนไว้ลงกับพื้นตามถนัด

• ขาดชิด เข่าตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น ศีรษะตรงไม่หันไปด้านใดด้านหนึ่ง เก็บคางให้ชนหน้าอก

• หายใจเข้า ออก ช้าๆ ขณะคงท่านี้ไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 6 จนกลับสู่ท่าศพอาสนะ



ท่าตรีโกณอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ตรี ในภาษาสันสกฤตหมายถึง สาม โกณ หมายถึง เหลี่ยมหรือมุม

ดังนั้น ท่านี้จึงเรียกว่า ท่าสามมุม หรือท่าสามเหลี่ยม

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิดแขนแนบลำตัว

• แยกเท้าออกจากกัน ให้ระยะห่างมากกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย

• หายใจเข้าและยื่นแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้น ฝ่ามือคว่ำลง

• หายใจออกช้าๆ หันลำตัวไปทางซ้าย งอตัวที่ช่วงเอว ให้มือขวาลงไปที่แข้งซ้าย ฝ่ามือขวา วางไว้ข้างนอกของหน้าแข้งซ้าย

แขนซ้ายควรยื่นออกไปด้านบนขาและแขนทั้งสองข้างตรง โดยไม่ต้องงอเข่าและข้อศอก


• หันศีรษะขึ้นไปทางซ้าย มองไปที่ปลายนิ้วมือซ้าย หายใจเข้า และกลับไปสู่ท่าเดิม คือท่ายืน ให้แขนกางออก

• คงท่านี้ไว้ เท่ากับช่วงหายใจออก หายใจออกและทำซ้ำ ขั้นตอนที่ 4-7 สลับซ้าย



ศีรษะอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ศีรษะ หมายถึง หัว ในภาษาสันสกฤต ท่านี้คือ ท่ายืนด้วยศีรษะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการฝึกอาสนะ ไม่แพ้ท่าปทมอาสนะ

ด้านบนคือภาพโมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพโยคีขณะทำท่าศีรษะอาสนะ

วิธีปฏิบัติ


• นั่งคุกเข่า ให้สะโพกอยู่บนส้นเท้า

• เอนตัวไปข้างหน้า วางแขนลงบนพื้น ให้ศอกห่างกัน 1 ช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน

• วางศีรษะลงบนพื้น ให้ท้ายทอยสัมผัสมือที่ประสานไว้

• ให้ปลายเท้าจิกพื้น ขณะยกส้นเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น

• คงท่านี้ไว้เป็นระยะเท่ากับการหายใจเข้า ถ้าไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ให้ค่อยๆ หายใจออก และนอนราบกับพื้น กางขาออก กลับไปสู่ท่าศพอาสนะ



หลอาสนะ



ความหมาย

• หล แปลว่า คันไถ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย แบบท่าศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำที่พื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้น งอเข่าเข้ามาจรดท้องขณะหายใจออก

• หายใจเข้า ขณะหายใจออกให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับพื้น คุณอาจใช้มือพยุงสะโพก หรือวางแขนราบไปกับพื้นแล้วแต่ถนัด

• หายใจออก แล้วยกขาขึ้นเหนือศีรษะ งอขาตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ยกหลังและสะโพก จนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นด้านหลังของศีรษะ รักษาเท้าให้ชิดกัน

หากใช้มือพยุงหลังให้ลองวางแขนราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง ถ้าไม่สามารถวางแขนลงที่พื้นได้ให้ใช้มือพยุงหลังส่วนล่างไว้


• เข่าตรง หายใจช้าๆ และคงท่านี้ไว้สักครู่ ถ้านิ้วเท้าสัมผัสพื้นไม่ได้ ก็พยายามให้นิ้วเท้าอยู่ต่ำที่สุด

• ทำท่าย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 5 ถึง 1 จนกลับไปสู่ท่าศพอาสนะเหมือนเดิม




ธนูอาสนะ




ความหมาย

• คำว่าธนู ในภาษสันสกฤต หมายถึง มีรูปร่างเหมือนคันศร โค้ง หรือ งอ คันศร

ในที่นี้หมายถึง คันศรที่ใช้กับลูกธนู ท่าอาสนะนี้ มีชื่อแบบนี้เนื่องจาก ร่างกายมีท่าทางคล้ายคันศรที่โก่งพร้อมยิงธนู

วิธีปฏิบัติ


• นอนคว่ำหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนราบไปกับลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น

• หันหน้ามาเพื่อวางคางไว้บนพื้น หายใจออก งอเข่า เอื้อมแขนไปข้างหลัง จับข้อเท้าขวาไว้ด้วยมือขวา จับข้อเท้าซ้ายด้วยมือซ้าย

• ขณะหายใจเข้า ค่อยๆ ยกขาขึ้นโดยดึงข้อเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น และยกอกขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน

กลั้นลมหายใจเข้าเอาไว้ ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนหน้าท้อง


• ยื่นศีรษะให้ไกลที่สุด คงท่านี้ไว้ขณะกลั้นหายใจ

• หายใจออกช้าๆ วางเข่าลงบนพื้น ปล่อยข้อเท้า ค่อยๆ วางขาและแขนลงบนพื้น หันหน้าไปข้างหนึ่ง ทำเหมือนท่าเริ่มต้น



ท่าพิจิกอาสนะ



ความหมาย

• ท่าพิจิกหรือท่าแมงป่อง ในท่านี้ ร่างกายจะดูเหมือนแมลงป่อง ที่ยกหางโค้งขึ้นเหนือหัว พร้อมจะต่อยคู่ต่อสู้

แม้ท่านี้จะดูยากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

วิธีปฏิบัติ


• คุกเข่าลงที่พื้น โน้มตัวไปข้างหน้า วางศอกและแขนด้านในราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง แขนควรห่างกันประมาณ 1ช่วงไหล่

• ยื่นศีรษะไปข้างหน้าและยกให้สูงที่สุด

• ยกสะโพกขึ้น วางเท้าให้มั่นคง

• หายใจเข้าและแกว่งขาขึ้นไปเหนือศีรษะ รักษาสมดุลของร่างกายไว้ ยกขาตรงขึ้นเหนือศีรษะ

• ค่อยๆ งอเข่าและปล่อยขาลงมาทางด้านศีรษะ ระวังอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และอย่าทิ้งขาลงไปไกลเกินไปขณะรักษาสมดุลของร่างกายไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 5 จนกลับไปสู่ท่าคุกเข่า

* ข้อควรระวัง ไม่ควรลองท่าแมงป่อง จนกว่าคุณจะสามารถทำท่าที่ต้องใช้สมดุลของร่างกายอื่นๆ และไม่เหมาะกับสตรีมีรอบเดือน



ท่าพฤกษอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต พฤกษะหมายถึง ต้นไม้ ท่านี้จึงเรียกว่าท่าต้นไม้

"ยืนตรงบนขาซ้าย งอขาขวาและวางขาขวาไว้บนโคนขาซ้าย ยืนเหมือนต้นไม้ ยืนอยู่บนพื้นดิน นี่คือท่าพฤกษอาสนะ"

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิด แขนแนบลำตัว

• งอเข่าขวา ยกต้นขาขวา และยก ส้นเท้าขวาไปบนต้นขาซ้ายด้าน ในให้โกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้

• ทรงตัว บนเท้าซ้าย ยกแขนทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ และให้ฝ่ามือประชิดกัน

คงท่านี้ไว้ขณะค่อยๆ หายใจ ประมาณ 10 ช่วงหายใจเข้าออก


• ลดแขนและขาขวาลง และกลับไปสู่ตำแหน่งในข้อ 1 คือการยืนหน้าชิด แขนแนบลำตัว หยุดพักสักครู่ และทำซ้ำด้วยขาข้างหนึ่ง



ศพอาสนะ



ความหมาย

• ความหมาย คำว่า ศพ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ร่างที่ตายไปแล้ว

"การนอนลงที่พื้นเหมือนศพ เรียกว่า ศพอาสนะ ช่วยกำจัดความเหนื่อยล้าและให้จิตใจได้พักผ่อน" จากหัตถโยคะปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย อย่าให้ขาแตะกัน แขนราบไปกับลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น

• หลับตาลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

• งอข้อศอก วางฝ่ามือบนพื้นใต้ไหล่ ให้นิ้วชี้ไปด้านหลัง

• มุ่งความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย จากหัวถึงเท้า แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน

• คงท่านี้ไว้ 10-15 นาที หากรู้สึกง่วงนอนขณะทำท่านี้ ให้หายใจเร็วและลึกขึ้น

• ครั้งแรกที่ฝึก ให้คงท่าศพอาสนะไว้ 10 หรือ 15 นาที กลับมาทำซ้ำเป็นระยะๆ ในช่วงฝึกท่าต่างๆ เพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นร่างกาย / จิตใจ

คำแนะนำ

บางคนคิดว่าท่านี้ง่ายมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จุดประสงค์ของศพอาสนะ คือ ให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นอกจากร่างกายจะต้องนิ่งและผ่อนคลายแล้ว จิตใจยังต้องนิ่งราวกับผิวน้ำที่ปราศจากการรบกวนอีกด้วย

ผลที่ได้คือการผ่อนคลายอย่างล้ำลึกและนิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิต่อไป

การฝึกศพอาสนะนั้นต้องใช้เวลา การกำหนดความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนและ กำหนดลมหายใจล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการฝึกท่านี้อย่างยิ่ง

อุปสรรค 2 อย่างที่อาจลดคุณค่าการฝึกศพอาสนะ ก็คือ ความง่วงและจิตใจที่ฟุ้งซ่าน หากรู้สึกง่วงขณะฝึก ให้กำหนดลมหายใจให้ลึกขึ้น

หากจิตใจไม่นิ่ง ให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กำหนดจิตไปที่พื้นหรือที่จังหวะลมหายใจของคุณเอง

การฝึกศพอาสนะควรทำก่อนและหลังการฝึกอาสนะเป็นประจำ


ข้อมูลจาก
Practice 01





------------------------------------------------------------------------------

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons