วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

::วรรณกรรมประเภทพุทธศาสนา:bandonradio

วรรณกรรมประเภทพุทธศาสนา
       เป็นวรรณกรรมที่มาจากหลายแหล่งคือจากพระไตรปิฏกก็มี  และจากปัญญาชาดกก็มี  ส่วนวรรณกรรมในด้านพุทธศาสนาของภาคอีสานนั้นได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรล้านช้าง  เพราะเหตุว่าชาวอีสานนั้นส่วนใหญ่รับวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขงมาโดยตลอด  ดังนั้นวรรณกรรมที่เป็นของพุทธศาสนาโดยตรงก็คือ  วรรณกรรมเรื่องพระเวสสันดร  หรือ  “เวสฺสนฺตรชาดก”  อันเป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยพระบุพจริยาของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ  เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์  พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีเป็นชาติสุดท้าย  ชาดกนั้นเดิมเป็นภาษามคธหรือภาษาบาลี  เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธพจน์นับเนื่องอยู่ในขุททกนิกายฝ่ายพระสุตตันปิฏก  พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นพระคาถา  คือคำประพันธ์ประเภทฉันท์ตลอดเรื่อง  มีความยาวกำหนดเป็นคาถาได้ถึง  ๑๐๐๐  คาถา  เหตุผลที่ทำให้การฟังเทศน์มหาชาติได้รับความศรัทธาเชื่อถือมีอยู่ด้วยกัน  ๓  ประการใหญ่ๆคือ
    ๑)  เชื่อกันว่า  เป็นพระพุทธวจนะซึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสประทานเทศนาแด่พระภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัทฝ่ายพระญาติ  ณ  นิโครธาราม  ในกรุงกบิลพัสดุ์  เมื่อพุทธบริษัทได้ฟังแล้วเกิดความเป็นสิริมงคล  เป็นกุศลบุญราศี  ผู้ที่ยินดีแสวงบุญก็ย่อมมุ่งหมายที่จะได้บำเพ็ญบุญยิ่งๆขึ้นไป
    ๒)  เชื่อกันว่า  พระศรีอาริยเมตไตรยเทพบุตรซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล  ต่อจากพระพุทธศาสนาของพระศรีศากยะมุนีสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ไป  อันอุบัติอยู่ในเทวโลกสวรรค์นั้นได้มีเทวโองการสั่งพระมาลัยมหาเถรว่า  ถ้ามนุษย์ต้องการพบและร่วมเกิดกับท่านจงอย่าฆ่าตีพ่อแม่สมณพราหมณาจารย์  อย่าทำร้ายพระพุทธเจ้าและยุยงสงฆ์ให้แตกกัน  ให้ตั้งใจฟังมหาเวสให้จบในมื้อหนึ่งวันเดียวจะได้เกิดร่วมและได้พบกับศาสนาของพระองค์  ซึ่งเชื่อกันว่ามนุษย์จะมีแต่ความเจริญ  เป็นที่เกษมสุขอย่างยิ่งยวด  เป็นต้นว่า  รูปก็งามจนลงจากบันไดเรือนแล้วจำหน้ากันไม่ได้  และปรารถนาสิ่งใดก็ได้สมปรารถนา  ด้วยมีต้นกัลปพฤษ์สำหรับจะให้ผู้ที่นึกอยากได้สิ่งนั้น  ส่วนแผ่นดินก็ราบเป็นหน้ากลอง  อาศัยเหตุนี้ประชาชนจึงพากันเอาบุญมหาชาติเป็นประจำทุกปี
    ๓)  มหาชาตินี้  ท่านผู้เทศนาก็ทำสำแดงกระแสเสียงเป็นทำนองอันไพเราะต่างๆตามท้องถิ่นของตนที่คนนิยมทำนองเทศน์เสียงแบบไหน  ทางภาคอีสานเรียกว่า  ทำนองเทศน์แหล่มหาชาติ  สามารถจะให้เกิดความปิติโสมนัสรื่นเริงบันเทิงใจแก่ผู้ฟังเพราะสำเนียงการเทศน์นั้นสร้างบรรยากาศไม่ให้เกิดความง่วงแม้ว่าจะฟังกันทั้งวันก็ตาม  ซึ่งผิดกับการฟังเทศน์อย่างอื่นเพียงไม่นานคนก็เริ่มง่วงแล้ว  จะด้วยเหตุผลนี้เองจึงเป็นที่นิยมทุกท้องถิ่น
       โครงเรื่องของมหาชาติฉบับอีสานนี้  มีเนื้อเรื่องเหมือนกันกับฉบับภาคกลาง  จะแตกต่างก็เฉพาะสำนวนโวหารเท่านั้นที่เป็นภาษาถิ่น  และสำนวนเทศน์เสียงของท้องถิ่นอีสาน  จะมีการเริ่มเทศน์จากกัณฑ์มาลัยหมื่นมาลัยแสนก่อนคือ
    ๑)  มาลัยหมื่น  จะกล่าวถึงพระมาลัยเถระเจ้าได้เสด็จไปสวรรค์ชั้นดาวดีงส์  เพื่อนมัสการพระธาตุจุฬามณีและได้พบกับพระอินทร์  และได้สนทนากับพระศรีอาริยเมตไตรยเทพบุตรได้สนทนาเรื่องบาปบุญกับพระศรีอารย์ 
    ๒)  มาลัยแสน  ใจความสำคัญก็ต่อมาจากมาลัยหมื่น  คือพระมาลัยเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์และได้นำความมาเล่าแก่มวลมนุษย์ให้เร่งกระทำบุญและได้เล่าว่าถ้าใครได้ฟังมหาชาติจบภายใน  ๑  วันจะได้เกิดทันศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย  มหาเวสสันดรมีทั้งหมด  ๑๓  กัณฑ์  ๑๐๐๐ คาถาพอดีดังนี้คือ
    ๑)  ทศพรมี   (ทสวรคาถา)  ๑๙  คาถา
    ๒)  หิมพานต์   (หิมวนฺต)  ๑๓๔  คาถา
    ๓)  ทานกัณฑ์   (ทานกณฺฑ)  ๒๐๙  คาถา
    ๔)  วนประเวศน์   (วนปเวสน)  ๕๗  คาถา
    ๕)  ชูกชก   (ชูชกปพฺพ)  ๗๙  คาถา
    ๖)  จุลพน  (จูฬวนวณฺณนา)  ๓๕  คาถา
    ๗)  มหาพน   (มหาวนวณฺณนา)  ๘๐  คาถา
    ๘)  กุมาร   (ทารกปพฺพ)  ๑๐๑  คาถา
    ๙)  มัทรี   (มทฺทีปพฺพ)  ๙๐  คาถา
    ๑๐)  สักกบรรพ  (สกฺกปพฺพ)  ๔๓  คาถา
    ๑๑)  มหาราช   (หาราชปพฺพ)  ๖๙  คาถา
    ๑๒)  ฉกษัตริย์  (ฉกฺขตฺติยปพฺพ)  ๓๖  คาถา
    ๑๓)  นครกัณฑ์ (นครกณฺฑ)  ๔๘  คาถา
       มูลเหตุที่เรียก  “มหาชาติ”128
๑)  เป็นชาติสำคัญเพราะเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิ์สัตว์  ก่อนที่จะจุติมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ
    ๒)  พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญบารมีมาครบถ้วน  ๑๐  ประการ  คือ
        ๑)  เนกขัมบารมี        คือการบำเพ็ญทางการออกบวช
        ๒)  วิริยบารมี        คือการบำเพ็ญทางความเพียร
        ๓)  เมตตาบารมี        คือการบำเพ็ญทงแผ่เมตตา
        ๔)  อธิษฐานบารมี    คือการบำเพ็ญทางใจมั่นคง
        ๕)  ปัญญาบารมี        คือการบำเพ็ญปัญญาความรอบรู้
        ๖)  ศีลบารมี        คือการบำเพ็ญทางรักษาศีล
        ๗)  ขันติบารมี        คือการบำเพ็ญทางความอดทน
        ๘)  อุเบกขาบารมี    คือการบำเพ็ญทางการวางเฉย
        ๙)  สัจบารมี        คือการบำเพ็ญทางความเชื่อสัตย์
        ๑๐ ทานบารมี        คือการบำเพ็ญทางการให้ทาน
สัตตมหาทาน  คือการบำเพ็ญทานครั้งยิ่งใหญ่  มีสิ่งของ  ๗  สิ่ง  สิ่งละ  ๗๐๐  ได้แก่  ช้าง  ม้า  รถ  นางสนม  โคนม  ทาสหญิงและทาสชาย
ปัญจมหาทาน  คือการบริจาคทานอันยิ่งใหญ่  ๕  ประการได้แก่  ทรัพย์  อวัยวะ  ชีวิต  บุตรและ ภรรยา 
พระราชประสงค์ของพระเวสสันดรในการบำเพ็ญบุตรทาน
๑)  เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์เพื่อให้บรรลุถึงพระโพธิญาณที่ทรงปรารถนา
๒)  เพราะพระองค์ทรงปรารถนาที่จะฝึกทดลองความเข็มแข็งของพระทัย  เพื่อเตรียมรับเหตุการณ์ในวันข้างหน้าอันเป็นแนวทางให้บรรลุถึงพระโพธิญาณ
๓)  เพราะต้องการฝึกให้พระกุมารทั้งสองเป็นคนมีความอดทน  มีความเพียรพยายามให้รู้ถึงความทุกข์สุขที่แท้และรู้จักข่มใจให้สำเร็จอริยมรรคได้รวดเร็วในอนาคต
๔) เพราะต้องการสงเคราะห์แก่สัตว์โลกที่ตกทุกข์ได้ยาก  อันเป็นผลให้พระองค์บรรลุถึงพระโพธิญาณ
    ๓)  เป็นพระชาติที่พุทธศาสนิกชน  เลื่อมใสศรัทธามากกว่าชาติอื่นๆในทศชาติ
       ในวรรณกรรมเรื่องนี้ได้พบว่าพระอินทร์ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้พระเวสสันดรและพระนางผุสดีได้บรรลุความปรารถนา  ดังนี้ คือ
    พระอินทร์ประทานพร  ๑๐  ประการแก่นางผุสดี
        ๑)  ให้ได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้าสีวีราชแห่งนครสีพี
        ๒)  ให้มีจักษุดำดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ
        ๓)  ให้มีคิ้วดำสนิท
        ๔)  ให้มีนามว่า  “ผุสดี”
        ๕)  ให้มีโอรสที่ใฝ่ในทางทานและมีเกียรติเหนือกษัตริย์ทั้งหลาย
        ๖)  เวลาทรงครรภ์มิให้มีครรภ์นูนปรากฏดังสตรีสามัญทั่วไป
        ๗)  ให้มีถันงามเวลาทรงครรภ์มิให้ดำและไม่หย่อนยาน
        ๘) ให้เกศาดำสนิท
        ๙)  ให้มีผิวงาม
        ๑๐)ให้มีอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้
    พระอินทร์ประทานพรให้แก่พระเวสสันดร  ๘  ประการ
๑)  ขอให้พระบิดามีพระเมตตาเสด็จออกมารับพระองค์กลับไปครองราชสมบัติในพระนครสีพี
        ๒)  ขอให้ปลดปล่อยนักโทษจากเรือนจำทั้งหมด
        ๓)  ขออย่าให้ได้อนุเคราะห์คนยากจนในแว่นแคว้นในบริบูรณ์ด้วยสรรพโภคสมบัติ
        ๔)  ขออย่าให้ละอำนาจสตรี  ล่วงภรรยาท่าน ให้พอใจในพระชายาของตนเอง
        ๕)  ขอให้พระโอรสทั้งสองที่พระชนมายุยืนนาน  และได้เป็นกษัตริย์ต่อไป
        ๖)  ขอให้ฝนแก้ว  ๗  ประการตกลงในเมืองสีพีขณะที่พระองค์เสด็จถึง
        ๗)  ขอให้สมบัติในท้องพระคลังอย่ารู้หมดสิ้น  ในขณะที่บริจาคแก่คนยากจน
๘)  เมื่อสิ้นพระชนย์แล้วให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตและเมื่อจุติลงมาเป็นมนุษย์ขอให้บรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
อิทธิพลต่อแนวความเชื่อของคนอีสาน
    ๑)  ความเชื่อในเรื่องบุญบาป
        เทื่อนี้เวรหลังเจ้าจอมธรรม    ทั้งสี่
        หนีบ่พ้นเวรซิให้            ห่างกันฯ
        คันว่าบุญมีได้พระราชา        ชราโผด
        โชคลาภล้นหลวงให้        ย่อมดีแท้แล้ว
        ลางเทื่อกรรมเข็ญข้องความซวย    ซ้ำตื่ม
        พระโจทก์แจ้งหาเถ้า        ว่าโจรฯ
        อันว่าสมบัติเถ้าชูชะโก        นับโกฏิ
        เลยเล่ากลับต่าวปิ้นคืนเข้า        สู่พระคลังแท้แล้ว
        อันนี้ชื่อว่าบุญบ่มีเถิงได้ความจน    ประจำอยู่ จิ่งนอ
        แม้นว่าลุโชคได้แสนช้าง        บ่ครองได้แล้ว ฯ
    ๒)ความเชื่อในเรื่องความฝันและลางสังหรณ์
    ลางสังหรณ์ของพระอินทร์
        ต่อมาเกิดเหตุฮ้อนทิพยอาสน์    บรรทม
        อันว่าบุบผาทิพย์เฮียววาย        โฮยแห้ง
        มีทั้งสีกายเศร้าเสโท        ไหลออก
        ซิบ่าเบื้องนางน้อง        บ่บานฯ
        คันว่าอินทร์ล้ำแล้วแจ้งส่อง    สรญาณ
        ฮู้ว่าเป็นลางเข็ญซิเกิดมี        เมื่อหน้า
        ผุสดีน้อยเมียแพง        เสมอเนตร
        นางสิไลแห่งห้องเมื่อฟ้า        จากอวน อยู่แล้ว
    ความฝันของนางมัทรี
        ฝันว่ามาณวะผู้ชายเซ็ง        หีนะโหด
        โตเติบดำหม้อ            หมู่คาม
        น้อยจับเกล้าชฏานาง        ดึงแก่
        น้อยนารถล้มลงพื้น        แอ่วยอม
        พระกรขวาซ้ายพันสีน        ตัดขาด
        ง้าวผ่าท้องสาวไส้        โพ่นพุง
        มันก็จกเอาได้หัวใจ        จอมนารถ
        ทั้งเล่าควักพระเนตรหน้า        สองเบื้องแบ่งหนีฯ
    ๓)  ความเชื่อในเรื่องความภักดีต่อสามีของนางมัทรีว่า
        น้องขอไปตามแก้วผัวแพง    เพียรพาก
        เดินด่นด้าวดงกว้าง        เพื่อนพลอย พี่แล้ว
        แม้นว่าแสนสิทุกข์ได้นอนดิน    ตางสาด
        หรือว่ากินหมากไม้ต่างเข้า    บ่แหน่ง พี่เอย
        คันว่าพระพี่ห้ามวอนว่า        ขวางขัด
        น้องสิเอาเครือมัดผูกคอ        พันแน่น
        หรือสิเอาสิสุมคองฮ้าไฟฟอน    เผาจูด
        ให้สว่างซ้ำไฟไหม้        มิ่งมรณ์ พี่เอย ฯ
    สำนวนพระเวสสันดรภาคกลางกล่าวถึงตอนนี้ไว้ดังนี้คือ
จะบุกป่าฝ่าดงไปแห่งใด  ข้าพระบาทก็จะตามเสด็จไปไม่ขออยู่  จะเอาชีวิตแลกายนี้ไปสู้สนองพระคุณ  กว่าจะสิ้นบุญข้ามัทรีที่จะละพระราชสามีนั้นหามิได้  แม้จะตกไร้แสนกันดารกินมูลผลาหารต่างโภชนา  ก็จะสู้ทรมานหามาปฏิบัติพระองค์ถึงแม้มาตรจะปลดปลงก็มิได้คิด  จะเอาชีวิตนี้เป็นเกือกทองรองธุลีพระบาท  แม้นมิทรงพระอนุญาตให้ตามเสด็จไป  ข้ามัทรีก็จะก่อไฟให้รุ่งโรจน์โดดเข้าตาย  เห็นจะดีกว่าอยู่ให้คนทั้งหลายเขานินทา  ว่ามีพระภัสดาแต่เมื่อยามสุข  ถึงเมื่อยามทุกข์สิไม่ทุกข์ด้วย  ดีแต่จะรื่นรวยอยู่ในพระบุรี  จะขอตามเสด็จจรลีไปสู้ยากเมื่อยามจน  ดุจนางช้างต้นอันยุรยาตรติดตามพระยาราชกุญชร  มีงาอันงามสง่าอันสัญจรท่องเที่ยวไป  ในทุ่งท่าอันลุ่มลาดก็ติดตามมิได้คลาดพระยาคชสาร  อันนี้แลมีอาการฉันใด  ข้าพระบาทก็จะพาสองดรุณราชไปมิได้ห่าง  แต่เบื้องพระปฤษฎางค์พระร่มเกล้า  มาตรว่ามีทุกข์เท่าถึงอันตราย  จะวิ่งไปก่อนให้ตายต่างพระองค์ผู้ทรงพระคุณ  ประกอบด้วยพระกรุณาแก่ข้าบริจาริกา129
    ๔)  คติธรรม
        ๑)  อันว่าโลกีย์นี้อนิจจัง        บ่อเที่ยง จิงนอ
            ไผผู้เว้นวางได้            ก็บ่มี ฯ
        ๒)  เทื้อนี้โมหังหุ้มสันดาร    ความโกรธ
              ปู่โพดแล้วลิ้น        หม่อบอน ลูกเอย
        ๓)  ตัณหาหุ้มโทสัง        สิงอยู่
              มักฮูปน้องลืมบ้าน        หย่อนตาย
        ๔)  ชื่อว่าโลกีย์กามห่อนไผ    หนีได้
               ชื่อว่าแนวนามเชื้อสกุลญิง    ยศต่ำ
               สุขอยู่ด้วยบุญสร้างพร้ำผัว
        ๕)  ยามเมื่อเจ็บป่วยไข้กลางไพร    ไผซิเบิ่งกันนอ
      มีแต่สองพี่น้องยามหยุ้ง    เบิ่งกันพระเอย

bandonradio




กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]


โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคีและชนชั้นวรรณะพราหมณ์
เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน
โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ( Hatha Yoga )
ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา



ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหารร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ
เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้
หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี



โยคะท่าพื้นฐาน

ท่านมัสการ




ความหมาย


• นมัสการ หมายถึง ทำความเคารพ



วิธีปฏิบัติ


• ยืนหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เท้าชิด พนมมือ

• หายใจเช้าและยกแขนขึ้น ค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง ยื่นแขนเหนือศีรษะ

• หายใจออกช้าๆ เอนตัวไปข้างหน้า ให้มือที่พนมอยู่สัมผัสพื้นจนกระ ทั่งมืออยู่ในแนวเดียวกับเท้าศีรษะสัมผัสหัวเข่า

• หายใจเข้า ก้าวเท้าขวาถอยหลังมา 1 ก้าว ให้มือและเท้า ยังคงอยู่กับพื้น เท้าซ้ายอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• ขณะหายใจออก ยกเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา แขนตรงยกสะโพกขึ้นให้ศีรษะ และแขนอยู่ในแนวเดียวกัน ทำท่าเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าและค่อยๆ ลดสะโพกลงมาที่พื้น (ให้สะโพกอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย) ก้มตัวลงไปข้างหลังให้มากที่สุด

• หายใจออก และลดตัวลงมาที่เท้า เข่า มือ และอก สัมผัสพื้น

• หายใจเข้า และค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยศีรษะไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด และโค้งกระดูกสันหลังไปให้ได้มากที่สุด เหมือนท่านาคอาสนะ

• ขณะหายใจออกช้าๆ และให้แขนอาสนะ ยกสะโพกขึ้น และให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกับแขน ทำเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าช้าๆ และงอเข่าซ้าย ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือยังคงอยู่ที่พื้น วางเท้าซ้ายลงบนพื้นระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• หายใจออกช้าๆ ให้มืออยู่ที่เดิม ดึงเท้าทั้งสองเข้ามาชิดกัน ให้อยู่แนวเดียวกับมือถ้าเป็นไปได้ ให้ศีรษะสัมพันธ์กับหัวเข่า

• หายใจเข้าช้าๆ และยกแขนขึ้น ค่อยๆเอนตัวไปข้างหลัง โดยยื่นแขนขึ้นเหนือศีรษะ ย้อนกลับไปตำแหน่งยังข้อ 1



ท่าชวังคอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต ชว หมายถึง ทั้งหมด หรือ ทุกๆ อังคะ หมายถึง ร่างกาย ชวังคะ จึงหมายถึง ทำทั้งร่างกาย

ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นท่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน ท่านี้มักเรียกกันว่า ท่ายืนบนไหล่

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงายในท่า ศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้นขณะงอเข่าและดึงเข่าเข้ามาที่ท้อง หายใจออก

• หายใจเข้าช้าๆ กดฝ่ามือลง ยกลำตัวตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นจากพื้น งอกระดูกสันหลังไปข้างหลัง และทำท่อนแขนให้ตรง ให้สะโพกอยู่บนพื้น

• หายใจเข้าแล้วในขณะหายใจออก ให้ยกขาตั้งฉากกับพื้น อาจใช้มือพยุงสะโพกไว้ หรือวางแขนไว้ลงกับพื้นตามถนัด

• ขาดชิด เข่าตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น ศีรษะตรงไม่หันไปด้านใดด้านหนึ่ง เก็บคางให้ชนหน้าอก

• หายใจเข้า ออก ช้าๆ ขณะคงท่านี้ไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 6 จนกลับสู่ท่าศพอาสนะ



ท่าตรีโกณอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ตรี ในภาษาสันสกฤตหมายถึง สาม โกณ หมายถึง เหลี่ยมหรือมุม

ดังนั้น ท่านี้จึงเรียกว่า ท่าสามมุม หรือท่าสามเหลี่ยม

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิดแขนแนบลำตัว

• แยกเท้าออกจากกัน ให้ระยะห่างมากกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย

• หายใจเข้าและยื่นแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้น ฝ่ามือคว่ำลง

• หายใจออกช้าๆ หันลำตัวไปทางซ้าย งอตัวที่ช่วงเอว ให้มือขวาลงไปที่แข้งซ้าย ฝ่ามือขวา วางไว้ข้างนอกของหน้าแข้งซ้าย

แขนซ้ายควรยื่นออกไปด้านบนขาและแขนทั้งสองข้างตรง โดยไม่ต้องงอเข่าและข้อศอก


• หันศีรษะขึ้นไปทางซ้าย มองไปที่ปลายนิ้วมือซ้าย หายใจเข้า และกลับไปสู่ท่าเดิม คือท่ายืน ให้แขนกางออก

• คงท่านี้ไว้ เท่ากับช่วงหายใจออก หายใจออกและทำซ้ำ ขั้นตอนที่ 4-7 สลับซ้าย



ศีรษะอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ศีรษะ หมายถึง หัว ในภาษาสันสกฤต ท่านี้คือ ท่ายืนด้วยศีรษะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการฝึกอาสนะ ไม่แพ้ท่าปทมอาสนะ

ด้านบนคือภาพโมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพโยคีขณะทำท่าศีรษะอาสนะ

วิธีปฏิบัติ


• นั่งคุกเข่า ให้สะโพกอยู่บนส้นเท้า

• เอนตัวไปข้างหน้า วางแขนลงบนพื้น ให้ศอกห่างกัน 1 ช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน

• วางศีรษะลงบนพื้น ให้ท้ายทอยสัมผัสมือที่ประสานไว้

• ให้ปลายเท้าจิกพื้น ขณะยกส้นเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น

• คงท่านี้ไว้เป็นระยะเท่ากับการหายใจเข้า ถ้าไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ให้ค่อยๆ หายใจออก และนอนราบกับพื้น กางขาออก กลับไปสู่ท่าศพอาสนะ



หลอาสนะ



ความหมาย

• หล แปลว่า คันไถ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย แบบท่าศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำที่พื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้น งอเข่าเข้ามาจรดท้องขณะหายใจออก

• หายใจเข้า ขณะหายใจออกให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับพื้น คุณอาจใช้มือพยุงสะโพก หรือวางแขนราบไปกับพื้นแล้วแต่ถนัด

• หายใจออก แล้วยกขาขึ้นเหนือศีรษะ งอขาตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ยกหลังและสะโพก จนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นด้านหลังของศีรษะ รักษาเท้าให้ชิดกัน

หากใช้มือพยุงหลังให้ลองวางแขนราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง ถ้าไม่สามารถวางแขนลงที่พื้นได้ให้ใช้มือพยุงหลังส่วนล่างไว้


• เข่าตรง หายใจช้าๆ และคงท่านี้ไว้สักครู่ ถ้านิ้วเท้าสัมผัสพื้นไม่ได้ ก็พยายามให้นิ้วเท้าอยู่ต่ำที่สุด

• ทำท่าย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 5 ถึง 1 จนกลับไปสู่ท่าศพอาสนะเหมือนเดิม




ธนูอาสนะ




ความหมาย

• คำว่าธนู ในภาษสันสกฤต หมายถึง มีรูปร่างเหมือนคันศร โค้ง หรือ งอ คันศร

ในที่นี้หมายถึง คันศรที่ใช้กับลูกธนู ท่าอาสนะนี้ มีชื่อแบบนี้เนื่องจาก ร่างกายมีท่าทางคล้ายคันศรที่โก่งพร้อมยิงธนู

วิธีปฏิบัติ


• นอนคว่ำหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนราบไปกับลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น

• หันหน้ามาเพื่อวางคางไว้บนพื้น หายใจออก งอเข่า เอื้อมแขนไปข้างหลัง จับข้อเท้าขวาไว้ด้วยมือขวา จับข้อเท้าซ้ายด้วยมือซ้าย

• ขณะหายใจเข้า ค่อยๆ ยกขาขึ้นโดยดึงข้อเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น และยกอกขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน

กลั้นลมหายใจเข้าเอาไว้ ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนหน้าท้อง


• ยื่นศีรษะให้ไกลที่สุด คงท่านี้ไว้ขณะกลั้นหายใจ

• หายใจออกช้าๆ วางเข่าลงบนพื้น ปล่อยข้อเท้า ค่อยๆ วางขาและแขนลงบนพื้น หันหน้าไปข้างหนึ่ง ทำเหมือนท่าเริ่มต้น



ท่าพิจิกอาสนะ



ความหมาย

• ท่าพิจิกหรือท่าแมงป่อง ในท่านี้ ร่างกายจะดูเหมือนแมลงป่อง ที่ยกหางโค้งขึ้นเหนือหัว พร้อมจะต่อยคู่ต่อสู้

แม้ท่านี้จะดูยากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

วิธีปฏิบัติ


• คุกเข่าลงที่พื้น โน้มตัวไปข้างหน้า วางศอกและแขนด้านในราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง แขนควรห่างกันประมาณ 1ช่วงไหล่

• ยื่นศีรษะไปข้างหน้าและยกให้สูงที่สุด

• ยกสะโพกขึ้น วางเท้าให้มั่นคง

• หายใจเข้าและแกว่งขาขึ้นไปเหนือศีรษะ รักษาสมดุลของร่างกายไว้ ยกขาตรงขึ้นเหนือศีรษะ

• ค่อยๆ งอเข่าและปล่อยขาลงมาทางด้านศีรษะ ระวังอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และอย่าทิ้งขาลงไปไกลเกินไปขณะรักษาสมดุลของร่างกายไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 5 จนกลับไปสู่ท่าคุกเข่า

* ข้อควรระวัง ไม่ควรลองท่าแมงป่อง จนกว่าคุณจะสามารถทำท่าที่ต้องใช้สมดุลของร่างกายอื่นๆ และไม่เหมาะกับสตรีมีรอบเดือน



ท่าพฤกษอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต พฤกษะหมายถึง ต้นไม้ ท่านี้จึงเรียกว่าท่าต้นไม้

"ยืนตรงบนขาซ้าย งอขาขวาและวางขาขวาไว้บนโคนขาซ้าย ยืนเหมือนต้นไม้ ยืนอยู่บนพื้นดิน นี่คือท่าพฤกษอาสนะ"

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิด แขนแนบลำตัว

• งอเข่าขวา ยกต้นขาขวา และยก ส้นเท้าขวาไปบนต้นขาซ้ายด้าน ในให้โกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้

• ทรงตัว บนเท้าซ้าย ยกแขนทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ และให้ฝ่ามือประชิดกัน

คงท่านี้ไว้ขณะค่อยๆ หายใจ ประมาณ 10 ช่วงหายใจเข้าออก


• ลดแขนและขาขวาลง และกลับไปสู่ตำแหน่งในข้อ 1 คือการยืนหน้าชิด แขนแนบลำตัว หยุดพักสักครู่ และทำซ้ำด้วยขาข้างหนึ่ง



ศพอาสนะ



ความหมาย

• ความหมาย คำว่า ศพ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ร่างที่ตายไปแล้ว

"การนอนลงที่พื้นเหมือนศพ เรียกว่า ศพอาสนะ ช่วยกำจัดความเหนื่อยล้าและให้จิตใจได้พักผ่อน" จากหัตถโยคะปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย อย่าให้ขาแตะกัน แขนราบไปกับลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น

• หลับตาลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

• งอข้อศอก วางฝ่ามือบนพื้นใต้ไหล่ ให้นิ้วชี้ไปด้านหลัง

• มุ่งความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย จากหัวถึงเท้า แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน

• คงท่านี้ไว้ 10-15 นาที หากรู้สึกง่วงนอนขณะทำท่านี้ ให้หายใจเร็วและลึกขึ้น

• ครั้งแรกที่ฝึก ให้คงท่าศพอาสนะไว้ 10 หรือ 15 นาที กลับมาทำซ้ำเป็นระยะๆ ในช่วงฝึกท่าต่างๆ เพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นร่างกาย / จิตใจ

คำแนะนำ

บางคนคิดว่าท่านี้ง่ายมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จุดประสงค์ของศพอาสนะ คือ ให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นอกจากร่างกายจะต้องนิ่งและผ่อนคลายแล้ว จิตใจยังต้องนิ่งราวกับผิวน้ำที่ปราศจากการรบกวนอีกด้วย

ผลที่ได้คือการผ่อนคลายอย่างล้ำลึกและนิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิต่อไป

การฝึกศพอาสนะนั้นต้องใช้เวลา การกำหนดความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนและ กำหนดลมหายใจล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการฝึกท่านี้อย่างยิ่ง

อุปสรรค 2 อย่างที่อาจลดคุณค่าการฝึกศพอาสนะ ก็คือ ความง่วงและจิตใจที่ฟุ้งซ่าน หากรู้สึกง่วงขณะฝึก ให้กำหนดลมหายใจให้ลึกขึ้น

หากจิตใจไม่นิ่ง ให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กำหนดจิตไปที่พื้นหรือที่จังหวะลมหายใจของคุณเอง

การฝึกศพอาสนะควรทำก่อนและหลังการฝึกอาสนะเป็นประจำ


ข้อมูลจาก
Practice 01





------------------------------------------------------------------------------

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons